เมื่อพูดถึงส้มตำ มะละกอถือเป็นหัวใจหลักที่ขาดไม่ได้ในเมนูนี้ และประเทศไทยในแต่ละปีก็บริโภคมะละกอดิบจำนวนไม่น้อย ดังนั้นในฐานะผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช “บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย)” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ 'ศรแดง' จึงทุ่มเทเวลากว่า 15 ปี ปรับปรุงสายพันธุ์มะละกอส้มตำ 90 ผลเรียวยาว ไร้จีเอ็มโอ (GMO) เหมาะกับเมนูส้มตำเป็นอย่างยิ่ง แถมยังลดต้นทุนให้เกษตรกรได้ผลผลิตมะละกอเป็นต้นกะเทย ผลเรียวยาวขายได้ราคาดี หวังชิงตลาดส้มตำหมื่นร้าน จากมูลค่าตลาดมะละกอร้านอาหาร ที่นับเฉพาะประเภทร้านอาหารที่มีส้มตำเป็นเมนูหลัก ยังไม่รวมร้านส้มตำรถเข็นที่ประเมินค่าไม่ได้
เห็นกันตั้งแต่เกิดสำหรับต้นมะละกอที่ปลูกตามบ้าน แต่รู้หรือไม่การจะปลูกให้ได้ผลมะละกอลูกเรียวยาว เป็นที่ต้องการของตลาด แถมยังขายได้ราคาดีกว่าลูกทรงกลม เกษตรกรต้องลงทุนปลูก ถึง 3 ต้น เพื่อจะได้มะละกอให้ผลเรียวยาวสัก 1 ต้น หรือที่เรียกว่า “ต้นกะเทย” เพื่อจำหน่ายให้ได้ราคา นั่นล้วนเป็นที่มาของต้นทุน ค่าแรง ค่าน้ำ ค่าปุ๋ย และเวลารอนานถึง 3 เดือนกว่าจะรู้ผล ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอลืมตาอ้าปากได้ยาก เพราะทุกอย่างหมดไปกับต้นทุนการปลูกที่ต้องเสี่ยงดวง
ดังนั้นในฐานะที่ บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด (ประเทศไทย) ผู้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืช รายใหญ่ของไทย เห็นถึงปัญหาดังกล่าว ผู้บริหารจึงเกิดแนวคิดที่จะพัฒนาสายพันธุ์มะละกอใหม่ เพื่อให้ได้ผลผลิตต้นกะเทยมากที่สุด และเหมาะกับการนำไปทำเมนู 'ส้มตำ' อาหารโปรดของคนไทย ซึ่ง “นายอิสระ วงศ์อินทร์” ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด เผยว่า ประเทศไทยมีการบริโภคมะละกอดิบเป็นจำนวนมาก หากเทียบสัดส่วนจะอยู่ที่ประมาณ 45% ส่วนมะละกอสุก 55% โดยชนิดดิบจะใช้กันอย่างแพร่หลายในเมนู 'ส้มตำ' แต่กระบวนการปลูกก็ถูกจำกัดด้วยธรรมชาติ เกษตรกรต้องปลูก 3 ต้น เพื่อลุ้นให้ได้ต้นมะละกอกะเทย 1 ต้น ซึ่งต้องรอประมาณ 3 เดือน ให้ออกดอกก็จะรู้เพศ ถ้าเป็นตัวเมียจะต้องฟันทิ้ง เพราะถ้าปลูกไปก็ไม่ได้ราคาจากผลมะละกอมีลักษณะกลมตลาดไม่ต้องการ ดังนั้นจึงไม่คุ้มหากจะปลูกต่อต้องเสียทั้งเวลา ค่าแรงงาน และค่าปุ๋ย รวมถึงที่ผ่านมาเกษตรกรจะเผชิญปัญหาโรคไวรัสวงแหวน ไม่มียารักษา ทำให้เกษตรกรต้องหันมาเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผ่านมาตัดต่อพันธุกรรม ซึ่งบางประเทศไม่ให้นำเข้าจึงเสียโอกาสเจาะตลาดต่างประเทศ
