ถุงเพาะชำ จากยางพารา นวัตกรรมการแปรรูปเพิ่มมูลค่า น้ำยางพารา ไอเดีย เจ้าของสวนยางพารา จังหวัดนครศรีธรรมราช สตาร์ทอัพไฟแรง ..จากรั้ว มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ (มอ.) ชื่อว่า “นายณัฐวี บัวแก้ว” อายุ24ปี จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“ณัฐวี” เล่าว่า ถุงเพาะชำ จากยางพารา เกิดขึ้นมาจาก ครอบครัวของตนเอง ปลูกยางพารา และด้วยราคายางที่ตกต่ำ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตนเองและน้องสาว เกิดไอเดีย คิดหาทางแปรรูปน้ำยางพารา โดยเข้าอบรมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาวิธี แปรรูปน้ำยางพารา จนมาจบที่ การทำถุงเพาะชำ ที่เลือกทำถุงเพาะชำ เห็นว่า เป็นสินค้าที่มีการซื้อซ้ำบ่อย กว่า เมื่อเทียบกับของใช้ ชนิดอื่นๆ เช่น หมอนยางพารา เป็นต้น
หน่วยงานภาครัฐ ตัวช่วยพาสตาร์ทอัพถึงฝั่ง
หลังจากที่ได้เลือกทำ ถุงเพาะชำ ได้เริ่มทดลองกับน้องสาวอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนนำไอเดีย ไปเสนอ และได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม PSU Startup Challenge ที่จัดโดย P-Seda สถานพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“โครงการนี้ เป็นจุดเริ่มต้น ที่ทำให้ผมมีความคิด ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยโครงการได้เชิญ พี่พี่ ประสบความสำเร็จ ในหลายๆ ด้าน มาเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรุ้ ซึ่งบางคนก็อายุยังน้อย เป็นแรงบันดาลใจให้ผมกลับมาตั้งคำถามกับตัวเอง ว่าเราจะทำแบบพี่พี่ เหล่านั้น ได้หรือไม่ หลังจากนั้น ก็เปิดใจที่จะเรียนรู้ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเขียนแผนธุรกิจ องค์ความรู้ต่างๆ ที่ได้รับครั้งนี้ นำพาให้เราสามารถมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้”
นอกจากนี้ ได้เข้าร่วมประกวดการแข่งขันไอเดียธุรกิจ ใน โครงการ Bangchak YY contest และได้ รับรางวัลชนะเลิศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอผลงาน ในงาน Social Business Forum Asia ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และการชนะเลิศการประกวดในครั้งนี้ ทำให้ได้เข้าร่วมโครงการ SME D Scaleup Rubber Innovation โดยได้รับความช่วยเหลือจากคณาจารย์ ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นที่ปรึกษาตลอดการทำวิจัย จนได้ถุงเพาะชำพร้อมจำหน่าย และยังรวมไปถึงแผนการตลาด ในอนาคตด้วย และการได้เข้าร่วมโครงการ ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
"ณัฐวี" เล่าว่า เหตุผลที่เลือกทำถุงเพาะชำจากยางพารา มาจากปัญหาราคายางพาราที่ตกต่ำ ทำให้ พ่อ แม่ พี่น้อง และครอบครัวของเรา ได้รับผลกระทบ และที่เลือกทำถุงเพาะชำ เพราะเป็นสินค้าการเกษตรที่มีการใช้จำนวนมาก ในกระบวกการปลูกกล้าไม้ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และส่วนใหญ่จะใช้แล้วทิ้ง การกำจัดใช้วิธิการเผาหรือฝังกลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก
ขั้นตอนการผลิตไม่ยุ่งยาก
ส่วน ขั้นตอนกระบวนการผลิตถุงเพาะชำ ไม่ได้มีขั้นตอนยุ่งยากอะไร ซึ่งสามารถใช้กระบวนการเดียวกับการผลิตถุงมือจากยางพารา โดยการใช้วิธีจุ่มขึ้นรูป ด้วยแม่พิมพ์ ถุงเพาะชำที่ผมได้ร่วมกันออกแบบ กับอาจารย์ที่ปรึกษา หลังจากนั้น นำไปใส่ตู้อบ เหมือนกับการทำถุงมือยางพาราทุกอย่าง แต่ต่างตรงสูตรหรือส่วนผสมในการทำถุงเพาะชำ แตกต่าง จากถุงมือยาง โดยได้เริ่มทำการผลิตออกจำหน่ายใน เดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วง 1-2ปี แรกได้วางแผนการผลิต โดยการว่าจ้างโรงงานผลิตถุงมือจากยางพารา เป็นผู้ผลิต
สำหรับ การวิจัยและพัฒนาถุงเพาะชำจากยางพารา ครั้งนี้ ทำขึ้นมา 2รูปแบบ คือ ถุงเพาะชำขนาดเท่าถุงพลาสติกทั่วไป และ ถุงเพาะชำกล้าสำหรับถาดเพาะชำ เพราะเป็นขนาด ที่มีการใช้กันมาก ส่วนคุณสมบัติเด่นของ ถุงเพาะชำยางพารา แบรนด์ Greensery คือ 1.ถุงสามารถย่อยสลายได้ ไม่เกิดขยะ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 2.ถุงช่วยดูดซับน้ำได้ ช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน และ 3.สูตรการทำถุงจะมีธาตุอาหาร N P K จำเป็นช่วยในการเจริญเติบโตของต้นกล้า ดังนั้น การใช้ถุงเพาะชำยางพารา ช่วยให้เกษตรกร ลดระยะเวลาในทำงาน และ ลดปริมาณการรดน้ำ ลดปริมาณปุ๋ยเคมี และลดปริมาณขยะพลาสติก
แผนบุกตลาดต่างประเทศ
ในส่วนกลุ่มลูกค้า “ณัฐวี” บอกว่า ตอนนี้ อยู่ระหว่างการเจรจากับ ลูกค้าในต่างประเทศ มีกัมพูชา และ จีน โดยกลุ่มเป้าหมาย ที่วางไว้ คือ กลุ่มบริษัทเพาะพันธุ์กล้าไม้ กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายอุปกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และ กลุ่มบุคคลทั่วไปที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ส่วนแผนการตลาด เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่ ยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต้องอาศัยช่องทางการประชาสัมพันธ์ จากหน่วยงานต่างๆ และลงพื้นที่แนะนำ กับเกษตรกรเพาะพันธุ์กล้าไม้ในพื้นที่ จังหวัดในภาคใต้ และอีกหลายจังหวัดในประเทศไทย จากการพูดคุย กับเกษตรกรในภาคใต้ ส่วนใหญ่ มีความสนใจ ที่จะทดลองใช้ รวมถึงการนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี
สำหรับช่องทางการเข้าถึงลูกค้า “ณัฐวี” บอกว่า ใช้การตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลาย และจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ปัจจุบันให้เกิดประโยชน์ รวมถึงการออกบูทเจรจาคู่ค้าระหว่างประเทศเพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักอีกทางหนึ่ง
“ณัฐวี” เล่าถึง การทำธุรกิจในครั้งนี้ ว่า เกิดขึ้นมาจาก ฐานะทางบ้าน ที่วันหนึ่งเราต้องลุกขึ้นมาเป็นหัวหน้า ครอบครัว โดยไม่ได้ตั้งตัว พร้อมกับหนี้สิน ที่ต้องรับภาระ ในฐานะลูกชายคนโต ซึ่งเหตุการณ์ เกิดขึ้น หลังที่ ต้องเสียเสาหลักของครอบครัวอย่าง คุณพ่อไป จากอุบัติเหตุ เมื่อปี 2556 หลังจากนั้นสภาพครอบครัวเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ซึ่งหนี้สินที่พ่อไม่เคยบอกคนในบ้านเยอะมาก เราต้องซื้อบ้านตัวเอง ถึง2ครั้ง เนื่องจากโดนยึดขายทอดตลาด
โดย ต้องหาเงินเพื่อมาจ่ายหนี้ ถึง 2 ครั้ง จนครั้งล่าสุดจำนวน 2 แสนบาท ตอนนั้นผมเครียดมาก เพื่อนและครอบครัวของเพื่อนเห็นว่า ผมซึมๆ ไปจึงเข้ามาสอบถาม พร้อมกับยื่นมือเข้ามาช่วย จากที่คิดว่า อาจจะต้องดรอปเรียนไว้ก่อน เพื่อออกไปหางานทำ สุดท้าย ก็ได้เรียนจนจบ และ ในระหว่างเรียน ผมต้องทำงานทุกอย่าง เพื่อหาเงินเรียน และช่วยเหลือครอบครัว ไมว่าจะเป็น การรับจ้างขายขนม กุนเชียงปลาสลิต น้ำพริกฯลฯ และ แจกใบปลิว เก็บแบบสอบถาม รับจ้างถ่ายรูป สอนพิเศษ จนทำให้ผมเกิดการเรียนรู้จากหลายๆอาชีพที่เคยทำ และเป็นจุดเริ่มที่ทำให้ผมสนใจการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ ผมได้ เรียนรู้เทคนิคการขาย การพูด การคิดวิเคราะห์ การวางแผนต่างๆ จากประสบการณ์ในชีวิตจริงที่เราได้ลงมือทำในระหว่างนั้น ถึงวันนี้ ผมเริ่มธุรกิจ จากการมีแค่ไอเดีย และใช้วิธีการนำเสนอไอเดีย ผ่านการประกวดในเวทีต่างๆ เพื่อช่องทางหางเงินทุน สุดท้ายไอเดียที่เราคิด และคนอื่นคิดว่า จะเป็นไปได้ ช่วยให้เราเป็นเจ้าของธุรกิจได้ โดยไม่ต้องใช้งินทุนแม้แต่บาท
“การที่ผมเลือกทำธุรกิจ แทนที่จะออกไปทำงานตามสายงาน ตามที่เรียนมา โดยไม่ต้องเสี่ยงกับการเป็นเจ้าของกิจการ ที่ไม่รู้ว่า จะประสบความสำเร็จหรือไม่ เพราะ ผมมองว่า การทำธุรกิจสมัยนี้ แม้จะมีความเสี่ยงอยู่บ้าง แต่เราไม่ต้องทำเพียงลำพัง เพราะมีหน่วยงานภาครัฐ คอยดูแล และเป็นพี่เลี้ยงไปตลอดเส้นทาง ทำให้ผมกล้ารับความเสี่ยงตรงนี้ คิดว่าธุรกิจนี้จะทำให้ผมประสบความสำเร็จปลดหนี้และดูแลครอบครัวได้ ”
สนใจ โทร, 06-4497-7095 FB : @GreenseryThailand
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *