xs
xsm
sm
md
lg

LILUNA Share 2 Go ทางเดียวกันไปด้วยกัน แอปบริการ Ride Sharing ตัวจริง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ปัญหาที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนนของประเทศไทย ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันแก้ไข เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นในวันนี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาการจราจร แต่ที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จากการเกิดฝุ่นละอองพิษ PM2.5

LILUNA แอปฯหาเพื่อนร่วมแชร์ค่าเดินทาง

โดยเฉพาะปัญหาการใช้รถใช้ถนนของคนเมืองหลวง อย่างกรุงเทพมหานคร ที่กำลังจะเข้าถึงขั้นวิกฤติ หลายฝ่ายพยายามหาทางออก ซึ่งมีด้วยกันหลายทาง และหนึ่งในนั้นก็คือ ไอเดียของ โปรแกรมเมอร์ดีกรีนักเรียนนอก ชื่อว่า “นัฐพงศ์ จารวิจิต” สตาร์ทอัป เจ้าของ LILUNA Share 2 Go แอปพลิเคชั่นที่ให้บริการ Ride Sharing เดินทางเดียวกัน สามารถไปด้วยกันได้
นัฐพงศ์ จารวิจิต  เจ้าของ แอปฯ LILUNA


สำหรับแนวคิดดังกล่าวก็อาจจะเกิดขึ้นกับหลายๆ คน แต่จะมีสักกี่คนที่กล้าที่จะออกมาเป็นตัวกลางในการที่จะเชื่อมให้ทุกคนสามารถเดินทาง ทางเดียวกันและไปด้วยกันได้ แบบปลอดภัย โดยได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของรถมีคนมาช่วยหารค่าน้ำมันรถ และผู้ร่วมเดินประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

นัฐพงศ์ เล่าว่า ที่มาของแนวคิดในการทำ LILUNA Share 2 Go เกิดขึ้นมาจากผมอยู่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งใจกลาง กรุงเทพมหานคร และทุกวันก็จะขับรถออกไปคนเดียว และเห็นว่ามีคนที่ต้องเรียกใช้บริการรถมอเตอร์ไซต์ ซึ่งไปทางเดียวกันกับเรา แต่ถ้าจะเปิดกระจกชักชวนเขาขึ้นรถไปด้วย โดยที่เราไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ก็คงจะดูแปลกๆดี และก็คงไม่มีใครกล้าขึ้น เขามองว่า เป็นใครทำไมอยู่ดีดี มาเรียกขึ้นรถ ประกอบกับปัญหาการใช้รถใช้ถนนของคนกรุงเทพฯ แน่นไปด้วยรถจำนวนมาก ถ้าสามารถไปด้วยกันได้ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ก็ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย




LILUNA โมเดลธุรกิจ ไม่ใช่การหารายได้


สำหรับความแตกต่างของ LILUNA Share 2 Go กับ Uber หรือ Grab คือ ทั้งสอง นั้นไม่ใช่ Ride Sharing แต่เหมือนบริการที่ Matching หรือจับคู่ระหว่างเจ้าของรถ ที่ต้องการมีรายได้มาเจอกับคนที่ต้องการเดินทาง และคิดค่าเดินทาง ขณะที่ถ้าเป็น Ride Sharing จริงๆ น่าจะหมายถึงการร่วมเดินทาง และร่วมจ่ายค่าเดินทางด้วยกันมากกว่า ตัวอย่างเช่น ถ้า A จะเดินทางไปทำงานในเมือง และให้ B ติดรถไปด้วย คิดค่าบริการเป็นค่าน้ำมัน หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามจริง



หลักเกณฑ์การให้บริการ เน้นความปลอดภัย


ทั้งนี้ สิ่งที่หลายคนกังวลกับการบริการ ลิลูน่า คือ ความปลอดภัย ซึ่ง “นัฐพงศ์” กล่าวถึง ความปลอดภัยในการให้บริการของลิลูน่า ว่า เราค่อนข้างคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นประเด็นแรก โดยมีมาตรการ ด้านความปลอดภัยค่อนข้างสูง หลักเกณฑ์ของการเข้ามาเป็นสมาชิกของ ลิลูน่า คือ เจ้าของรถที่ต้องการหาเพื่อนร่วมเดินทางจะต้องมาลงทะเบียนกับเราก่อน ด้วยการส่งใบขับขี่ ทะเบียนรถ พร้อมรูปถ่ายตัวรถ รูปถ่ายเจ้าของรถ และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งส่งรหัสยืนยันตัวตน เข้าไปในโทรศัพท์ เพื่อเช็คว่า โทรศัพท์เบอร์นี้เป็นของคุณหรือไม่ และข้อมูลทุกอย่างจะถูกบันทึกลงในระบบ ทำให้เราทราบว่าคนขับเป็นใคร พักอยู่ที่ไหน ทะเบียน สี ยี่ห้อรถอะไร และเรายังได้ทำงานประสานกับตำรวจท้องถิ่นทั่วประเทศ ถ้าเกิดปัญหาตรงจุดนี้ สามารถขอความช่วยเหลือกับตำรวจในพื้นที่นั้นๆ ได้ทันที






