ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ EECi และเยี่ยมชมสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) รวมถึงเยี่ยมชมสวนทุเรียนบัวแก้ว ใน อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมด้วยการนำเทคโนโลยี IoT มาพัฒนาเป็น “ระบบติดตามสภาวะแวดล้อมและให้น้ำทุเรียน”
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจความคืบหน้าก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ EECi และเยี่ยมชมในครั้งนี้ว่า จากการลงพื้นที่พบว่า EECi มีความคืบหน้าในการก่อสร้างเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้แล้วกว่าร้อยละ 40 โดยคาดว่าเมืองนวัตกรรม EECi จะพร้อมเปิดดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2564 รวมถึงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์สำคัญที่สามารถรองรับการทำวิจัยขยายผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของ EECi เช่น โรงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรี โรงเรือนฟีโนมิกส์ ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน นอกเหนือจากการหาพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศจากหน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา/สถาบันวิจัย กว่า 70 รายแล้ว EECi ยังดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปส่งเสริมและสนับสนุนภาคการเกษตร ภาคการศึกษา และวิสาหกิจชุมชนบนพื้นที่ EEC (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง)
“อว.พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมของ EECi อย่างเต็มกำลัง เนื่องจาก EECi เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้าน วทน.ที่สำคัญของคนไทย ที่จะช่วยพลิกโฉมการทำนวัตกรรมของประเทศสู่เชิงพาณิชย์อย่างแท้จริง ช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิม รวมถึงสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ ทั้งในพื้นที่ EEC และในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ อันจะนำไปสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม ควบคู่กับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว.กล่าว
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กำกับดูแลเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor of Innovation (EECi) กล่าวว่า EECi จะเป็นเมืองนวัตกรรมแห่งใหม่ของ จ.ระยอง และของประเทศบนพื้นที่ EEC เป็นแหล่งพัฒนางานวิจัยขยายผล (Translational Research) และเป็นแหล่งปรับแปลงเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ (Technology Localization) ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อปิดช่องว่างทางเทคโนโลยีของไทย รวมทั้งการพัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพของไทยที่มีอย่างหลากหลายออกสู่ตลาดโลก ที่ด้านหนึ่งมีขีดความสามารถสร้างผลงานแล้วในระดับห้องปฏิบัติการ แต่ผลงานที่ได้ส่วนใหญ่ยังส่งไม่ถึงผู้ใช้ประโยชน์ เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ได้ลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานและกลไกขยายผลงานวิจัย และอีกด้านหนึ่งไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศได้มากนัก เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่จะรองรับการปรับแปลงเทคโนโลยีให้เข้ากับบริบทของไทย
ด้าน ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. โดยสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้นำเทคโนโลยีในรูปแบบ Internet of Thing (IoT) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการแปลงเกษตรภายในพื้นที่ EECi เพื่อให้เกิดการพัฒนาความสามารถและกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรและชุมชน โดยเน้นการทำเกษตรแบบแม่นยำ ควบคุมสภาวะแวดล้อมการผลิตและเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้แก่ เทคโนโลยีโรงเรือนเพาะปลูกและการบริหารจัดการครบวงจร เพื่อการจัดการการปลูกพืชผักครบวงจรตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูกในโรงเรือน การผลิตสารชีวภาพเพื่อควบคุมโรคพืชและแมลงศัตรูพืชผัก ระบบการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัยได้มาตรฐาน เทคโนโลยีโรงเรือนอัจฉริยะพร้อมระบบติดตามและควบคุม เพื่อสาธิตและถ่ายทอดการปลูกพืชมูลค่าสูงเพื่อส่งต่อภาคอุตสาหกรรมแปรรูป
สำหรับการจัดการแปลงเพาะปลูกและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ เทคโนโลยีระบบการให้น้ำตามสภาวะความต้องการของพืชในระบบแปลงเปิด เพื่อการประยุกต์ใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำในสวนทุเรียน สวนมังคุด ให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกษตรกร 29 ชุมชน รวมถึงเกษตรกรแกนนำ และ Young Smart Farmer รวม 29 ราย และร่วมพัฒนาศูนย์เรียนรู้เพื่อการขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับภาคเอกชนและภาคการศึกษา 3 แห่ง
นอกจากนี้ สวทช.ยังได้จัดกิจกรรมเตรียมพร้อมรองรับอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ได้แก่ ระบบเกษตรแม่นยำฟาร์มอัจฉริยะ (Handy Sense) ติดตั้งในฟาร์มเกษตรกรรวม 34 แห่ง ระบบติดตามแจ้งเตือนสภาพทั้งกายภาพ เคมี และชีวภาพ พร้อมระบบเฝ้าระวังและติดตามการระบาดของโรคสำหรับประมงอัจฉริยะ (Aqua IoT) ขยายผลการใช้งานในฟาร์มของผู้ประกอบการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ (กุ้ง ปลา) รวม 15 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบบ่อไร้ดินสำหรับเลี้ยงกุ้งแนวใหม่ที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำ มีระบบหมุนวนน้ำ เติมออกซิเจน ประสิทธิภาพสูง ต้นทุนต่ำ เป็นแหล่งข้อมูลการควบคุมสภาพแวดล้อมและการจัดการอาหารตลอดระยะเวลาการเลี้ยงกุ้ง เพื่อการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอีก 1 ต้นแบบ เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตภาคเกษตรกรในพื้นที่ EEC ให้เทียบเท่ากลุ่มการบริการและภาคอุตสาหกรรม
* * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manage