xs
xsm
sm
md
lg

“บ.ซันฟิลเตอร์” ผู้ผลิตไส้กรองแบรนด์ระดับโลกฝีมือคนไทย ถ่ายทอด ลดต้นทุนด้วยโลจิสติกส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายคเณศ รตะพิพัฒน์ Chief Openrating Officer (CEO) บริษัท ซันกรุ๊ป จำกัด และบริษัท ซัน ฟิลเตอร์ จำกัด
ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนในวงการอุตสาหกรรมรถยนต์จำเป็นจะต้องปรับตัว เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และหนึ่งในนั้นคือ การลดต้นทุนการผลิต โดยการเข้าร่วมโครงการ “โครงการเพิ่มศักยภาพของ SMEs ด้วยโปรแกรมประยุกต์ (Software) หรืออุปกรณ์เครื่องมือ (Hardware) ในงานด้านโลจิสติกส์” ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

สำหรับ บริษัท ซันฟิลเตอร์ จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตไส้กรองน้ำมันเครื่อง ไส้กรองอากาศ ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิง ไส้กรองน้ำมันไฮดรอลิก และไส้กรองเครื่องปรับอากาศ ครอบคลุมรถทุกประเภททั้งรถยนต์ รถบรรทุก รถเกษตร รถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เรือ และเครื่องจักรกลหนัก ภายใต้แบรนด์ “FIL” โดยมีสินค้ามากกว่า 500 รายการ “FIL” เป็นผลิตภัณฑ์ไส้กรองที่ได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จำหน่ายทั้งในประเทศและส่งออกมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก

นายคเณศ รตะพิพัฒน์ Chief Openrating Officer (CEO) บริษัท ซันกรุ๊ป จำกัด และบริษัท ซัน ฟิลเตอร์ จำกัด กล่าวว่า “ซันฟิลเตอร์เริ่มต้นทำธุรกิจจริงๆ ก่อนปี 1995 เราจดทะเบียนน่าจะปี 1997 c และภายในปี 2001 เราสร้างแบรนด์ของตัวเองแล้ว จากนั้นเราได้ ISO2001 เป็นเจ้าแรกๆ ของประทศไทย แล้วก็ได้ มอก.ได้รับรางวัลจากกรมส่งเสริมการส่งออก ตอนนั้นยังใช้ชื่อว่าไทยแลนด์แบรนด์ ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนมาเป็น ThailandTrust Mark โดยกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเราได้รับรางวัลนี้ถึง 2 ครั้ง นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัล Prime inister’s Export Award และรางวัลจากต่างประเทศอีกหลายรางวัล อาทิ รางวัลด้านการบริหารและควบคุมภาพ Quality”

“เมื่อก่อนเราไม่มีแบบแผนในการจัดเก็บสินค้าที่มันชัดเจน วางของมั่วเกะกะไปหมดเลยอยากวางตรงไหนก็วาง แต่เดิมที่เราเก็บเริ่มต้นเราใช้ระบบไฟล์โฟ คือว่าพอเราผลิตเสร็จปุ๊บ อะไรที่ผลิตเสร็จวันนี้เราก็จะนำไปไว้ข้างหลัง เข้าก่อนใช้ก่อน พอเข้าหลังก็ใช้หลัง แต่เป็นอย่างนั้นปุ๊บก็กลายเป็นว่าเราเรียงของตามโปรดักชันล็อกเราไม่ได้เรียงของตาม SKU มันก็เลยเป็นปัญหากับพนักงาน

ถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ จะมีคุณภาพจนได้รับการยอมรับจากทั่วโลกในเวลานั้น แต่คเณศบอกว่ายังมีปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่สองอย่าง คือ หนึ่ง สินค้าที่ขายได้น้อยเต็มโกดัง สินค้าที่ขายดีขาดสต๊อกตลอด และที่แย่กว่านั้นคือ ทุกเดือนสินค้าที่เต็มโกดังกับสินค้าที่ขาดตลอดยังไม่เหมือนกันสักเดือนด้วย

บริษัทฯ ก็มิได้หยุดนิ่งต่อการพัฒนาศักยภาพของธุรกิจ ในปี 2561 ซันฟิลเตอร์จึงได้เข้าร่วม “โครงการเพิ่มศักยภาพของ SMEs ด้วยโปรแกรมประยุกต์ (Software) หรืออุปกรณ์เครื่องมือ (Hardware) ในงานด้านโลจิสติกส์” โดยกองโลจิสติกส์ กรมส่งสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้รวดเร็วถูกต้องขึ้น และลดต้นทุนการถือครองสินค้าที่ไม่จำเป็นลงได้อย่างน่าพึงพอใจ

