xs
xsm
sm
md
lg

หมอนขิด สินค้าภูมิปัญญาไทย ที่ติดอันดับสินค้าโดนใจ ต่างชาติ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายพัฒนะ งามสาย เจ้าของ หมอนขิด ร้านหมอนใหญ่ใจดี  จ.ยโสธร
หมอนขิด เป็นงานหัตถกรรมที่ผูกพันกับ คนไทยในพื้นที่ภาคอีสานมาช้านาน และมีผ้าขิด เป็นวัตถุดิบในการทำหมอนขิด ซึ่งเป็นผ้าที่ต้องใช้ฝีมือและความสามารถในการทอสูงกว่าผ้าชนิดอื่น ช่างอีสานถือว่า ผ้าขิดเป็นของสูง จึงมักจะทอใช้ในโอกาสที่เป็นมงคลหรืองานพิธีต่างๆ






ประยุกต์ศิลปะ เพิ่มประโยชน์ใช้สอย ดันหมอนขิดโกอินเตอร์


สำหรับหมอนขิด เป็นสินค้าภูมิปัญญาไทย ที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเป็นการรักษาวัฒนธรรมทางหัตถกรรมของชุมชนในภาคอีสานไว้ได้อย่างดีเยี่ยม และยังได้นำมา ประยุกต์ เพื่อให้เข้ากับศิลปะปัจจุบัน ตลอดจนประโยชน์ใช้สอยได้อย่างกลมกลืนตามสมัยนิยม เฉกเช่น ผู้ผลิตหมอนขิด ร้านหมอนใหญ่ใจดี จังหวัดยโสธร ของ“นายพัฒนะ งามสาย”

นายพัฒนะ (น็อต) เล่าว่า ครอบครัวของเราทำหมอนขิด มานานกว่า 20 ปี เป็นสินค้าโอทอป ระดับ 3 ดาว ของจังหวัดยโสธร การทำตลาดในอดีตสมัยรุ่นคุณแม่จะเน้นขายส่งให้กับลูกค้าที่รับไปจำหน่าย ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งการทำหมอนของร้านเราจะเน้นคุณภาพ เป็นจุดขายที่ทำให้ ยังคงรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ได้ แม้ของเราจะราคาสูงกว่าคนอื่นๆ อยู่บ้าง



"เมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมได้ลาออกจากงานประจำมาช่วยกิจการของครอบครัว เพราะแม่อายุมากขึ้น ไม่มีคนดูแลกิจการ ก็เลยขอให้ตนเองออกมาช่วย ซึ่งผมเองได้ประสบการณ์ จากการเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ให้ร้านเครื่องประดับแห่งหนึ่ง ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการเป็นพนักงานต้อนรับบนสายการบิน ทำให้ผมสามารถพูดได้หลายภาษา ทั้งภาษาจีน และภาษาอังกฤษ นำมาใช้กับการขยายตลาดหมอนขิดออกไปสู่ตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน"

สำหรับหมอนขิดในตลาดต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือ อเมริกา รู้จักกันดี และมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย เพราะด้วยคุณภาพ ที่คงทนกว่า หมอน หรือที่นอนชนิดอื่นๆ ที่ขายในตลาด จุดเริ่มต้นที่ทำให้ฝรั่งต่างชาติรู้จัก หมอนขิด มาจากเมียฝรั่งที่อยู่ในภาคอีสาน ที่มักจะนำหมอนขิดติดตัวไปด้วย เมื่อต้องติดตามสามีไปต่างประเทศ เป็นเหตุผลที่ทำให้ฝรั่งรู้จักหมอนขิด เป็นอย่างดี




จากผ้าขิดทอมือ ลดต้นทุน ใช้ผ้าขิดทอจากเครื่องจักร

อย่างไรก็ตาม การทำตลาดในต่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีคู่แข่งเยอะ ดังนั้น การเข้าไปทำตลาดของเราในครั้งนี้ เริ่มจาก การเดินทางไปต่างประเทศบ่อยๆ พอเห็นร้านไหนที่เขาน่าจะสนใจ หมอนของเรา ก็ขอนามบัตรมา และแนะนำสินค้าของเราผ่านทางออนไลน์ ซึ่งการนำหมอนขิดเข้าไปทำตลาดต่างประเทศ บางอย่างต้องมีการปรับบ้างโดยเฉพาะรูปแบบให้เหมาะกับการใช้งานของเขา อย่างเช่น หันมาทำเบาะที่นอน สำหรับเล่นโยคะ หรือ ทำหมอนพิงหลัง ฝรั่งชอบหอบหมอนไปนอนตามสวนสาธารณะ ก็ออกแบบให้เขาสามารถนำไปใช้งานได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ ในส่วนของลวดลายผ้าขิด ก็ยังคงลวดลายเดิม จะปรับเรื่องสีตามความชอบของลูกค้า และมีการปรับเรื่องของที่มาของผ้า จากเดิมผ้าทอมือ เปลี่ยนมาเป็นผ้าที่ทอจากเครื่อง เพราะต้องใช้ผ้าจำนวนมาก ถ้าจะมารอผ้าทอมืออย่างเดียวคงไม่ทัน และต้นทุนสูง ตอนหลังคนที่ทำหมอนขิด ก็จะเปลี่ยนมาใช้ ผ้าที่ทอมาจากโรงงาน แต่ยังคงลวดลายผ้าขิด เหมือนโบราณ เพื่อจะได้คงเอกลักษณ์ไทย ของ ผ้าขิดที่ทั่วโลกรู้จัก

นายพัฒนะ เล่าถึง ตลาดต่างประเทศ ว่า จากเดิมที่แม่ทำส่งขายเฉพาะลูกค้าคนไทยรับซื้อไปขายต่อ แต่หลังจากตนเองเข้ามา หน้าร้านจะมีลูกค้าต่างชาติ วอล์กอินเข้ามา และความได้เปรียบด้านภาษา เป็นที่มา ที่ทำให้เราได้ลูกค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ปัจจุบันมีลูกค้าจาก ประเทศออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมัน และจีน และสิ่งสำคัญไม่ใช่แค่เรื่องภาษา คือ ทางร้านของเราจะให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพมาก ซึ่งเป็นเหตุผลที่บางครั้งต้องปฏิเสธ ลูกค้าไป เพราะลูกค้าบางคนต้องการราคาถูก ๆ แต่ด้วยคุณภาพของเรา ขนาดนี้ ไม่สามารถทำราคาอย่างที่ลูกค้าต้องการได้




การทำหมอนขิด ที่ส่งไปขายต่างประเทศ จะต่างจากการขายในประเทศ ตรงที่ การฟอกนุ่น เพราะการส่งออกไปขายต่างประเทศ การฟอกนุ่น จะต้องทำอย่างน้อย ฟอกถึง 3 ครั้ง แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วย เพราะการฟอกนุ่นหลายๆ ครั้ง ต้นทุนก็จะสูง ลูกค้า บางประเทศ อย่าง ลูกค้าจากประเทศจีน ก็จะขอฟอกเพียง 1-2 ครั้ง

สำหรับพ่อค้า จากประเทศจีน ที่ซื้อหมอนขิดจากประเทศไทย ส่วนหนึ่งนำไปขายให้กับฝรั่ง ต่างชาติ เช่นกัน ซึ่งหมอนขิดที่ขายให้กับฝรั่ง ส่วนใหญ่เลยมาจากพ่อค้าคนจีน แต่การผลิต ยังคงเป็นงานฝีมือที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งมีพ่อค้าคนจีน เคยที่จะไปผลิตเอง โดยการซื้อผ้าขิดจากเราไป แต่พอเขาไปทำบ้าง ก็ทำไม่ได้ เพราะเป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด สุดท้าย ก็ต้องกลับมาซื้อ จากประเทศไทย ซึ่งการทำหมอนขิด ไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าจะทำให้คงสภาพ แข็งแรง และทนทาน งานเครื่องจักรก็ยังไม่สามารถทดแทนได้

