รมว.เกษตรฯ ยืนยัน 1 ต.ค. 2562 เริ่มประกันรายได้ยางพารา 60 บาทต่อ กิโลกรัม เล็งผลักดันใช้ยางในประเทศ พร้อมเตรียมวงเเงินสินเชื่อให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อขยายการผลิต แก้ปัญหาระยะยาว
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบกระทู้ถามสดด้วยวาจาของ “นายนริส ขำนุรักษ์” ส.ส. จังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 เกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า มีสาเหตุมาจากอัตราการใช้ยางพาราในประเทศที่มีสัดส่วนน้อยกว่าการส่งออก และการกำหนดราคาซึ่งมาจากตลาดต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดราคายางได้เอง ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาเบื้องต้นเพื่อพยุงราคายาง โดยจะเริ่มดำเนินการโครงการประกันรายได้ให้แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับการยางแห่งประเทศไทย ในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้
โดยมีมาตรการที่กำหนดคือ ให้คนละไม่เกิน 25 ไร่ ต่อเกษตรกรพี่น้องชาวสวนยาง 1 ราย ยางที่จะประกันราคาคือ 1.ยางแผ่นคุณภาพดีประกันที่ราคา 60 บาท ต่อ 1 กิโลกรัม 2.น้ำยางสด DRC 100% ประกันที่ราคา 57 บาท 3.ยางก้อนถ้วยซึ่งมี DRC 50% ประกันที่ราคา 23 บาท ทั้งนี้การกำหนดราคารับประกัน ทางเจ้าหน้าที่การยางแห่งประเทศไทยได้ใช้มาตรการคำนวณราคาต้นทุนต่าง ๆ และกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานในช่วงแรกเป็นเวลา 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะได้รับเงินประกันรายได้ยางพารา 2 เดือนต่อหนึ่งครั้ง โดยงวดแรกจะเริ่มวันที่ 15 ธันวาคม เป็นต้นไป
ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส ได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุดด้วยกัน เพื่อตรวจสอบและร่วมดำเนินการ ได้แก่ 1.คณะกรรมการบริหารโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการใหญ่ โดยมีปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน 2.คณะกรรมการราคากลางอ้างอิง ซึ่งคณะกรรมการนี้จะประกาศราคากลาง ที่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางจะได้ส่วนต่างจากการประกันรายได้ 3.คณะอนุกรรมการบริหารประกันรายได้เกษตรกรสวนยางระดับจังหวัด ซึ่งจะมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นประธาน มีส่วนราชการต่าง ๆ พี่น้องตัวแทนชาวสวนยาง ธกส. ตัวแทนเกษตรจังหวัด สหกรณ์จังหวัด ประธานสภาเกษตร 4.คณะอนุกรรมการในส่วนระดับตำบล ซึ่งตรงนี้จะมีส่วนข้าราชการ ปลัดอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารท้องถิ่น ตัวแทนการยาง ตัวแทนสวนยาง เพื่อมาตรวจสอบในการนำเสนอการรับเงินประกันรายได้
นอกจากนี้ยังมีโครงการให้หน่วยงานภาครัฐ นำยางพาราไปใช้งานราชการต่างๆ โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการไปทุกกระทรวงว่าสามารถจะนำยางพาราไปใช้ในงานราชการต่าง ๆ ได้อย่างไร ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการพูดคุยกับกระทรวงต่าง ๆ เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงสาธรณสุข กระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น ซึ่งกระทรวงต่าง ๆ เหล่านี้จะมาตัด Supply ของน้ำยางพาราออกจากตลาดได้ และยังมีโครงการหาวงเงินสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่ทำผลิตภัณฑ์ยางพารา เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายกำลังผลิต เป็นวงกู้ที่จะประสานให้ 25,000 ล้าน โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นกองทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรที่รวบรวมยางพาราเป็นวงเงิน 10,000 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยางแห้ง ซึ่งตรงนี้จะหาเงินกู้ให้อีก 20,000 ล้านบาท
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager