กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ร่วมภาคเอกชน กลุ่มศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ดันสินค้าโอทอปภูมิปัญญาไทยขึ้นห้างใหญ่กลางใจเมือง หวังช่วยชุมชนผลักดันการสร้างงาน สร้างรายได้ ฝ่าวิกฤตโควิด – 19 พร้อมหารือกลุ่มสยามพิวรรธน์ สุขสยาม และ กลุ่มเซ็นทรัล ถึงความร่วมมือในการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการ ยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และช่องทางการตลาด เพื่อการพัฒนาสินค้าโอทอปที่มีมาตรฐานตอบโจทย์ผู้ซื้อก้าวสู่ตลาดสากล
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า จากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ภายในประเทศไทยที่สามารถควบคุมได้เป็นอย่างดี ล่าสุดมีการผ่อนคลายมาตรการ จนสามารถขับเคลื่อนกิจกรรมต่างๆในประเทศได้เกือบปกติ ทาง พช. เล็งเห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมกิจกรรมการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการโอทอป เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการกลับมามีรายได้จากการสร้างอาชีพได้เหมือนเดิม ซึ่งการจะเดินหน้าให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชนที่จะเป็นแรงสนับสนุน
โดยครั้งนี้ พช. ได้รับความร่วมมือจาก กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ และกลุ่มเซ็นทรัล เปิดพื้นที่ศูนย์การค้าทำเลทอง ใจกลางเมือง นำสินค้าโอทอป เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโอทอปให้มีช่องทางการจำหน่ายสินค้า และขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียมมากขึ้น โดยทาง พช. ได้ขับเคลื่อน OTOP มาตั้งแต่ ปี 2544 จนปัจจุบันตั้งแต่การส่งเสริมและยกระดับกระบวนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ให้ได้มาตรฐาน รวมไปถึงการตลาดที่ต้องให้เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว และสร้างความเข้มแข็งของชุมชนไปพร้อมๆ กัน
นอกจากนี้ยังได้ปรับแนวคิดการขายสินค้าในรูปแบบการตลาดออนไลน์ ทั้ง www.otoptoday.com และ Face book : OTOP TODAY ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนซึ่งเป็นฐานรากของประเทศ นอกจากนี้ พช.ได้ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการสำนึกในพระราชปณิธานในเรื่องการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย
ซึ่งปี 2563 นี้ ทาง พช.ได้จัดงานศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี 2020 ขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี จึงฝากให้คนไทยช่วยกันสนับสนุนสินค้าของคนไทยเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชนส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนเศรษฐกิจภายในประเทศไทย
กรมการพัฒนาชุมชน ยังมุ่งยกระดับสินค้าโอทอปให้สามารถตอบความสนองความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศได้ เพื่อช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนมองหาแนวทางให้ผู้ประกอบการยกระดับ สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าโอทอปได้อย่างต่อเนื่อง จึงวางแนวทางดำเนินการขับเคลื่อน 3 แนวทาง คือ 1. การเพิ่มศักยภาพผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP 2. การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม และ 3. การส่งเสริมช่องทางการตลาด ดังนั้น ความร่วมมือกันระหว่าง พช. และภาคเอกชนในครั้งนี้ จึงรวมไปถึงด้านอื่น ๆ นอกการจัดจำหน่ายร่วมด้วย โดยอาจมีการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ในการให้คำแนะนำด้านการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้มีดีไซน์สร้างสรรค์ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายระดับพรีเมียม เพื่อยกระดับสินค้าโอทอป และเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการมากขึ้นอย่างยั่งยืน
ด้าน นางวิไลวรรณ ไกรโสดา รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน ได้กล่าวว่า ทางกรมการพัฒนาชุมชน ได้ร่วมมือกับ สภาสตรีแห่งชาติฯ จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ ในแผ่นดิน” เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่ปรากฏเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และชาวโลกได้ชื่นชม เป็นการเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้คงอยู่ คู่แผ่นดิน ตลอดจนเพื่อสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ลดความเหลื่อมล้ำกระจายรายได้สู่ชุมชน
