กระแสคนรักสุขภาพมาแรงแบบฉุดไม่หยุด ส่งผลต่อภาคธุรกิจอาหาร ก็ต้องปรับตัวใหัทันต่อสถานการณ์ ไม่เว้นแม้แต่วงการอาหารมังสวิรัติ ที่ขึ้นชื่อว่าใส่ใจในเรื่องสุขภาพอยู่แล้ว ยังต้องปรับตัวในเรื่องความสะดวกในการรับประทานเพื่อตอบโจทย์สังคม 4.0 มีแต่ความเร่งรีบ หนึ่งในนั้นคือ “ขนมเตมเป” แห่งปัตตานี ชื่ออาจไม่คุ้นหูแต่เมื่อรู้ถึงวัตถุดิบของขนมชนิดนี้ คนรักสุขภาพต้องปรี่เข้าใส่ เพราะทำจากถั่วเหลือง และข้าวสังหยด อยู่ในรูปของขนมขบเคี้ยว และใช้แทนเนื้อสัตว์สำหรับการประกอบการอาหาร ที่ผ่านการวิจัยและใส่นวัตกรรมมาเป็นอย่างดี
นางสุวัฒนา ลิ้มยุ่นทรง เล่าว่า สามีของเธอ คือ นายวิชาญ อนิสงค์ มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศอินโดนีเซีย และผู้คนนิยมรับประทาน ‘เตมเป’ จึงคิดที่จะนำมากลับมาทำที่ประเทศบ้านเกิดของตนเองบ้าง โดยเตมเป เป็นหนึ่งในอาหารมังสวิรัติเพื่อสุขภาพ ได้จากการหมักถั่วเหลืองด้วยเชื้อรา Rhizopus oilgosporus (โรไซปัส โอลิโกสปอรัส) เชื้อราดังกล่าวประโยชน์ จะให้เส้นใยที่มีสีขาวยืดถั่วเหลืองให้ติดกันแน่นจนเป็นก้อนคล้ายเต้าหู้ เป็นแหล่งของสารอาหารประเภทโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ โดยผู้บริโภคนิยมนำเตมเปสดไปประกอบอาหารชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทอด ผัด แกง โดยใช้แทนเนื้อสัตว์
จากสรรพคุณและคุณสมบัติที่สามารถนำมาพลิกแพลงทำอาหารได้หลากหลาย จึงเห็นเป็นโอกาสที่จะต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ “Bavashi Tempe” (บาวาชิ เตมเป) ซึ่ง ‘บาวาชิ’ ถอดความได้ว่า ‘เชฟ หรือ พ่อครัว’ สื่อถึงการเริ่มต้นของครอบครัวเล็กๆ ที่ช่วยกันปลุกปั้นธุรกิจนี้ขึ้นมา ตั้งแต่ปี 2556
แม้ว่าเตมเปจะอยู่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง แต่ทว่า “ร้านเตมเป ปัตตานี” ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเตมเป ก็ยังคงพบปัญหาในการขยายฐานลูกค้าที่เป็นไปได้อย่างจำกัด เนื่องจากมีฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ได้แก่ ผู้บริโภคมังสวิรัติ และประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ อีกทั้งยังเป็นผลิตภัณฑ์เตมเปชนิดสดที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น มีกลิ่นและรสชาติที่คนไทยไม่คุ้นเคย ประกอบกับเป็นอาหารที่จำเป็นต้องนำไปปรุงต่อโดยการผัดหรือทอดก่อนรับประทาน
“ที่ผ่านมาเราจะดำเนินธุรกิจนี้มาหลายปี ลองผิดลองถูกพยามยามพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้น แต่ก็ยังมีข้อเสียคือ เรื่องกลิ่นแอมโมเนียที่ฉุนเกินไป และขอบถุงมีจุดราดำ รวมถึงระยะเวลาในการเก็บรักษา ที่ยังสั้นเกินไป หรือหากไม่ได้อยู่ในที่เย็นก็เน่าเสียได้ง่าย อย่าง การขนส่งจาก จ.ปัตตานี ไปยังภาคเหนือ หรือกรุงเทพฯ สินค้ามักจะเสียเร็ว ดังนั้นจึงต้องหาวิธีกำจัดปัญหาเหล่านี้ให้หมดไป เพื่อธุรกิจจะได้เติบโตและไปได้ไกลกว่าใน จ.ปัตตานี หรือจังหวัดใกล้เคียง”
