ยูทูปเบอร์ชื่อดัง ช่อง “BEARHUG” ที่ถ่ายทอดไลฟ์สไตล์ด้านอาหารกว่า 3 ปี สู่การเปิดร้านชานมไข่มุกที่มีการต่อแถวซื้อยาวที่สุดในขณะนี้ กับร้าน “BEARHOUSE” จากความหลงใหล สู่การลงมือทำ สร้างความแตกต่างแหวกตลาดด้วยไข่มุกสูตรพิเศษที่คิดค้นขึ้นเอง เรียกว่า ไข่มุกโมจิ จากส่วนผสมของแป้งข้าวไทย พร้อมคอนเซ็ปต์ “เรียบง่ายแต่แตกต่าง” (Simple but Significant)
นางสาวปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช (ซารต์) ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด เจ้าของร้านชานมไข่มุก BEARHOUSE Fresh Boba Milk Tea เล่าว่า ตลอดเวลาที่ทำรายการ ในช่องทางยูทูป ได้ไปพบเจอกับอาหารและเครื่องดื่ม ที่หลากหลาย รวมไปถึง ชานมไข่มุกที่ประเทศไต้หวัน จึงเกิดความคิดว่าทำไม เราจึงไม่ทำชานมไข่มุกแบรนด์คนไทยให้คนต่างชาติต่อแถวรอซื้อบ้าง จึงเริ่มชักชวน นายอรรถกร รัตนารมย์ (กานต์) มาเริ่มต้นทำร้านชานมไข่มุกเป็นของตัวเองขึ้นมา
“เนื่องจากเราได้เดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง และเราก็เป็นหนึ่งในคนที่ไปต่อแถวร้านอื่นๆ เราก็เลยอยากจะมีร้าน ร้านหนึ่งที่สามารถสร้างความสุขให้คนอื่น แต่ไม่ใช่ว่าอาชีพยูทูปเบอร์ไม่ดี แต่คิดว่าการลงมือทำสิ่งต่างๆ คือการเรียนรู้ โดยที่ไม่มีใบปริญญา บ่อยครั้งก็คิดว่าเราจะจบด้วยสิ่งนี้เลยหรือ แต่แล้วเราก็สร้างความฝันเพิ่มอีกอย่างหนึ่งดีกว่า”
จนออกมาเป็น ร้านชานมไข่มุก BEARHOUSE Fresh Boba Milk Tea ภายใต้คอนเซ็ปต์ “เรียบง่ายแต่แตกต่าง” (Simple but Significant) โดยสาขาแรกลงทุนประมาณ 8 ล้านบาท แบ่งการลงทุนหลักๆ ออกเป็น 3 ส่วน โดยในส่วนที่ 1 เป็นครัวกลางและเครื่องจักรเพื่อการผลิตไข่มุกสด รวมถึงการจัดเตรียมวัตถุดิบต่างๆ ส่วนที่ 2 เป็นการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และในส่วนที่ 3 เป็นการรีโนเวท ตกแต่ง และค่าอุปกรณ์ภายในร้าน
ท่ามกลางตลาดชานมไข่มุก ที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือด ด้วยพื้นที่ตั้งของร้าน สยามสแควร์ ริมถนนอังรีดูนังต์ เต็มไปด้วยร้านชานมไข่มุกหลากแบรนด์ หลายสัญชาติ แต่ร้าน BEARHOUSE ไร้ความกังวลในเรื่องของคู่แข่งเนื่องจาก ผู้ก่อตั้งทั้ง 2 จะไม่นำร้านของตนเองไปเปรียบเทียบกับร้านอื่นๆ เนื่องจากเชื่อว่าแต่ละร้านมีจุดเด่นของแบรนด์อยู่แล้ว สำหรับ BEARHOUSE ก็ชูจุดเด่น สร้างความหลากหลาย สร้างทางเลือก ให้กับลูกค้า ด้วย ไข่มุกโมจิ ที่มีส่วนผสมของแป้งข้าวไทย โดยใช้เวลาทดลองนาน 6-7 เดือน ซึ่งยังไม่มีร้านไหนเคยได้ทำมาก่อน
ความพิเศษของไข่มุกที่ทำให้ต่างจากที่อื่นๆ คือ ความผสมความเป็นแป้งข้าวไทยเข้าไป โดยไม่ใส่สี ใส่กลิ่นเพิ่ม คงความเป็นเอกลักษณ์ของแป้งข้าวไทย ทั้งสีที่ขาวนวล กลิ่นของข้าว ซึ่งไข่มุกโมจินี้ ทางร้านจะทำสดใหม่ทุกวัน สูตรของไข่มุกโมจินี้เป็นการคิดค้น และทดลองผสมส่วนผสมต่างๆ จนกลายมาเป็นไข่มุกโมจิ ขนาด 7 มิลลิเมตร สูตรพิเศษของทางร้าน ให้รสชาติ และสัมผัสที่ต่างจากไข่มุกทั่วไป เคี้ยวนุ่ม และมีความหนึบ รวมไปถึงกลิ่นที่มีความคล้ายกลิ่นโมจิ
โดยไข่มุกโมจิ มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 70-80 กิโลกรัม / วัน ส่วนตอนนี้ ทางร้านมีรสชาติ ชาให้เลือกทั้งชานมมะลิ, ชาไทยต้นตำรับ, ชาดำอัสสัม, ชาฟองมะลิ และเมนูที่ขายดี คือ ชานมแบร์เฮาส์, นมน้ำตาลแดงแบร์เฮาส์, พรีเมี่ยมมัทฉะลาเต้ และช็อคโกแลตลาเต้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังมีเมนูใหม่ออกมา คือ ไอศกรีมชาอัสสัม 100 ปี ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ได้ไปทดลองแล้วชอบ จึงนำมาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต
“ไข่มุกของทางร้านเรา จะแตกต่างจากร้านอื่นๆ ตรงที่ร้านของเรามีส่วนผสมที่มาจากแป้งข้าวไทย พวกเราคิดค้น ผสมส่วนผสมทุกขั้นตอน ทดลองทุกกระบวนการของการทำไข่มุก จนได้ลงไปเรียนทำไข่มุกสดกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำไข่มุกสด ถึงจังหวัดเชียงใหม่ ที่เมื่อ 10 กว่าปีก่อนร้านนี้เป็นร้านดัง ในการทำชานมไข่มุกที่ปั้นสดใหม่ทุกวัน เราลงทุนไปเรียนรู้กันเองทั้งหมด”
ทั้งนี้ร้าน BEARHOUSE เปิดเป็นร้านภายใต้การจดทะเบียนของ บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด โดยซารต์อยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ และกานต์เป็นผู้จัดการทั่วไป โดยบริษัทจะมี ทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ อยู่ 3 คน โดยแนวทางของทางร้าน คือจะทำอย่างไรแล้วจะยั่งยืน ไม่ได้คิดเพียงแค่ว่าทำให้เป็นกระแสแล้วจบไป แต่ยังสามารถพัฒนาในส่วนอื่นๆ และยังสามารถสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน และวัตถุดิบของไทย ให้เกิดผลดีต่อไปอีกด้วย
“ร้าน BEARHOUSE เป็นเพียงน้องใหม่ของตลาดชานมไข่มุก การมีผู้เล่นที่หลากหลายจะช่วยสร้างสีสันใหม่ๆ ในตลาด ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้ แบร์เฮาส์ มองว่าเราไม่มีคู่แข่งในการทำธุรกิจ แต่มองว่าร้านชานมทุกร้านเป็นพันธมิตรกับเรา บางร้านก็มีในสิ่งที่เราไม่มี และเราก็เป็นลูกค้าร้านอื่นด้วยเช่นกัน เราไม่ได้เปิดร้านมาเพื่อที่ต้องการจะฆ่าใคร เพียงแต่เป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคเท่านั้น ในขณะที่เครื่องดื่มไม่ได้เน้นรสชาติเข้มข้นในคำแรก แต่เน้นดื่มได้เรื่อยๆ เพราะอยากทำร้านชานมไข่มุกที่สามารถดื่มได้ทุกวัน ซึ่งชานมไข่มุกเป็นเพียงก้าวแรกของความฝันเท่านั้น”
ด้านผลตอบรับหลังจากที่มีการ Soft Opening ไปเมื่อวันที่ 9 เมษายน ผลตอบรับค่อนข้างดี มียอดขายเฉลี่ยประมาณ 700-800 แก้วต่อวัน ลูกค้าชื่นชอบและติชมมาในช่องทางโซเชียลตลอด โดยหลังจากนี้ที่เปิดอย่างเป็นทางการ คาดว่าจะสามารถทำยอดขายเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 แก้วต่อวัน และคาดว่าในปี 2562 จะมีรายได้จากการขายประมาณ 15 ล้านบาท
ในอนาคต BEARHOUSE สาขาสยามสแควร์ ริมถนนอังรีดูนังต์ จะขยายพื้นที่ขึ้นไปยังชั้น 2 และ 3 เป็นส่วนของร้าน ส่วนชั้นที่ 4 จะเปิดเป็นแลปทดลอง นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะขยายสาขาในรูปแบบ Full Scale ประมาณ 5 สาขาภายใน 2 ปี ส่วนการขยายโดยแฟรนไชส์ ก็มีหลายคนที่ติดต่อมา แต่ทาง BEARHOUSE ก็ยังไม่ได้ตอบรับไป เนื่องจากยังต้องพัฒนาในหลายๆ ด้าน เพิ่มเติมจุดที่ยังบอกพร่อง ให้ดีที่สุดก่อน นอกจากนี้ยังต้องการให้ได้รับมาตรฐานการรับรองทั้ง GMP หรือแม้กระกระทั่งฮาลาล อีกด้วย
“การทำยูทูปเบอร์ อาจจะไม่ได้เป็นอาชีพที่มั่นคง เพราะสักวันหนึ่งเราก็อาจจะต้องแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ มันกลายเป็นว่าการที่เรามาเริ่มทำร้าน แบร์เฮาส์ กลายเป็นตัวจุดไฟให้เรา ไปผลิตเนื้อหาในช่องยูทูปให้ดีกว่าเดิม ได้เข้าถึงและเข้าใจวัตถุดิบได้ดีกว่าเดิม มีสิ่งที่ทำให้สนใจมากขึ้น เช่นจากการทำร้าน เราสนใจทั้งในด้าน การก่อสร้าง การหาวัตถุดิบ แนวคิดของเจ้าของร้าน ซึ่งหลังจากนี้การผลิตเนื้อหาในยูทูปมันก็จะลึกลงไป ไม่ได้มองอาหารเป็นแค่อาหารเพียงอย่างเดียวแล้ว เราอาจจะมองลึกลงไปกว่านั้น หรือถ้าหากยูทูปเบอร์เป็นอาชีพที่มั่นคงจริงๆ ถึงอย่างไรพวกเราก็ยังจะเปิดร้าน BEARHOUSE อยู่ดี”
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *