xs
xsm
sm
md
lg

NEA แนะนำ 7 แพลตฟอร์มส่งออกสำหรับ "สินค้าเกษตร" ตอบโจทย์ยุค E - Commerce

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พูดได้ว่าการค้าการขายในยุคปัจจุบัน การค้าขายออนไลน์ได้มีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการทำการตลาดในรูปแบบเดิมๆ อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป โดยเฉพาะ "สินค้าทางการเกษตร" ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องพึ่งพาลมฟ้าอากาศ และเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทย และประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมยังมีมากถึง 10 ล้านคน อีกทั้งในประเทศอื่นๆ ก็ต่างพัฒนาวิธีการปลูกและพัฒนาผลผลิตในด้านการเกษตร จึงทำให้มีการแข่งขันที่สูงขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบการในด้านนี้จึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และช่องทางการขาย เพื่อรับมือกับเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนไป

ด้วยเหตุนี้ ทางสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) จึงได้จัด “โครงการสัมมนาหลักสูตร Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก” เพื่อให้ความรู้และเทคนิคการขายแก่เกษตรกรรุ่นใหม่ ให้สามารถจำหน่ายสินค้าการเกษตรบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และการกระจายสินค้าไปยังต่างประเทศได้ด้วยตัวเอง ผ่าน 7 แพลตฟอร์ม พร้อมชี้ให้เห็นจุดเด่น ตลอดจนเคล็ดลับการใช้งาน ที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการยกระดับให้ทุกคนเป็น Smart Farmer Online ได้ไม่ยาก


7 แพลตฟอร์มส่งออกสำหรับ "สินค้าเกษตร" เพื่อตอบโจทย์ยุค E - Commerce มีดังนี้

1. Thailandpostmart แพลตฟอร์มสัญชาติไทยรูปแบบ E-Marketplace หรือร้านออนไลน์ที่รวบรวมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าทางการเกษตร สินค้าชุมชน และสินค้า OTOP ที่สามารถลงขายสินค้าได้ฟรี ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคลหรือสหกรณ์ก็สมัครเป็นร้านค้าบน Thailandpostmart ได้ ซึ่งมีบริการที่น่าสนใจอย่างการช่วยตั้งราคาขายเพียงแค่แจ้งต้นทุนมา ระบบจะคำนวณหาราคาที่เหมาะในการขาย โดยกำหนดให้ได้กำไรไม่ต่ำกว่า 15% หลังหักค่าใช้จ่าย เมื่อผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าและชำระเงินแล้ว ระบบจะส่งคำสั่งซื้อมายังร้านค้า และทางไปรษณีย์จะมารับของด้วยตัวเอง เพื่อจัดส่งให้ผู้บริโภคภายใน 1-2 วัน นอกจากจะสะดวกสบายแล้วยังมีค่าจัดส่งที่ถูกกว่าการไปส่งเองอีกด้วย รวมถึงมีจุดเด่นตรงช่องทางการจำหน่ายที่มีอย่างหลากหลาย ทั้งรูปแบบออนไลน์ที่เปิดให้สั่งสินค้าผ่านเว็บไซต์ Thailandpostmart.com และแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนทั้งระบบ Android และ iOS อีกทั้งยังมีช่องทางออฟไลน์ที่เปิดให้วางขายผลิตภัณฑ์ในที่ทำการไปรษณีย์ทุกสาขาทั่วประเทศอีกด้วย


2. JatujakMall แพลตฟอร์ม e-Commerce ที่เป็นเสมือนการยกตลาด "จตุจักร" มาอยู่ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อกระจายสินค้าทั่วไทยและส่งออกไปทั่วโลก ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกด้วยบริการจัดทำข้อมูล ถ่ายภาพและวิดีโอ เพื่อโปรโมตสินค้า พร้อมบริการ Customer Service ตลอด 24 ชั่วโมง และตรวจเช็กสินค้าก่อนการจัดส่ง รวมถึงช่วยโปรโมตสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีการเก็บ Database ที่เป็นข้อมูลของผู้บริโภคมาวิเคราะห์พฤติกรรมในการซื้อสินค้า เพื่อนำมาใช้โปรโมตสินค้าให้ผู้บริโภคกลับมาซื้อสินค้าซ้ำ รวมถึงหากลุ่มผู้บริโภคใหม่ๆ นอกจากจะลงขายสินค้าบนเว็บไซต์ของ Jatujakmall แล้ว ยังมีบริการนำสินค้าไปลงจำหน่ายบนแพลตฟอร์มอื่นๆ ทั้ง Amazon , eBay , Lazada เป็นต้น


3. The Hub Thailand แพลตฟอร์มของคนไทยเพื่อคนไทย ที่มีการเปิดให้จำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สินค้าความงาม สินค้าแฟชั่น อาหารแปรรูป ไปจนถึงสินค้าทางการเกษตรอย่างผัก ผลไม้ เป็นต้น อีกทั้งยังมีบริการจำหน่ายสินค้าราคาส่งไปยังผู้ประกอบการในต่างประเทศที่สนใจนำเข้าสินค้าของไทยไปจำหน่ายในประเทศอื่นๆ ได้อีกด้วย จึงเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถจำหน่ายสินค้าทั้งปลีกและส่งได้ในตัว สามารถเปิดร้านบน The Hub Thailand ได้ฟรี มีบริการถ่ายรูปสินค้าให้ พร้อมทำการตลาดออนไลน์ด้วยแคมเปญต่างๆ เพื่อดึงดูดผู้บริโภค อย่างการมีคูปองส่วนลด และสร้าง Keyword หรือคำค้นหาใน Google เพื่อให้ค้นเจอสินค้าได้ง่ายมากขึ้น ไปจนถึงมีบริการขนส่งสินค้าที่รวดเร็ว โดยเฉพาะเกษตรกรในกรุงเทพฯ มีบริการเข้าไปรับสินค้าและนำส่งถึงมือผู้บริโภคภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมงเท่านั้น


