xs
xsm
sm
md
lg

วช. เยี่ยมชมศูนย์ซ่อม Bird Ventilator, Negative pressure room และ AGV นวัตกรรม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 บริษัทสยามคูโบต้า ร่วมกับ กลุ่มโตโยต้า และเอสซีจี ได้สนับสนุนนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ที่ประสงค์ให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และผลิตเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วน โดยศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาของอุปกรณ์การแพทย์ ทำให้พบว่า ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในขั้นวิกฤติ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบรุนแรง และกระทบต่อระบบการหายใจ จนอาจถึงแก่ชีวิต จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประสิทธิภาพสูงเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี จากการสำรวจจำนวนเครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลทั่วประเทศ พบว่า เครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยขั้นต้น Bird Ventilator รุ่น Mark 7 ประมาณร้อยละ 10 หรือ 200 เครื่อง จากประมาณ 1,400 เครื่องที่มีอยู่ทั่วประเทศ ไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นรุ่นที่ผลิตสำหรับการใช้งานในโรงพยาบาลมาเป็นระยะเวลานานแล้ว ทำให้จำเป็นต้องนำเครื่องช่วยหายใจชนิดประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตมาใช้แทน จึงเกิดปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยโควิด-19 ขั้นวิกฤติที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น รวมถึงผู้ป่วยขั้นวิกฤติอื่น ๆ ด้วย




จากเหตุผลดังกล่าว จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องช่วยหายใจ Bird Ventilator รุ่นดังกล่าวขึ้น ณ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้บริการซ่อมแซม การจัดหาอุปกรณ์ในการซ่อม และการจัดหาแหล่งชิ้นส่วนอะไหล่ที่จำเป็น ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ โดยมีนายไพฑูรย์ อ่อนเอื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องช่วยหายใจ ที่ได้รับการรับรองการฝึกอบรมจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยหายใจ Bird Ventilator โดยตรง เป็นที่ปรึกษาตลอดโครงการ และควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด ร่วมกับทีมช่างคูโบต้าเฉพาะกิจที่ผ่านการฝึกฝนจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้ ขั้นตอนการทำงานของศูนย์ฯ ยังคงเน้นย้ำความปลอดภัยและสุขอนามัยในการปฏิบัติงาน โดยกำหนดให้พนักงานสวมใส่ชุด PPE และหน้ากากอนามัย พร้อมทั้งปฏิบัติตามนโยบาย Social Distancing ของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด


ในส่วนของการซ่อมแซมฟังก์ชั่นการทำงานที่ช่วยควบคุมการผสมออกซิเจน และการตรวจสอบคุณภาพ ยังมีผู้ให้บริการด้านการแพทย์โดยตรง คือ บริษัท ไฮโซเทค อินสตูรเมนท์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งมีอาจารย์ประเสริฐ เสริมสุข ผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Biological และได้รับ ISO 17025 ด้านการสอบเทียบเครื่องมือการแพทย์ เป็นผู้รับรองคุณภาพ ทำให้มั่นใจได้ว่าเครื่องช่วยหายใจที่ได้รับการซ่อมแซมแล้วจะได้มาตรฐานที่พร้อมใช้งานกับผู้ป่วย ก่อนที่จะนำส่งคืนให้กับโรงพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่มีความประสงค์จะรับการซ่อมแซมเครื่องช่วยหายใจ สามารถติดต่อเพื่อรับการซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่ พร้อมรับส่งฟรีถึงโรงพยาบาล ได้ที่คุณชุณห์ธน รัตนพรสมปอง โทรศัพท์ 089-834-4370 สยามคูโบต้ามุ่งมั่นที่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง และร่วมมือกันกับองค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในการช่วยเหลือให้พี่น้องชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปด้วยกัน พร้อมทั้งขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์ที่เสียสละทำงานหนักเพื่อรักษาผู้ป่วย และร่วมกันหยุดการระบาดของไวรัส COVID-19 ให้ผ่านไปโดยเร็ว


นอกจากนี้ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ยังได้ดำเนินการพัฒนาสร้างสายการผลิตและเร่งผลิตตู้ความดันลบภายในโรงงานนวนคร จังหวัดปทุมธานี เพื่อมอบให้แก่ 20 โรงพยาบาลที่แจ้งความประสงค์เข้ามารับบริจาคผ่านวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ภายใต้กระบวนการผลิตได้ตามมาตรฐาน และจะทำการส่งมอบสิ้นเดือนเมษายนนี้ นอกจากนี้ ยังปรับปรุงสายการผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร ผลิต Automatic Guide Vehicle (AGV) หุ่นยนต์ส่งยาและอาหาร จำนวน 50 ชุด เพื่อใช้รับส่งอาหารและยาในโรงพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อจากการทำการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อระยะเวลาในการผลิตคาดว่าแล้วเสร็จ พร้อมติดตั้งในโรงพยาบาล ในเดือนพฤษภาคมนี้






กำลังโหลดความคิดเห็น