เมื่อเด็กรุ่นใหม่ที่มีความถนัดและประสบการณ์ด้านการทำงานที่แตกต่างกัน มารวมตัวพร้อมงัดความสามารถของตนเองออกมาต่อยอดจนก่อเกิดเป็นธุรกิจด้านโลจิสติกส์ กับแพลตฟอร์มชื่อว่า “โลจิสตี้” (Logisty) เชื่อมต่อผู้ให้บริการขนส่งมาแลกเปลี่ยนงานและรถเพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มความสามารถในการบริการลูกค้า ลดการวิ่งรถเที่ยวเปล่า และลดปัญหารถจอดนิ่งไม่ได้ใช้งาน ทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์เต็มที่ แถมยังไม่สูญเสียทรัพยากรด้านพลังงานของประเทศชาติ
ไอเดียธุรกิจนี้เกิดจาก “นายธนพล ตียาคม หรือ น้องบูม” นั่งแท่นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) จากเดิมทำงานอยู่ในบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ของไทยส่วน “นายชนะพล ตัณฑโกศล หรือ น้องหว้า” ตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ (COO) หนุ่มวิศวกรก็ได้ไปเรียนด้านโลจิสติกส์เพิ่มเติม โดยทั้งคู่มองว่า ระบบโลจิสติกส์หรือการขนส่งของไทยมีประสิทธิภาพค่อนข้างต่ำและเมื่อไปดูข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก ก็พบตัวเลขที่น่าตกใจว่า มีรถตีเที่ยวเปล่ากลับสูงมากถึง 40% ซึ่งหากประเมินเป็นค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ ปีหนึ่งๆ จะตกอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทเลยทีเดียว จึงคิดหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว สุดท้ายมาลงตัวด้วยแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้ดีมานส์ กับซัพพลาย ได้มาเจอกันอย่างลงตัวในวงการขนส่งของไทย โดยแพลตฟอร์มโลจิสตี้ “นายวาริทช์ ลิ่มวิบูลย์ หรือ น้องโอม” เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ขึ้น กับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี (CTO)
"จากเดิมความต้องการใช้รถ และสินค้าสำหรับขนส่งในแวดวงโลจิสติกส์ไม่ตรงกัน บางครั้งมีความต้องการรถเพื่อการขนส่ง แต่จำนวนรถก็ไม่มากพอ ในขณะที่บางบริษัทก็ต้องการงานให้กับรถตัวเอง เพราะไม่ต้องการตีรถเที่ยวเปล่ากลับ ก็หาสินค้าเพื่อขนส่งกลับไม่ได้ ซึ่งถือเป็นค่าเสียโอกาสที่มหาศาล พวกเราจึงคิดว่าหากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยน่าจะทำได้และในต่างประเทศ ก็มีการนำมาใช้ในระบบขนส่งกันอย่างแพร่หลาย เพื่อทำให้ความต้องการใช้รถและขนส่งสินค้า ได้มาเจอกันในห้วงเวลาที่มีความต้องการใช้งานของทั้งสองฝ่าย"
แพลตฟอร์มโลจิสตี้ ได้เริ่มใช้งานเมื่อประมาณปลายปี 61 โดยมีการปรับแก้ระบบ และขั้นตอนการใช้งานให้ง่ายและสะดวกต่อผู้ประกอบการให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ถือว่าลงตัว โดยกระบวนการพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ ทั้ง 3 หนุ่ม ได้สอบถามถึงความต้องการด้านการใช้งานกับบริษัทโลจิสติกส์โดยตรงซึ่งมีการปรับแก้กันอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัญหาด้านการนำไปใช้งานสำหรับผู้ประกอบการถือว่าเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไข เนื่องจากเมื่อมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบโลจิสติกส์ผู้ประกอบการบางราย อาจจะยังไม่เข้าใจในเทคโนโลยีดังกล่าว ดังนั้นในช่วงแรกทั้ง 3 คน จึงทำการบ้านอย่างหนักโดยการเข้าไปพูดคุยกับผู้ประกอบการทีละเจ้า เพื่อให้เห็นข้อดีของการใช้งานแพลตฟอร์มดังกล่าว โดยยังมีการเปิดให้ใช้ฟรีในช่วงระยะนี้ไปก่อน แต่ต่อไปอาจจะมีการเก็บค่าบริการประมาณเดือนละ 1,000 บาทเท่านั้น ซึ่งถือเป็นราคาที่คาดว่าผู้ประกอบการรับได้และคุ้มค่ากับการใช้แพลตฟอร์มดังกล่าว ที่เข้ามาช่วยในระบบขนส่งของธุรกิจตนเอง
ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการขนาดกลางเล็กและขนาดใหญ่ ให้ความสนใจในแพลตฟอร์มนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ลงทะเบียน เปิดใช้งานแล้วประมาณ 20 กว่าบริษัท รวมถึงยังได้ร่วมมือกับภาครัฐฯ สมาคมขนส่งทางบก สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันพัฒนาแบบฟอร์มดังกล่าวให้ดียิ่งขึ้นเนื่องจากทุกคนมองว่าแพลตฟอร์มนี้มีประโยชน์ ไม่ใช่เฉพาะแค่ผู้ประกอบการเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศชาติด้วย
