xs
xsm
sm
md
lg

วอตส์แอปเพย์-สเตเบิลคอยน์ หมัดเด็ดFBบุกบริการชำระเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นอกจาก “วอตส์แอป เพย์” แล้ว เฟซบุ๊กยังกำลังพัฒนาสเตเบิลคอยน์เพื่อใช้ในการชำระเงินผ่านอินสตาแกรม แมสเซนเจอร์ และวอตส์แอป
เฟซบุ๊กเลือกลอนดอนเป็นฐานสำหรับทีมเฉพาะกิจใหม่เพื่อเพิ่มบริการชำระเงินในวอตส์แอปที่อยู่ระหว่างการทดสอบในอินเดียก่อนเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ปีหน้า โดยซักเคอร์เบิร์กคุยว่า “วอตส์แอป เพย์” ช่วยให้การโอนเงินง่ายดายเหมือนเวลาส่งภาพให้กัน โซเชียลมีเดียเบอร์หนึ่งแห่งนี้ยังกำลังพัฒนาสเตเบิลคอยน์เพื่อใช้ในการชำระเงินผ่านวอตส์แอป แมสเซนเจอร์ และอินสตาแกรม ท่ามกลางความคาดหวังว่า โครงการนี้จะทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นในคริปโตมากขึ้นและเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้บริษัทอื่นๆ ลุกขึ้นมาพัฒนาโซลูชันบล็อกเชน รวมทั้งยังเชื่อว่า เฟซบุ๊กคอยน์จะกลายเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีผู้ใช้มากที่สุด

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ยืนยันระหว่างการประชุมผู้พัฒนาแอปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า วอตส์แอปมีแผนเปิดตัว “วอตส์แอป เพย์” หรือบริการชำระเงินระหว่างบุคคล (P2P) และการโอนเงินข้ามประเทศ ที่เริ่มทดสอบในอินเดียตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมาและมีแผนเปิดตัวในประเทศต่างๆ ปีหน้า พร้อมแสดงความเชื่อมั่นว่า บริการดังกล่าวจะสะดวกสบายและทำให้ผู้ใช้โอนเงินง่ายดายเหมือนเวลาส่งภาพให้กัน

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทมส์ของอังกฤษนั้น วอตส์แอปจะว่าจ้างพนักงานเพิ่ม 100 คน จากที่มีอยู่แล้ว 400 คน เพื่อช่วยกันพัฒนาฟังก์ชันการชำระเงิน รวมทั้งจัดการปัญหาด้านความปลอดภัยและสแปม โดยพนักงานส่วนใหญ่ประจำอยู่ในลอนดอนและที่เหลืออยู่ที่ดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์


สาเหตุที่เฟซบุ๊กเลือกลอนดอนทั้งที่กำลังอีรุงตุงนังเรื่องเบร็กซิตนั้น เป็นเพราะเมืองหลวงแห่งนี้มีแรงงานที่มีความหลากหลายด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะจากประเทศต่างๆ เช่น อินเดียที่วอตส์แอปได้รับความนิยมสูงสุด

ขณะเดียวกัน ขาใหญ่ของวงการโซเชียลมีเดียแห่งนี้กำลังพัฒนาสเตเบิลคอยน์ที่จะผูกกับสกุลเงินสำคัญของโลก และใช้ในการชำระเงินผ่านแอปรับส่งข้อความของบริษัท ได้แก่ วอตส์แอป แมสเซนเจอร์ และอินสตาแกรม

โปรเจ็กต์นี้เป็นโปรเจ็กต์หลักของทีมบล็อกเชนที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วในรูปสตาร์ทอัพที่มีอำนาจในการดำเนินงานอย่างอิสระภายใต้การนำของเดวิด มาร์คัส อดีตประธานเพย์พาลและสมาชิกบอร์ดคอยน์เบส นอกจากนั้นพนักงาน 1 ใน 5 ของทีมนี้ยังถูกซื้อตัวมาจากเพย์พาล หรือธนาคารออนไลน์ที่รับหน้าที่ตัวกลางการรับ-ส่งเงินจากผู้ใช้ทั่วโลก

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลรายงานว่า เฟซบุ๊กเล็งเปิดตัวเครือข่ายการชำระเงินเต็มรูปแบบ รวมทั้งกำลังคุยกับวีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ตลอดจนผู้ให้บริการประมวลผลการชำระเงินอย่างเฟิร์สต์ ดาต้า และบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่หลายแห่ง เพื่อให้ร่วมสนับสนุนโปรเจ็กต์นี้ เฟซบุ๊กยังหารือกับแบงก์แถวหน้าเรื่องการระดมทุน 1,000 ล้านดอลลาร์รองรับสเตเบิลคอย์ของบริษัทเพื่อป้องกันการผันผวนของเงินสกุลหลัก

ทางด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กของอเมริการายงานว่า เฟซบุ๊กตั้งชื่อโครงการคริปโตด้านบนว่า “ไลบรา” โดยอาจเปิดตัวในอินเดียภายในไม่กี่เดือนนี้ ด้วยการเผยโฉมสเตเบิลคอยน์สำหรับการชำระเงินแบบ P2P และการโอนเงินข้ามประเทศ
ปัจจุบัน ผู้ใช้วอตส์แอปในอินเดียที่มีมากกว่า 200 ล้านคน สามารถเปิดใช้งานตัวเลือก “การชำระเงิน” ของวอตส์แอป เพย์เวอร์ชันเบตา เพื่อชำระเงินแบบ P2P และเชื่อมโยงกับบัญชีธนาคารของตนเอง แม้ในระยะแรกนั้นบริการนี้ยังไม่ได้อิงกับเทคโนโลยีบล็อกเชนก็ตาม

รายงานยังระบุว่า คู่แข่งของวอตส์แอป เพย์คือเจ้าถิ่นอย่าง “เพย์ทีเอ็ม” ที่มีอาลีบาบาจากจีนเป็นผู้สนับสนุน
ไมค์ โนโวแกรตซ์ นักลงทุนระดับพันล้านและประธานวาณิชธนกิจคริปโต บอกว่า การลงเล่นในตลาดคริปโตของเฟซบุ๊กถือเป็นดีลใหญ่ยักษ์และจะทำให้นักลงทุนประเภทสถาบันเชื่อมั่นในคริปโตมากขึ้นหลายเท่า เขายังเชื่อว่า คริปโตของเฟซบุ๊กจะกลายเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีผู้ใช้มากที่สุด

โนโวแกรตซ์สำทับว่า โปรเจ็กต์ของเฟซบุ๊กยิ่งน่าสนใจมากขึ้นจากกระแสข่าวลือว่า รัฐบาลอินเดียกำลังพิจารณากฎหมายแบนคริปโต

สเปนเซอร์ โบการ์ต จากบล็อกเชน แคปิตอล เห็นด้วยว่า โครงการคริปโตของเฟซบุ๊กจะทำให้จำนวนผู้ใช้สินทรัพย์ดิจิตอลเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และเฟซบุ๊กคอยน์จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้บริษัทอื่นๆ อีกมากมายลุกขึ้นมาพัฒนาโซลูชันบล็อกเชน
กำลังโหลดความคิดเห็น