โดยการนำผลิตภัณฑ์ผ้าของผู้ประกอบการโอทอปไปจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ในกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ และเพื่อตอบสนองกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้นในการต่อยอดหรือประยุกต์สินค้าให้ใช้ประโยชน์และตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้นแต่ยังคงเอกลักษณ์ความงดงามของผ้าไทยไว้ไม่ให้สูญหายไป และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมาเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้มีการสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยเป็นนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมให้ข้าราชการ ประชาชน แต่งกายด้วยผ้าไทยตามความเหมาะสมของท้องถิ่นเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน และขอเชิญผู้ที่ชื่นชอบผ้าไทยมาเลือกชมชมและเลือกซื้อผ้าที่ชนะเลิศสวยๆ คุณภาพดีจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และชมการจัดแสดงผ้าสืบสานอนุรักษ์ศิลป์ ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน ผ้าที่ชนะการประกวด ผ้าอัตลักษณ์ ผ้าชนเผ่า ผ้าที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นเครื่อง , Young OTOP , ผ้าทออีสาน ไทยดีไซน์เนอร์ เป็นต้น
นางชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ เจ้าของและผู้บริหาร ศูนย์การค้าสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และเป็นหนึ่งในพันธมิตรเจ้าของโครงการไอคอนสยาม กล่าวว่า สยามพิวรรธน์ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นธุรกิจที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับคนจำนวนมาก ทำงานเพื่อพัฒนาคน และกระจายประโยชน์สู่ท้องถิ่นทั่วไทย เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจ (business model) ที่สยามพิวรรธน์ทำเป็นประจำมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ภายใต้กลยุทธ์ “ร่วมกันรังสรรค์ (Co-creation) และการสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Values)” โดยสยามพิวรรธน์ได้ริเริ่มหลายโครงการสำคัญเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยสินค้าโอทอปที่ครบวงจร อาทิ สุขสยาม ที่ได้ทำงานร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนในการช่วยส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และทำให้เป็นเวทีที่สร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยระดับท้องถิ่นจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย ด้วยการคัดสรรของดีประจำท้องถิ่น ไปจนถึงการช่วยพัฒนาที่ครบวงจรตั้งแต่ให้ความรู้เรื่องการทำธุรกิจและการตลาด จับมือกับธนาคารเข้ามาให้ความรู้เรื่องการบริหารการเงิน การออมเงินและการลงทุนที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าเหล่านั้นสามารถเจาะตลาดนานาชาติได้และอยู่ได้อย่างยั่งยืน ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT) พื้นที่ที่รวบรวมชิ้นงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ร่วมสมัยจากช่างฝีมือไทย ดีไซเนอร์ และผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุด
ซึ่งล่าสุดมีแผนที่จะทำงานร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชนในการคัดเลือกชิ้นงานจากช่างงานฝีมือและองค์ความรู้จากอดีต เพื่อนำมาพัฒนารูปแบบ สร้างแบรนด์ ต่อยอดให้เกิดเป็นงานสมัยใหม่ ให้ความรู้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ผลักดันให้ Local Hero เติบโตไปสู่การเป็น Global Hero ต่อยอดสู่การค้าขายในเวทีโลก นอกจากนี้ เรายังให้การสนับสนุนผู้ประกอบการโอทอป "OTOP TO THE TOWN โอทอป ภูมิปัญญาไทย ใจกลางเมือง ช่วยคนไทยหลังฝ่าภัยโควิด" ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการนำสินค้าโอทอปภูมิปัญญาไทย มาต่อยอด เพิ่มช่องทางสร้างรายได้ ภายในศูนย์การค้าสยามพารากอน และในโครงการสุขสยาม อีกด้วย
