กระแสการวิ่ง เรียกว่า แรงดีไม่มีตกคนรุ่นใหม่ต่างหันมาวิ่ง เพื่อดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสคนดังอย่างพี่ตูน แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนไม่น้อย ยังขาดแรงจูงใจในการออกกำลังกาย ด้วยเหตุผลข้อจำกัดมากมาย ทำให้ นักศึกษาปี 4 น้องใหม่ในวงการสตาร์ทอัพ ปิ๊งไอเดียทำแอปพลิเคชัน "Checkpoint" (เช็คพ้อยท์) ออกกำลังกาย ด้วยการก้าวเดินพร้อมสะสมก้าวแลกคูปองส่วนลดกับร้านค้าพันธมิตร หวังสร้างแรงจูงใจให้ ผู้คนทุกเพศทุกวัยสามารถออกกำลังกายได้ทุกที่และทุกเวลาด้วยการเดิน
อย่าคิดว่าเป็นไปไม่ได้กับไอเดียที่คิดกันเล่นๆ เพราะวันนี้หากไอเดียเหล่านั้นอยู่ถูกที่ถูกทางและได้รับโอกาสจากผู้มีประสบการณ์และความพร้อมก็สามารถผลักดันให้กลายเป็นจริงได้ อย่างสตาร์ทอัพเด็กรุ่นใหม่ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้มารวมตัวกันปลุกปั้นแอปพลิเคชัน ที่ชื่อว่า “Checkpoint” เอาใจคนที่มัก ‘อ้าง’ ว่าไม่มีเวลาออกกำลังกายให้หันมาเริ่มจากการเดินเพื่อแลกคูปองส่วนลด หรือผลิตภัณฑ์กับร้านค้า ที่เข้ามาร่วมโปรเจคดังกล่าว หรือให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ ‘การเดินเพื่อเก็บแต้มแล้วนำไปแลกของรางวัลนั่นเอง’
ทีม "Checkpoint" เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดกับทีม นักศึกษาที่จัดทีมกันแค่ 4 คนนำเสนอไอเดียบนเวทีสตาร์ทอัพที่ทางธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆ ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาอันเป็นประเด็นทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน ซึ่งทีม "Checkpoint" ได้รางวัลชนะเลิศและได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับพัฒนาโซลูชั่นต้นแบบและการนำมาประยุกต์ใช้จริง
ไอเดียนี้เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 3 คน ได้แก่ นายภูสิน พ่วงดี (เอิร์ธ) นายกันทกานต์ มาลัยแดง (อุ๊บ) นายปิยวัฒน์ วงศ์สวัสดิ์ (เอ็ม) ลองนำไอเดียที่คิดกันเล่นๆ กับการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchin) หรือระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ มาปรับใช้กับข้อมูลเวชระเบียนคนไข้ของโรงพยาบาล และเมื่อนำไอเดียไปนำเสนอบนเวทีก็ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการว่าเป็นโครงการที่ใหญ่เกินไป น่าจะหาไอเดียใกล้ตัวและตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในสังคมได้
ทำให้พวกเขาต้องกลับมาขบคิดกันอีกรอบเพื่อนำไอเดียไปนำเสนอในวันถัดไป พร้อมได้เพื่อนสมาชิกใหม่ 1 คน คือ “นายพีรวัส เตียวเจริญ” หรือ เอ็ม จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เดินทางมาร่วมงานคนเดียวแต่สนใจไอเดียของเพื่อนสมาชิกกลุ่มนี้ จึงร่วมขอเดินตามฝันสู่การเป็นสตาร์ทอัพ
ระยะเวลาเพียง 1 คืนกับอีกครึ่งวัน ไอเดียแอปพลิเคชัน Checkpoint ก็เกิดขึ้น จากการตั้งคำถามง่ายๆ ว่าแต่ละคนเคยเจอปัญหาอะไรมาบ้าง และมีวิธีแก้ไขกันอย่างไร หนึ่งในนั้นคือ ต้องการออกกำลังกาย หลังจากน้ำหนักเริ่มเพิ่มขึ้น แต่อุปสรรคที่สำคัญคือ ไม่มีเวลา ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร และไม่มีสถานที่ออกกำลังกายที่สะดวก ประกอบกับในช่วงนั้นกระแสการวิ่งของ “พี่ตูน” โครงการก้าวคนละก้าวกำลังมาแรง จึงนำมาตั้งเป็นโจทย์ และพัฒนาเป็นแอปบลิชัน Checkpoint เป็นการเดินเพื่อนำจำนวนก้าวที่สะสมไปแลกเป็นขอบรางวัลตามร้านค้าที่โครงการ รวมถึงยังสามารถปรับรูปแบบ
“พวกเราเริ่มจากการตั้งคำถามว่าอะไรเป็นอุปสรรคต่อการออกกำลังกายของคนไท ก็พบว่าส่วนใหญ่ ‘ขาดแรงจูงใจ’ โดยเฉพาะในขั้นเริ่มต้นที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าการออกกำลังกายจะต้องไปฟิตเนส หรือไปเล่นกีฬาเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงคนเรามีกิจกรรมที่ช่วยขยับร่างกายได้ง่ายๆ อยู่แล้ว คือ การเดิน ที่ผู้คนทุกเพศทุกวัยทำกันเป็นประจำอยู่แล้ว ทางทีมจึงหาวิธีที่ช่วยกันเปลี่ยนให้การก้าวเดินในชีวิตประจำวัน ให้สามารถเดินได้มากขึ้น จากการสร้างแรงจูงใจในการเก็บสะสมจำนวนก้าวเพื่อแลกของรางวัล ตามร้านกาแฟ ร้านอาหาร หรือฟิตเนส”
ส่วนการแบ่งหน้าที่การทำงาน ทีม Checkpoint ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนตามความถนัดของแต่ละคน ได้แก่ น้องเอิร์ธ ภูสิน ถูกวางตำแหน่งเป็น Developer and System Analyst น้องอุ๊บ กันทกานต์ เป็น Developer น้องเอ็ม ปิยวัฒน์ ทำหน้าที่ Developer and Researcher และน้องเอ็ม พีรวัส เป็นผู้ออกแบบรูปลักษณ์ของแอปบลิชันให้สวยงาม และทำหน้าที่ด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และทำการตลาดให้แอปบลิเคชั่นเป็นที่รู้จัก ซึ่งตรงกับสายงานที่เรียนมา ถือเป็นทีมงานที่มีส่วนผสมกันอย่างลงตัวทำให้แอปบลิชั่น Checkpoint ขับเคลื่อนอย่างราบรื่นไม่มีสะดุด และทำให้จากไอเดียในกระดาษ กลายเป็นจริงและสามารถสร้างรายได้ โดยพวกเขาใช้เงินลงทุนเบื้องต้นในการพัฒนาไอเดียดังกล่าวให้ใช้งานได้จริงประมาณ 40,000 บาท
ส่วนโซลูชั่นแอปพลิเคชัน ‘CHECKPOINT’ ที่จะช่วยสะสมก้าวเดินให้มีค่าเปรียบเสมือนค่าเงิน 1,000 ก้าว มีค่าเท่ากับ 1 บาท ที่สามารถนำไปแลกเป็นสินค้าหรือโปรโมชั่นกับร้านค้าที่ร่วมรายการได้ง่ายและฟรี เพื่อเป็นแรงจูงใจในการออกกำลังกาย และยังสามารถนำก้าวเดินที่สะสมได้ไปร่วมบริจาคกับโครงการช่วยเหลือสังคมต่างๆ เพื่อร่วมแบ่งปันให้กับคนในสังคมได้ด้วย
เมื่อถามถึง ‘รายได้’ ที่จะได้ทีมงานจะได้รับกับแอปพลิเคชัน ‘CHECKPOINT’ เพราะคนทั่วไปโหลดใช้งานได้ฟรีนั้น หนึ่งในสมาชิก บอกว่า จะได้รับจากสปอร์นเซอร์และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการโปรโมทผ่านแอปฯ และอีกส่วนหนึ่งมาจากการออกแบบแอปพลิชันเฉพาะกับองค์กรนั้นๆ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ พนักงานได้ออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมเฉพาะ พวกเขาก็สามารถออกแบบให้ได้ อย่างล่าสุด ก็ได้รับโอกาสอีกครั้ง จากธนาคารกรุงเทพให้ออกแบบ เส้นทางการเดินตามรูปแบบที่กำหนดให้กับเจ้าหน้าที่ธนาคารฯ โดยเฉพาะ
นอกจากนี้ในอนาคตจะจัดกิกรรมการเดิน คล้ายการวิ่งที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ เวลานี้ ตามเส้นทางที่กำหนด แต่ละจุดพักก็จะมีกิจกรรมให้ร่วมเล่น คล้ายการลากเส้นต่อจุด โดยกำลังเตรียมจัดกิจกรรมการวิ่งร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 4 ในโอกาสครบรอบ 85 ปี ที่ใกล้ถึงนี้ โดยอยู่ในขั้นตอนการออกแบบร่วมกัน
ขั้นตอนการใช้งาน แอปพลิเคชัน ‘CHECKPOINT’ สามารถดาวน์โหลดได้ในวันที่ 24 มิ.ย. ในระบบ iOS และ Android เพียงสมัครสมาชิกด้วยอีเมล์ หรือเฟซบุก จากนั้นก็เริ่มเก็บก้าวได้ทันที และมีการคูปองของบรรดาพาร์ทเนอร์ให้เช็คข้อมูลจำนวนก้าว โดยพวกเขาคาดว่ากลุ่มที่สนใจนอกจากจะเป็นรุ่นใหม่ คนวัยทำงานแล้ว จะได้ผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ก็ใช้สมาร์ทโฟนกันเป็นจำนวนมาก โดยตั้งเป้าภายใน 62 จะมีผู้ดาวน์โหลดและใช้งานจำนวน 100,000 ราย จากการจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง รายการใหญ่ๆ ที่จะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แม้จะเป็นธุรกิจแรกในชีวิตของสมาชิกในทีมทั้ง 4 คน แต่พวกเขาก็คาดหวังว่าแอปพลิชันนี้ ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก ตราบใดที่คนยังรักและใส่ใจในสุขภาพ รวมถึงมองไกลไปต่างประเทศ เพราะกระแสการเดิน-วิ่ง ผู้คนก็มีความตื่นตัวกันทั่วโลก