ในฐานะที่บริษัทฯ มีความพร้อมในเรื่องเทคโนโลยี มีนักปรับปรุงพันธุ์พืช อย่าง “ละไม ยะปะนัน” จึงคิดพัฒนาสายพันธุ์ ที่ต้านทานโรคไวรัสวงแหวน มีเปอร์เซ็นต์เป็นต้นกะเทยสูงถึง 90% ไม่ต้องปลูกถึง 3 ต้น ไม่ผ่านการตัดต่อพันธุกรรม หรือ GMO และลำต้นไม่สูงมากนักเพื่อสะดวกในการเก็บเกี่ยว โดยใช้เวลาวิจัยเมล็ดพันธุ์นานถึง 15 ปี จากการทดลองปลูกในแปลงสาธิตและห้องแล็ป จนได้ผลผลิตเป็นที่น่าใจ ซึ่งกว่าจะเห็นผลในแต่ละรุ่นใช้ระยะเวลาประมาณเกือบ 1 ปี จนกระทั่งเมื่อเดือน มิ.ย. 61 ที่ผ่านมา ก็นำเมล็ดพันธุ์ออกสู่ตลาด ใช้ทุกช่องทางในการสื่อสารให้เกษตรกร และผู้บริโภคได้รู้จัก และนำไปทดลองปลูกเพื่อให้ได้มะละกอส้มตำ 90 ซึ่งเป็นพันธุ์ลูกผสม และเป็นผู้คิดค้นสายพันธุ์นี้เป็นแห่งแรกในโลก ทนสภาพอากาศร้อนและหนาวได้เป็นอย่างดี ปลูกได้ทุกฤดูกาล ทำให้ลดปัญหาเรื่องผลผลิตล้นตลาดลงไปได้
สำหรับมะละกอส้มตำ 90 ผลจะเรียวยาว ปลายผลแหลม คล้ายพันธุ์แขกนวลที่นิยมบริโภคแบบดิบมีแพร่หลายในตลาด เปลือกมีสีเขียวสม่ำเสมอ แต่ผลจะเล็กกว่าพันธุ์แขกนวลเล็กน้อย เหมาะกับการนำไปเป็นเมนูส้มตำ เพราะมีความหวานกรอบในตัว ให้เส้นมะละกอที่ยาว ทำให้เมนูส้มตำชวนน่ารับประทานมากขึ้น
“เป็นความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เพราะแค่เมล็ดเดียวก็ได้มะละกอกะเทยเลย ซึ่งมีผลเรียวยาวตรงตามความต้องการของตลาด แถมยังทนต่อโรคไวรัสวงแหวนศัตรูตัวฉกาจของมะละกอที่ยังไม่มียารักษาหาย จึงลดความเสียหายได้ แถมยังไม่มีจีเอ็มโอ ดังนั้นขายได้อย่างมั่นใจ และยังส่งออกได้อีกด้วย และข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ต้นไม่สูงชะรูด ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลเรื่องลมปะทะทำให้ลำต้นหักโค่นง่าย เพราะเป็นพันธุ์เตี้ยสูงประมาณ 1.40-1.50 เมตร ก็เก็บผลผลิตได้สบาย”
ล่าสุดเมล็ดพันธุ์มะละกอส้มตำ 90 ภายใต้แบรนด์ “ศรแดง” จำหน่ายไปแล้วกว่า 10 กก. ซึ่ง 1 กก.จะมีประมาณ 60,000 เมล็ด หรือมีเมล็ดพันธุ์กว่า 6 แสนตันที่ถูกนำไปปลูกทั่วประเทศ ซึ่งช่วงนี้ผลผลิตเริ่มทยอยออกสู่ตลาดแล้ว ขณะที่ราคาจำหน่ายต่อเมล็ดอยู่ที่ 3 บาท ถือเป็นราคาที่สูงกว่าเมล็ดพันธุ์เดิมที่ขายเพียง 10 สต. เท่านั้นแต่หากเมื่อเทียบกับผลผลิตที่ได้รับมากกว่าเดิมประมาณ 80-100 ผล/ต้น และสามารถขายมะละกอได้ทุกผลก็ถือว่าคุ้มค่า