4. Shopee แพลตฟอร์ม e-Commerce สุดฮิตที่เกษตรกรก็สามารถหยิบมาใช้เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าได้ ด้วยจุดแข็งที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงมีช่องทางการตลาดที่หลากหลายทั้งการโปรโมตแพลตฟอร์มในสื่อออนไลน์และสื่อออฟไลน์ มีการใช้พรีเซนเตอร์ ทำแคมเปญในวันพิเศษ แจกคูปองส่วนลดค่าสินค้า และมอบส่วนลดค่าจัดส่งให้กับผู้บริโภคและร้านค้าอยู่เสมอ ทำให้ไม่ต้องเหนื่อยทำการตลาดด้วยตัวเอง รวมถึง Shopee ได้เข้ามาอำนวยความสะดวกช่วยจัดการสต็อกสินค้าให้ง่ายขึ้น เพียงใส่จำนวนสินค้าลงในระบบ หากมีการจำหน่ายสินค้าออกไป ทางระบบก็จะตัดสต็อกให้ทันที นอกจากนี้ยังช่วยเรื่องการชำระเงินและการขนส่ง โดยสามารถเปิดร้านจำหน่ายสินค้าได้ฟรี มีการใช้งานที่ง่าย และมีบริการให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาต่างๆ อีกด้วย


5. Lazada อีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 6 ประเทศ คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม เหมาะสำหรับ Smart Farmer ที่ต้องการตีตลาดในแถบเอเชีย โดย Lazada มีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาตลอดและมีคอร์สให้ความรู้เรื่อง e-Commerce ฟรี ซึ่งมีฟีเจอร์ที่น่าสนใจอย่างการให้ร้านค้าไลฟ์สดขายสินค้าได้ฟรี โดย Lazada มีแคมเปญช่วยกระตุ้นยอดขายอยู่เสมอทั้งการจัดโปรโมชันในวันพิเศษ การมอบส่วนลดสินค้าให้ผู้บริโภค พร้อมมีบริการเสริม เช่น ออกแบบโลโก้ ถ่ายรูปสินค้า ทำแบนเนอร์หน้าร้าน เป็นต้น โดยร้านค้าจะไม่เสียค่าคอมมิชชัน แต่มีค่าธรรมเนียม 2% เมื่อจำหน่ายสินค้าได้และเสียค่าจัดส่งตามน้ำหนักสินค้าและประเภทการจัดส่ง


6. CloudMall แพลตฟอร์มสำหรับ Smart Farmer ที่สนใจก้าวสู่ตลาด Marketplace หรือคลังสินค้าบนโลกออนไลน์ที่มีเว็บไซต์เป็นสื่อกลางเพื่อจำหน่ายและส่งออกไปยังต่างประเทศ โดย Cloudmall มีบริการตั้งแต่ช่วยถ่ายรูปสินค้า เขียน Content ให้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ช่วยทำการตลาดด้วยการมี Influencer ไลฟ์สดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม และยังนำสินค้าไปช่วยโปรโมตโพสต์ขายลงแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Amazon eBay Etsy เป็นต้น ซึ่งสามารถสมัครเพื่อเปิดร้านจำหน่ายสินค้าได้ฟรีและตั้งราคาขายได้อย่างอิสระ โดยทางแพลตฟอร์มจะบวกค่าบริการต่างๆ เพิ่มเข้าไปจากราคาที่ต้องการขาย เมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามาทาง Cloudmall จะไปรับสินค้าเพื่อจัดส่งให้ เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่ครบวงจรเลยทีเดียว


7. eBay แพลตฟอร์มขายปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกอย่าง eBay ขึ้นชื่อเรื่องมีสินค้าอย่างหลากหลาย ไม่เว้นแม้กระทั่งสินค้าแปรรูปทางการเกษตร เช่น ชา สมุนไพร เมล็ดกาแฟ เป็นต้น แต่ไม่เปิดให้จำหน่ายสินค้าสดที่ยังไม่ผ่านการแปรรูปอย่างผักหรือผลไม้สด โดยการเปิดร้านใน eBay จะไม่เสียค่าธรรมเนียมสำหรับสินค้าใน 50 ชิ้นแรกที่จำหน่ายได้ต่อเดือน หากจำหน่ายสินค้าได้มากกว่า 50 ชิ้นจะเสียค่าธรรมเนียม 10% ซึ่งมีจุดเด่นที่สามารถกำหนดราคาขายแบบคงที่หรือเปิดให้ประมูลราคาสินค้าได้ โดยเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยดึงดูดผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การทำการตลาดด้วย Keyword หรือคำที่ใช้ในการค้นหาสินค้าผ่าน Search Engine ใน Google และมีการจัดประเภทของสินค้าอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้บริโภคค้นหาสินค้าเจอได้ง่ายมากขึ้น และเพิ่มน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคด้วยฟีเจอร์ที่เปิดให้ Feedback ความพึงพอใจต่อร้านค้า ยิ่งถ้ามี Feedback ในทางที่ดีก็ย่อมทำให้ร้านของคุณดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก : สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) - หลักสูตร Smart Farmer ออนไลน์สู่ตลาดโลก by NEA

**********************************************************************************************************

** * คลิก Likeเพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า“SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!* * *

SMEsmanager





กำลังโหลดความคิดเห็น