ในส่วนของผู้โดยสารที่จะมาใช้บริการ ก็ต้องมาลงทะเบียนกับเราก่อนเช่นกัน โดยส่วนของผู้โดยสารที่จะร่วมเดินทางจะต้องแจ้ง ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ พร้อมรูปถ่าย ส่งกลับมาให้เราได้บันทึกไว้ในระบบด้วยเช่นกัน และเมื่อพร้อมจะเดินทางไปด้วยกัน ก็จะไปนัดกันเองว่า จะไปรับหรือ ส่งตรงจุดไหน เช่นเดียวกับค่าใช้จ่าย ก็จะต้องไปตกลงกันเองเช่นกัน
ตั้งเป้าสมาชิกถึง 2 ล้านราย เกิดการจับคู่ที่ลงตัว

นัฐพงศ์ กล่าวว่า ได้เปิดให้บริการแอปพลิเคชั่น LILUNA เมื่อเดือนมีนาคม 2017 ซึ่งรายได้ของเราในตอนนี้ ยังไม่มีรายได้มาจากผู้มาใช้บริการผ่านการโหลดหน้าแอปพลิเคชั่น หรือ หน้าเพจเฟซบุ๊ก เพราะในช่วงเริ่มต้นต้องการที่จะเปิดกว้างให้คนเข้ามาใช้บริการให้มากขึ้นก่อน ซึ่งตอนนี้มีผู้โหลดการใช้งานผ่านแอปฯเพียง 2 แสนรายเท่านั้น และมีผู้ที่สามารถใช้บริการและจับคู่การเดินทางร่วมกันเพียง 15-20% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยอยู่มาก โดยปัญหาที่พบจากการจับคู่การเดินทางที่ไม่ลงตัวในครั้งนี้ เกิดจากความต้องการเดินทางในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

ดังนั้น ถ้าต้องการจะขยายบริการให้กว้างมากขึ้น และรองรับกับความต้องการได้อย่างแท้จริง จะต้องมีสมาชิกที่ดาวน์โหลดไปใช้บริการ หรือ ใช้บริการผ่านหน้าเฟซบุ๊ก มากกว่านี้ โดยตั้งเป้า ว่าจะมีสมาชิกให้ได้ถึง 2ล้านคนในอีก 2 ปี ถ้ามีสมาชิกมากขึ้น ช่วยสนองต่อความต้องการของผู้ที่ต้องการเดินทางได้มากขึ้น




ผู้ใช้บริการ เกิดขึ้นมากในช่วงเทศกาล


ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ยังไม่มีคนกล้ามาใช้บริการ กังวลเรื่องความปลอดภัย พอเราสามารถชี้แจงรายละเอียดถึงเรื่องความปลอดภัยได้ ก็มีคนหันมาใช้บริการมากขึ้น โดยที่ผ่านมาการใช้บริการจะมากในช่วงเทศกาล เพราะหลายๆ คนต้องเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดพร้อมๆ กัน รถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการไม่เพียงพอ พอมาเจอบริการของเรา ก็เหมือนเป็นตัวช่วยที่ส่งเขากลับบ้านได้ในแบบประหยัดเงินในกระเป๋า

“ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีคนเดินทางออกต่างจังหวัดกันมาก รถทัวร์ รถไฟ เครื่องบิน เต็มหมด ไม่ก็มีราคาที่สูงขึ้น ถ้าสามารถแชร์การเดินทางไปด้วยกันได้น่าจะช่วยสร้างความสะดวกสบาย และประหยัดค่าเดินทางได้ไม่น้อย” นี่คือ แนวคิดของ นัฐพงษ์ ผู้พัฒนาแอป LILUNA