นางลักขณา นะวิโรจน์ ประธานโครงการสุขสยาม กล่าวว่า สุขสยาม เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นที่จะยกระดับผลิตภัณฑ์ และผลงานสร้างสรรค์จากภูมิปัญญาไทย งานศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีและวิถีชีวิตดั้งเดิมของแท้จาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ให้เป็นที่รู้จักบนเวทีโลก ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการ สุขสยามได้ทำงานร่วมกับกรมการพัฒนาชุมชน ในการคัดเลือกผลิตภัณฑ์จาก ศิลปิน ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ชื่อว่าเป็น Local Heroes ไม่ว่าจะอาหาร สินค้าหัตถกรรม งานศิลปะ มาพัฒนาต่อยอด ช่วยเหลือและส่งเสริมด้านต่างๆ ทั้ง การตลาด โมเดิร์นเทรด (modern trade) และการเงิน ให้กับผู้ประกอบการ ผลักดันให้ธุรกิจประสบความสำเร็จจนได้มีโอกาสไปทำธุรกิจในต่างประเทศ มีรายได้ที่ดีขึ้นมากและมีเงินทุนที่จะพัฒนาธุรกิจต่อไป ลูกหลานยินดีที่จะมาต่อยอดเพื่อสืบสานกิจการของครอบครัวเพราะได้เห็นโอกาสและความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงในสุขสยาม และล่าสุดในปีที่ผ่านมา เรายังได้ร่วมกันจัดการประกวด SOOKSIAM LOCAL HERO 2019 เพื่อยกระดับและผลักดันผลิตภัณฑ์สุดสร้างสรรค์จากพื้นถิ่นสู่สากล พร้อมส่งผู้ประกอบการไทยให้พัฒนาขีดความสามารถ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ทางด้าน
นางสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ได้กล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล ขับเคลื่อนโครงการเซ็นทรัลทำ “ทำด้วยกัน ทำด้วยใจ” (Better Together) โครงการภายใต้แนวคิด เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างชุมชน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่สังคมอย่างยั่งยืน โดยมุ่งหวังการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ตามข้อมูลการพัฒนาชุมชน ณ เดือนกันยายน 2562 "เซ็นทรัล ทำ" สร้างรายได้ให้ชุมชน 1,050 ล้านบาท จาก 4,700 ผลิตภัณฑ์ ชุมชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้นถึง 13,596 ครัวเรือน 700 ชุมชน 49 จังหวัด นอกจากนั้นยังขานรับนโยบายรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 เดินหน้าผนึกกำลังกับภาครัฐ ประกอบด้วย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงภาคีเครือข่าย อาทิ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จัดโครงการ “ตลาดรวมใจ ไทยช่วยไทย” รวมสินค้าดีจากใจคนไทย มุ่งมั่นนำความเชี่ยวชาญของกลุ่มธุรกิจมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก สนับสนุนพื้นที่จำหน่ายสินค้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวม 88,000 ตร.ม. ใน 106 ศูนย์การค้า ใน 44 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์มาร์เก็ตในเครือกลุ่มเซ็นทรัล (JD Central / Central Online / Robinson Online / Tops Online) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งให้ได้มากที่สุด ตามแผน Rebuild Thailand Rebuild Economy เชื่อมโยง “ต้นทาง...สู่...ปลายทาง” ถึงมือผู้บริโภค สร้างงาน กระจายรายได้ ยกระดับสินค้าชุมชนไทย จากโครงการ “ตลาดรวมใจ ไทยช่วยไทย” ในปัจจุบันมีการรับซื้อสินค้าผลผลิตจากเกษตรกรและชุมชน 1,500 ล้านบาท จาก 42 จังหวัด สร้างรายได้ถึง 30,000 ครัวเรือ
สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนประชาชนทุกภาคส่วนที่ชื่นชอบผลิตภัณฑ์จากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และผลิตภัณฑ์ โอทอป โดยเฉพาะผ้าไทย มาชม ชิม ช้อป และภาคภูมิใจกับผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ผู้ผลิตผู้ประกอบการ ตระการตากับผ้าอัตลักษณ์ ผ้าชนะการประกวด พร้อมชมแฟชั่นโชว์ผ้าไทย เลือกซื้อผลิตภัณฑ์หัตถศิลป์อันทรงคุณค่า ฝีมือสุดประณีตจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ และสุดยอดผลิตภัณฑ์โอทอป ทั่วไทยในงาน ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP ก้าวไกลด้วยพระบารมี ปี 2563 ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน รังสรรค์งานศิลปาชีพ ความภาคภูมิใจแห่งแผ่นดิน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 16 สิงหาคม 2563 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 10.00 – 21.00 น.
****************************************************************************
*
* *คลิกLikeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"
รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!
* * *
SMEs manager