เมื่อมีของดีอยู่ในมือภาระกิจต่อไปคือการทำให้เมล็ดพันธุ์มะละกอส้มตำ 90 กระจายไปทั่วผืนแผ่นดินไทย โดยฝีมือเกษตรกร ดังนั้นนายอิสระจึงรุกตลาดในทุกช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการไปตลาดสี่มุมเมือง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรที่นำมะละกอมาส่งที่ตลาดได้รับรู้ถึงเมล็ดพันธุ์มะละกอใหม่ที่ดีกว่าเดิม และทำให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้น รวมถึงทำโปสเตอร์ แบนเนอร์ สร้างการรับรู้อย่างทั่วถึง และนำทีมงานลงพื้นที่ทำแปลงสาธิตปลูกมะละกอให้เกษตกรเห็นผลผลิตที่ได้รับ ทำให้ที่ผ่านมามีเกษตรกรลองนำเมล็ดพันธุ์ไปปลูกเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลผลิตก็เริ่มออกสู่ตลาดแล้วในช่วงเดือน มิ.ย. 62 นี้
ความคาดหวังของบริษัทฯ ในอนาคต คือ ต้องการนำเมล็ดพันธุ์มะละกอส้มตำ 90 ให้แพร่หลาย และจะพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำข้อติชมมาปรับปรุง เช่น สียังไม่เข้ม หรือผลมะละกอยังยาวไม่พอ ซึ่งถือเป็นภาระกิจที่ยังต้องทำต่อไป เพราะมะละกอเป็นพืชที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะละกอประมาณ 82,500 ไร่ ผลผลิต 1,800 กิโลกรัม/ปี โดยมีมูลค่ารวมประมาณ 30 ล้านบาท/ปี
ส่วนแผนพัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืชชนิดต่อไป ทางบริษัทฯ จะมุ่งเน้นไปที่ ข้าวโพดหวาน และแตงโม ซึ่งแตงโมก็มีการบริโภคกันเป็นจำนวนมาก แต่ขณะเดียวก็มีปัญหาเรื่องพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากต้องเปลี่ยนพื้นที่ไปเรื่อยๆ เพื่อลดปัญหาโรคระบาด ดังนั้นต้องคิดปรับปรุงเมล็ดพันธุ์ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรให้มากที่สุด โดยมองในเรื่องรสชาติมาเป็นอันดับ1 และต้องปลูกในพื้นที่ซ้ำได้ รวมถึงต้องพัฒนาให้ทนต่อโรค ให้ผลผลิตเพียงพอกับความต้องการของตลาด จากที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็สร้างความหลากหลายของพันธุ์แตงโม นอกจากเนื้อจะมีสีแดงแล้ว ยังมีสีเหลือง ส้ม และต่อไปจะพัฒนาให้มีขนาดเล็กลง รูปทรงคล้ายแคนตาลูป หวังให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถรับประทานได้หมดในหนึ่งลูกเพียงคนเดียว แถมยังไม่ต้องใช้พื้นที่ที่กว้างมากนัก
นับเป็นอีกก้าวของภาคการเกษตรไทย ที่มีการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ไม่หยุดนิ่ง เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตกรกรอย่างยั่งยืน และสามารถเปิดตลาดต่างประเทศได้อย่างไร้ข้อจำกัด กับเมล็ดพันธุ์พืช ภายใต้แบรนด์ 'ศรแดง'