โดยปัจจุบัน ไม่สามารถรับออเดอร์ จำนวนมากๆ ได้ เพราะยังคิดติดปัญหาเรื่องแรงงาน คนรุ่นใหม่ ไม่มีใครสนใจที่จะมาทำงานแบบนี้ และเครื่องจักรที่มาช่วยได้แค่เพียง 30% เท่านั้น โดยการนำเครื่องจักรมาใช้เป็นตัวช่วยในการยัดนุ่น เท่านั้น




หมอนขิด สินค้าที่จีน เลียนแบบไม่ได้

นายพัฒนะ กล่าวว่า สำหรับการทำหมอนขิด เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ในขณะนี้ ยังมีผู้ส่งออก อยู่ไม่เกิน 10 ราย จะเป็นผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ 4-5 ราย ที่เหลือ จะมีที่ภาคอีสาน ที่ จังหวัดยโสธร แห่งนี้ ถือว่า เป็นแหล่งผลิตแห่งใหญ่ที่สุดเพราะมีผู้ผลิต และทำหมอนขิด กันเกือบทั้งหมู่บ้าน

โดยปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบ โดยคงใช้ผ้าขิด เป็นเอกลักษณ์และคนภาคอีสาน มาทำเป็นถุงผ้า เพื่อรับกระแสความต้องการถุงผ้า ของคนทั่วโลกด้วย ซึ่งถุงผ้าขิด มีการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เช่นเดียวกัน หรือ การที่หันมาใช้หมอนยางพารา ทางร้านของเรา ก็ได้มีการทำหมอนยางพารา เช่นกัน

สำหรับในส่วนของหมอนก้อนยางพารา นั้น ถ้าพูดถึงคุณภาพ เรียกว่า ดีมาก และเป็นหมอนขิดที่ดีที่สุด แต่ปัญหาของหมอนขิดยางพารา คือ ต้นทุนก้อนยางพารานั้นสูงมาก สูงกว่า นุ่นถึง 5 เท่า โดยปัจจุบันก้อนยางพาราที่นำมาใช้ทำหมอน ขายส่งที่กิโลกรัมละ 150 - 180 บาท และหมอน 1 ใบใช้ก้อนยางพารา 2-3 กิโลกรัม แต่ถ้านุ่น จะใช้นุ่นแค่ 1 กิโลกรัม ซึ่งนุ่นราคากิโลกรัมละ 70-80 บาท เท่านั้น แต่ในส่วนของหมอนก้อนยางพารา ทางร้านก็ยังคงทำจำหน่ายเช่นกัน ซึ่งจะเป็น การทำตามออเดอร์ เป็นส่วนใหญ่




หมอนขิด บ้านศรีฐาน แหล่งผลิตหมอนขิด โด่งดังไปทั่วโลก

มารู้จัก กับหมอนขิด บ้านศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร เป็นหมู่บ้านหัตถกรรม ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในการทำหมอนขิด ซึ่งการทำหมอนขิดเป็นวิถีชีวิต และ ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ของชาวบ้านศรีฐาน ซึ่งหมอนขวานผ้าขิด เป็นผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎในคำขวัญของจังหวัดยโสธร และมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีการพัฒนารูปแบบการผลิตอย่างต่อเนื่อง นอกจากหมอนขวานก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่น เช่น ที่นอนพับ ที่นอนระนาด หมอนกระดูก หมอนรองคอ หมอนผลไม้ เบาะรองนั่ง

นอกจากการพัฒนา รูปแบบผลิตภัณฑ์ แล้วยังมีการพัฒนาด้านการตลาด การสร้างเครือข่าย การตลาด การบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ การขอรับการรับรองมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ ชุมชน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หมอนขวานผ้าขิดเป็นหัตถกรรมของชาวอีสานที่มีเอกลักษณ์ และคุณค่าด้านประโยชน์ ใช้สอย ได้รับความนิยมทั่วไป และทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม SME D Bank ยังได้เข้ามาช่วยเหลือด้วยการให้ทุนสนับสนุนด้วย

โทร.08-3795-6175





* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น