xs
xsm
sm
md
lg

สทน. วอนผปก.และ ผู้บริโภคให้ความสำคัญอาหารปลอดเชื้อด้วยการฉายรังสี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สทน. เตือนผู้ประกอบการ นำอาหารที่ผลิตมาทำการฉายรังสี เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อการบริโภค และลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคอุบัติใหม่ที่มาจากการรับประทาน พร้อมกับจัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัย ฉายรังสีปลอดโรค 21-22 มี.ค.นี้ ห้างสามย่านมิตรทาวน์


รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า จากปัญหาโควิท-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกที่เกิดขึ้นเพราะการรับประทานที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้น การรับประทานอาหารที่ปลอดเชื้อ หรือปลอดภัย เป็นเรื่องที่จำเป็น ไม่เช่นนั้นเราก็จะเจอกับโรคอุบัติใหม่แบบไม่มีที่สิ้นสุด อาหารฉายรังสีจึงเป็นตัวเลือกการบริโภค ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจอาหารจะคำนึงถึงสุขภาพพลานามัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญด้วย สทน. จึงต้องการให้มีการจำหน่ายอาหารฉายรังสีหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนชาวไทย

รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)



สำหรับการฉายรังสีในประเทศไทยจะเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 โดยได้รับความช่วยเหลือจากประเทศแคนนาดา แต่ข้อมูลการฉายรังสียังถูกรับรู้ในวงแคบ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงข้อมูลอาหารฉายรังสี หรือรับรู้แบบผิด ๆ ว่าอาหารฉายรังสี คือ อาหารที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค


ในส่วนของผู้ประกอบการที่มาใช้บริการฉายรังสีเอง ก็ไม่อยากบอกผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ของตนผ่านการฉายรังสี เพราะกังวลว่าผู้บริโภคจะเข้าใจผิด ส่งผลกระทบกับต่อยอดขาย ทำให้อาหารฉายรังสีไม่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับเท่าที่ควร อีกทั้งยังมีผู้ประกอบการอาหารอีกจำนวนมาก ยังไม่เข้าใจว่า กระบวนการฉายรังสีอาหารสามารถทำให้ผลิตภัณฑ์ปลอดเชื้อได้ ดังนั้น การฉายรังสีอาหารในผลิตภัณฑ์ที่คนไทยบริโภค จึงยังไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าที่ควร







“ สทน. มีเป้าหมายชัดเจนในการมุ่งสร้างความปลอดภัยให้แก่ผลิตภัณฑ์อาหาร และสร้างความสามารถในการตรวจสอบย้อนกลับทางวิทยาศาสตร์ โดยมีภารกิจสำคัญด้านอาหารปลอดภัยที่ดำเนินการอยู่ คือ การให้บริการฉายรังสีเพื่อทำลายเชื้อโรคและยืดอายุผลิตภัณฑ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกประเภทรังสีที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้กับอาหาร และการพัฒนาบริการด้านการตรวจวิเคราะห์ทางจุลชีววิทยา”


ทั้งนี้ สทน. จัดงานมหกรรมอาหารปลอดภัย ภายใต้ชื่องาน “ Safe Food Good Life อาหารปลอดภัย ฉายรังสีปลอดโรค ” ในวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2563 ณ ห้างสรรพสินค้า สามย่านมิตรทาวน์ ชั้น G เพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับอาหารฉายรังสี ว่าเป็นกระบวนการอย่างหนึ่ง โดยนำอาหารไปรับรังสีจากต้นกำเนิดรังสี และเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ยืดอายุการเก็บรักษา ชะลอการสุก ยับยั้งการงอกระหว่างการเก็บรักษา ทำลายและยับยั้งการแพร่พันธุ์ของแมลง ฯ กล่าวโดยสรุปคือ ช่วยในการถนอมอาหาร และทำให้อาหารปลอดภัยจากเชื้อโรค




โดยทางกฎหมาย มีข้อกำหนดถึงปริมาณรังสีต่ำสุดที่อยู่ในระดับปลอดภัยต่อผู้บริโภค และยังคงคุณค่าทางโภชนาการ และคงรสชาติเหมือนเดิม ซึ่งข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก กำหนดว่า “อาหารใด ๆ ก็ตาม ที่ผ่านการฉายรังสีในปริมาณเฉลี่ยไม่เกิน 10 กิโลเกรย์ ไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา ทำให้ไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัย

รศ.ดร.ธวัชชัย กล่าวสรุปว่า ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการของไทยหลายรายที่เห็นความสำคัญนำอาหารมาฉายรังสี เช่น กลุ่มอาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง ผลไม้ สมุนไพร เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อาหารสุนัข สำหรับประโยชน์ที่ได้รับ นอกจากจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในตัวสินค้าแล้ว ยังช่วยส่งเสริมในเรื่องการส่งออกอีกด้วย เพราะหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ให้การยอมรับว่าอาหารฉายรังสีมีความปลอดภัยสำหรับการบริโภค




** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า"SMEsผู้จัดการ"รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุดและร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



SMEs manager




กำลังโหลดความคิดเห็น