ด้วยเหตุนี้ทางร้านฯ จึงมีความต้องการที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการแปรรูปเตมเปให้เป็นขนมอบกรอบ (Tempe snack) โดยอาศัยกระบวนการเอ็กซ์ทรูชัน (extrusion) โดยมีนักวิจัยจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นผู้พัฒนากรรมวิธีการแปรรูปดังกล่าว เพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นยีสในเนื้อถั่วเตมเป และปรับปรุงเนื้อสัมผัสโดยการพัฒนาสูตรส่วนผสมต่างๆ โดยมีเตมเปเป็นส่วนผสมหลัก ปรุงรสชาติให้ถูกปากคนไทย มีการผสมข้าวสังข์หยดเพื่อเพิ่มอัตลักษณ์ให้แก่ผลิตภัณฑ์ และทำให้ผลิตภัณฑ์มีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น ทำให้ทางร้านฯ สามารถขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายทั่วประเทศ และสามารถขยายตลาดไปสู่บุคคลทั่วไปเพิ่มเติมจากผู้รับประทานมังสวิรัติ โดยปัจจุบันสามารถเก็บในช่องแช่แข็งในอุณหภูมิติดลบ 21 องศาเซลเซียส ได้นาน 60 วัน ส่วนในตู้เย็นธรรมดาเก็บได้ 15 วัน ซึ่งเตมเปสด ขายในราคาชิ้นละ 45 บาท (200 กรัม)
“เราเชื่อว่าหากสามารถนำผลิตภัณฑ์ขนมอบกรอบเตมเปออกสู่ตลาดได้ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพทางการตลาดสูง เพราะขนมเตมเปยังไม่มีจำหน่ายตามท้องตลาด ประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นขนมเพื่อสุขภาพก็ยังมีจำหน่ายไม่มากนัก ซึ่งเตมเป ยังเป็นอาหารเพื่อสุขภาพที่มีโปรตีนสูง เป็นแหล่งวิตามิน B12 ที่สำคัญของผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ แถมยังรับประทานง่าย สะดวกรวดเร็ว สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนเมือง”
นอกจากนี้ทางบาวาชิ เตมเป ยังได้เงินอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ภายใต้การสนับสนุนในโครงการนวัตกรรมแบบเปิด ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน ในหมวดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หมวดค่าวิเคราะห์ทดสอบ และหมวดค่าตอบแทน เพื่อดำเนินการพัฒนาโครงการ “เตมเป ขนมอบกรอบผสมข้าวสังหยด” จากการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ 100% ได้แก่ ถั่วเหลือง แป้ง เครื่องปรุงรส และสารเติมแต่งต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร รวมถึงยังมากด้วยคุณประโยชน์ เป็นแหล่งของโปรตีน มีกรดอะมิโนที่ง่ายต่อการดูดซึม ไม่มีคอเลสเตอรอล
หากใครสนใจลิ้มลองเตรียมหาซื้อกันได้ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกสาขาในกรุงเทพฯ เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ จากเดิมที่จำหน่ายแต่ในเฉพาะภาคใต้ ทั้งที่กลุ่มลูกค้าหลักเป็นชาวกทม. สูงถึง 90% เป็นกลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปที่รักสุขภาพ และล่าสุดเริ่มโดนใจกลุ่มคนวัยทำงาน ที่มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ทาง บาวาชิ เตมเป ยังดำเนินธุรกิจในแง่รับจ้างผลิต หรือ OEM ให้อีกหลายราย หลังจากเตมเปเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามปัจจุบันผู้บริโภคมีแนวโน้มให้ความสนใจอาหารเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการเติบโตของมูลค่าตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ โดยในปี 2558 มีมูลค่าสูงถึง 170,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ร้อยละ 42.5 (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย)
สนใจติดต่อ : 08-9976-5305 หรือที่ www.tempebavashithailand.com