ขณะที่การเริ่มต้นใช้งานมีการเปิดให้บริการฟรีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจ ต้องลงทะเบียน และรายละเอียดของบริษัทให้ครบถ้วน เบื้องต้นจะเน้นบริษัทที่จดทะเบียนนิติบุคคลอย่างถูกต้องก่อน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น หรือบริษัทต้องได้รับมาตรฐาน Q Mark, ISO หรือเป็นสมาชิกจของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย หรืออย่างใดอย่างหนึ่งก็สามารถใช้บริการได้
ส่วนการใช้งานสำหรับผู้ประกอบการด้านขนส่ง เรียกว่า ‘ง่ายมาก’ ไม่ต่างจากการเรียกใช้บริการแท็กซี่ กับบริษัทชื่อดัง กล่าวคือ ถ้าต้องการเรียกบริการรถขนส่งก็เพียงไปโพสต์ไว้ในบอร์ด แล้วจะมีฝั่งที่มีรถเปล่ารองานขนส่งอยู่ หากสามารถรับงานได้ก็แค่กดรับ ถือว่าได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย และยังมีรายได้เพิ่มจากการนำเทคโนโลยีมาเชื่อมต่อ แล้วย่อโลกให้เล็กลง
“ในช่วงนี้เรายังเปิดให้บริการฟรี แต่ต่อไปอาจจะเก็บเป็นค่าสมาชิก ประมาณบริษัทละ 1,000 บาท/เดือน เท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ไม่แพงเลย ผู้ประกอบการจับต้องได้ ไม่ต้องตัดสินใจนาน เพราะเราต้องการให้วงการโลจิสติกส์ของไทย ได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อช่วยพัฒนาวงการขนส่งของไทยสู่ 4.0 ให้ทัดเทียมต่างชาติ ซึ่งแต่เดิมทางกรมการขนส่ง ก็เคยคิดจะทำระบบดังกล่าว แต่ไม่เป็นที่นิยมมากนัก หรือมีบริษัทเอกชน ก็เคยทำธุรกิจในลักษณะนี้ แต่เป็นลักษณะนายหน้าหางานให้มีการหักเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับโลจิสตี้ จะปล่อยให้ผู้ประกอบการทั้ง 2 ฝ่าย เชื่อมกันเองโดยอิสระ จึงกลายเป็นผู้ประกอบการรายแรกในไทยที่คิดค้นแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา”
ตั้งเป้าจะมีผู้ประกอบการที่เข้ามาใช้แพลตฟอร์มโลจิสตี้ภายในสิ้นปี 2562 ประมาณ 100 ราย ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงการทดสอบระบบกับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายก่อน และในปี 2563 จะทำตลาดอย่างจริงจังมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์มากขึ้นเพื่อให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งหากแพลตฟอร์มนี้ลงตัว และได้รับความนิยมเป็นอย่างดีจากผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ไทย ก็จะขยายตลาดไปประเทศเพื่อนบ้านรองรับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะยิ่งการขนส่งข้ามประเทศ และมีการตีรถเที่ยวเปล่าจะเป็นปัญหาที่หนักยิ่งขึ้น กับการที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระด้านพลังงานเชื้อเพลิงในการตีรถเปล่ากลับ
“ที่ผ่านมาถือว่ายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ต้องปรับตัวทั้งในส่วนของผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม และผู้ประกอบการ โดยมีผู้ประกอบการที่มีความคิดเห็นตรงกันก็จะเลือกใช้แพลตฟอร์มโลจิสตี้ ทำให้มีผู้ลงทะเบียนใช้งานจริงประมาณ 20 ราย เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางมีรถขนส่งประมาณ 40-50 คัน และยังมีผู้ประกอบการที่ยื่นความจำนงเข้าใช้งานอีกประมาณ 50 ราย แต่ยังติดปัญหาเรื่องเอกสาร ทำให้เราเชื่อมั่นว่าแม้จะเป็นเทรนด์ใหม่ในแวดวงโลจิสติกส์ แต่ก็มีผู้ประกอบการที่ต้องการแพลตฟอร์มลักษณะนี้เข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจให้เติบโต ดังนั้นการจะทำให้โลจิสติกส์ไทยสู่ 4.0 จึงไม่ใช่เรื่องยาก”
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังมาแรง ภาคการขนส่งก็ไม่มีวันตาย แล้วยิ่งนำเทคโนโลยีมาเสริมแกร่งก็ยิ่งเพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการ สร้างสังคมด้านโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น เพราะผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ในระบบด้วยความเต็มใจ เพื่อธุรกิจของตนให้มั่นคงและยั่งยืน