นัฐพงศ์ กล่าวว่า LILUNA คือแอปฯแชร์ค่าเดินทาง เป็นลักษณะ carpool ทางเดียวกันไปด้วยกัน ไม่มีการเรียกไปรับ หรือให้ไปส่ง ไม่ได้เลี่ยงกฎหมาย วิธีการคือ เจ้าของรถสมัครใช้งานแอป ต้องมีใบขับขี่ ทะเบียนรถ เพื่อยืนยันตัวตน จากนั้นแจ้งจุดเริ่มต้นการเดินทางและจุดหมายปลายทาง พร้อมค่าเดินทาง ผู้ร่วมเดินทางเข้ามาตอบรับ หารค่าเดินทางกันตามจำนวนคนที่ไปด้วยกัน นี่ไม่ใช่ค่าบริการ แต่เป็นค่าเดินทางจริง ดังนั้นถ้าผู้ที่ต้องการเดินทางเห็นว่า ค่าเดินทางแพงเกินไป ก็ปฏิเสธการเดินทางได้ โดยไม่ต้องเสียค่าปรับ แต่อย่างใด






ปัญหามีการแชร์เส้นทาง แต่ไม่มีผู้ร่วมเดินทาง

นัฐพงษ์
บอกว่า ปัญหาที่ผ่านมาของ ลิลูน่า คือ มีการแชร์เส้นทางแต่ไม่มีคนร่วมเดินทาง สุดท้ายคนขับก็จะเลิกไป เป็นสิ่งที่ทีมพัฒนา LILUNA กำลังเร่งแก้ปัญหา พร้อมสร้างแรงจูงใจให้คนขับแชร์เส้นทาง เช่น มีของรางวัลให้คนที่แชร์เส้นทาง เป็นต้น แต่ส่วนหนึ่งก็ได้รู้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อย ยินดีที่จะแชร์เส้นทางเพื่อให้มีเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วย ในอนาคต LILUNA จะพัฒนาฟีเจอร์ เพื่อให้คนร่วมเดินทางสามารถมาโพสต์ได้ว่าจะเดินทางจากไหนไปไหน ถ้ามีคนขับรถผ่านก็จะได้ร่วมเดินทางไปด้วยกัน เรียกว่ามีความ real time มากขึ้น และเนื่องจาก LILUNA ไม่มีโมเดลธุรกิจ ดังนั้น เราจึงไม่ได้คิดวิธีการหารายได้ไว้ ความตั้งใจ คือ อยากสร้างบริการที่เป็น Ride Sharing เพื่อที่คนไทยจะใช้ร่วมกัน

พัฒนาแอปฯ ให้องค์กรหลายแห่งนำไปใช้งานจริง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนตัวอาจจะไม่ได้มีรายได้โดยตรง จากการเปิดให้ดาวน์โหลดแอปฯ แต่มีรายได้จากการเป็นเขียนโปรแกรม LILUNA ให้กับองค์กรใหญ่ ภาคเอกชน และภาครัฐ จำนวน 6องค์กร โดยคิดค่าใช้จ่ายต่อครั้งที่ลูกค้าต้องการให้เราเขียนโปรแกรมให้ หลังจากนั้นเก็บค่าบริการเป็นรายเดือน ซึ่งก็จะเป็นการตกลงร่วมกัน ที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการแต่ละองค์กรประมาณ 15-20%ที่คนยังมีการใช้บริการไม่มากในแต่ละองค์กร เกิดจากปัญหาที่เหมือนๆ กัน คือ สถานที่ไปและเวลาไม่ตรงกัน



สำหรับประวัติของ “นัฐพงศ์” เดิมเป็นโปรแกรมเมอร์ หลังจากได้เริ่มสร้าง LILUNA ได้ลาออกจากงานประจำเพื่อมาเป็นสตาร์ทอัปอย่างเต็มตัว เพราะมองเห็นถึง โอกาสในการทำธุรกิจสตาร์ทอัปตรงนี้ ปัจจุบัน ได้ผู้ร่วมลงทุนเป็นนักลงทุนชาวต่างชาติ ด้วยวงเงินประมาณ 1 ล้านบาท ในต่างประเทศเอง การให้บริการในลักษณะนี้ เกิดขึ้นมานานแล้ว และเขาทำกันอย่างจริงจัง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก คนส่วนใหญ่เลือกที่จะใช้บริการลักษณะนี้ มากกว่า การเรียกรถรับจ้างเสียอีก

ทั้งนี้ ก่อนที่ “นัฐพงศ์” จะลาออก มีเงินเดือนหลักแสน แต่ตัดสินใจลาออกมาทำฟรีแลนซ์ เพราะอยากสร้าง LILUNA ให้เกิดขึ้น เพราะมองว่าการมีเงินเดือนเยอะไม่ได้ทำให้ชีวิตมีความสุข แต่ถ้าสามารถพัฒนาให้ LILUNA สำเร็จได้ นั่นคือ ความภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาการใช้รถใช้ถนน ของประเทศไทย


สนใจ โทร.08-6352-6870




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น