xs
xsm
sm
md
lg

นาโนเทคจับมือจุฬาฯ พัฒนานาโนวัคซีนแบบแช่ แก้โรคระบาดในอุตฯ เพาะเลี้ยงปลา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) โดย สวทช. วิจัยร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนานวัตกรรมนาโนวัคซีนในรูปของอนุภาคนาโนที่มีคุณสมบัติเกาะติดเยื่อเมือกแบบแช่ ทดแทนการฉีดแบบเดิม แก้ปัญหาโรคระบาดในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงปลานิล ลดการใช้สารเคมี ได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สาธิตการใช้งานจริงที่ “ณันต์ธชัยฟาร์ม” อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ดร.ธีรพงศ์ ยะทา นักวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. เปิดเผยว่า ทีมวิจัยร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คิดค้นนาโนวัคซีนแบบดูดซึมทางเหงือกและเกาะติดเยื่อเมือกเพื่อใช้ในการให้วัคซีนแบบแช่ สามารถใช้ได้กับปลาทุกขนาดและครั้งละจำนวนมาก เมื่อเทียบกับวิธีแบบเดิมที่ใช้ฉีดด้วยเข็มทีละตัวทั้งบ่อ ซึ่งวิธีใหม่นี้จะมีต้นทุนที่ต่ำ ประหยัดเวลา และแรงงานมาก โดยงานวิจัยนี้สามารถขยายผลและต่อยอดนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์หรือเชิงสาธารณประโยชน์ได้ เพื่อลดความเสียหายจากการเกิดโรคระบาดในปลานิล โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของปลาต่อโรค และลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่อาจนำไปสู่การเกิดภาวะเชื้อดื้อยาอีกด้วย


ด้าน ผศ.น.สพ.ดร.ชาญณรงค์ รอดคำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากวิธีการฉีดแบบเดิมค่อนข้างยุ่งยาก จำเป็นต้องวางยาสลบปลาและจับปลามาฉีดวัคซีนทีละตัว ปลาค่อนข้างเครียดและบอบช้ำ ทำให้การทำวัคซีนแบบนี้ไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร จึงได้หันมาให้ความสนใจต่อการแช่ปลาด้วยแอนติเจนของเชื้อที่เคลือบไว้ด้วยอนุภาคนาโนที่สามารถเกาะติดกับเยื่อเมือกของปลาได้ และกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ปลาได้เป็นอย่างดี เพราะปลามีระบบภูมิคุ้มกันแบบเยื่อเมือกอยู่หลายแห่งทั่วร่างกาย จึงเกิดการทำวิจัยร่วมกันระหว่างคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กับนาโนเทค สวทช. ตามโจทย์และสมมติฐานที่ตั้งขึ้น เพื่อให้ได้วัคซีนนาโนต้นแบบที่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ประกอบการได้ด้วยนาโนเทคโนโลยี จนปัจจุบันมีผลงานทางวิชาการทั้งอนุสิทธิบัตรและผลงานวิจัยตีพิมพ์ร่วมกัน



ขณะที่ นายธีระชัย นาคเกิด เจ้าของณันต์ธชัยฟาร์ม เกษตรกรรุ่นใหม่ผู้เพาะเลี้ยงปลานิล ใน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า การใช้นวัตกรรมนาโนหรือเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยเฉพาะปลาเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและสำคัญ เช่น งานวิจัยนาโนวัคซีน เพราะในปัจจุบันการเลี้ยงปลายังไม่มีการใช้วัคซีนกันอย่างแพร่หลาย คงใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะกันอยู่ ส่งผลต่อสุขภาพปลาเนื้อและสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้วัคซีนดังกล่าวจะช่วยให้ปลาแข็งแรง ลดการใช้ยาและสารเคมีได้ ทำให้อัตราจำนวนปลาเพิ่มขึ้น ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง และที่สำคัญได้เนื้อปลาที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเลี้ยงปลาและผู้บริโภคปลาโดยตรง

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager




กำลังโหลดความคิดเห็น