“คือจริงๆ แล้วก่อนผมเข้าโครงการ ผมยังเถียงกับเจ้าของโครงการอยู่เลยว่าคุณจะให้ผมเข้าโลจิสติกส์ทำไม ผมไม่ได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับโลจิสติกส์ แล้วผมไม่ได้จัดส่งเอง ผมจ้างให้คนอื่นไปจัดส่งให้ แล้ว ผศ.ดร.ไพฑูรย์ ศิริโอฬาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ก็อธิบายจนผมเข้าใจ และตอนนั้นผมมีปัญหาเยอะที่สุดคือเรื่องของสต๊อกบวม อาจารย์ก็ถามผมว่าสต๊อกบวมคุณแก้ปัญหายังไง ผมก็บอกก็พยายามขายมันสิครับ อาจารย์บอกแล้วถ้าเกิดคุณแก้ปัญหามันตั้งแต่ต้นตอล่ะ ไม่ผลิตเยอะจนสต๊อกบวม มันไม่ดีกว่าเหรอ

อาจารย์บอกนี่แหละโลจิสติกส์ ถ้าเกิดคุณสามารถบริหารโลจิสติกส์ได้ดีปัญหานี้มันก็คงไม่เกิดตั้งแต่ตอนแรก” คเณศเล่า ตอนนี้เขากำลังดำเนินการวางแผนพัฒนาอยู่สามเรื่อง แผนหนึ่งคือ จัดระบบเพื่อลดปัญหาให้สต๊อกบวมน้อยที่สุด โดยสินค้าที่ขายได้น้อยก็จะผลิตน้อย สินค้าที่ขายได้เยอะก็ผลิตเยอะและให้รอบผลิตสัมพันธ์กับรอบส่งออก แผนที่สองคือ เรื่องของเอสเคยู SKU (Stock Keeping Unit) และแผนที่สามที่ได้จากเรื่องของโลจิสติกส์ที่บริษัทฯ ได้นำโปรแกรม “มินิเทพ” ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จาก ผศ.ดร.ไพฑูรย์ ศิริโอฬาร สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มาใช้ดำเนินการวางแผนการผลิต แผนการจัดเก็บสินค้าคงคลัง ทำให้ทราบฤดูกาลในการขายสินค้าแต่ละรายการ ทำให้สามารถลดกำลังการผลิตและเพิ่มกำลังการผลิตในสินค้าแต่ละรายการได้เหมาะสมตามช่วงเวลา

พออาจารย์ไพฑูรย์เข้ามา อาจารย์ก็แนะนำว่าให้รื้อสต๊อกใหม่ทุกกล่องและทำสต๊อกใหม่จัดเก็บใหม่ ในนั้นเราเจอสินค้าที่เราลืมไปแล้ว ทำบัญชีไว้แล้วแต่หาไม่เจอซ่อนอยู่ข้างหลัง เราเจอสินค้าที่เสียหายเยอะมากเพราะว่าเก็บไว้นาน ตอนหลังเราเลยบริหารจัดการใหม่ตามที่อาจารย์แนะนำโดยวางระบบการจัดเก็บใหม่ หัวใจของการจัดเก็บของที่นี่ก็คือการทำแผนที่ ง่ายๆ เลย พอเรามีแผนที่ มันง่ายขึ้นมาก เราจะเบิกสินค้าเราก็เปิดมันก็จะบอกเลยว่านี้ผลิตในปีนี้ ใครไปหยิบก็ได้ เดิมต้องรอให้หัวหน้าชี้ อันนี้อยู่ตรงนี้ ตรงนั้นไม่ทันครับ ผิดพลาดเยอะมาก”

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ใช้การจัดการสินค้าคงคลังแบบ ABC ในการแบ่งสินค้าคงคลังเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท A เป็นสินค้าสำเร็จรูปที่ต้องห้ามขาด ประเภท B สามารถขาดได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ และประเภท C ให้ทำการผลิตในช่วงที่มีกำลังการผลิตเหลือ ซึ่งทำรายได้ให้กับบริษัทเพียง 5% ช่วยลดค่าเสียโอกาสในการขายได้ คิดเป็นมูลค่า 3.4 ล้านบาท

คเณศยังกล่าวในตอนท้ายอีกว่า การทำธุรกิจสิ่งที่สำคัญจะต้องรักษามาตรฐานของคุณภาพและการบริการที่ดีไว้ต่อเนื่อง การแข่งขันในปัจจุบันนับวันรุนแรงขึ้น ในอนาคตสิ่งที่จะต้องทำ คือ ขยับไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นในธุรกิจอะไหล่รถยนต์ และมุ่งศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตอะไหล่ป้อนรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการรับฝากขายสินค้าในธุรกิจรถยนต์ โดยอาศัยเครือข่ายที่มีฐานการตลาดอยู่แล้วต้องต่อสู้ด้วยนวัตกรรมและการให้บริการที่เหนือชั้นมากขึ้น

“เพราะตอนนี้โลกหมุนไปเร็วมาก SMEs รุ่นใหม่จึงต้องวิ่งให้เร็ว ขยัน มุ่งมั่น อดทน ถึงจะไปได้ไวและไกลกว่าคนอื่น”

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น