xs
xsm
sm
md
lg

ปักหมุด7ปีเอเชียอาคเนย์สู่ระบบไร้เงินสด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผลสำรวจของวีซ่าพบว่า ผู้คนเกือบครึ่งในเอเชียอาคเนย์คาดว่า ประเทศของตนจะเข้าสู่ระบบไร้เงินสดเต็มตัวภายใน 7 ปี
ผลศึกษาจากวีซ่าพบผู้ตอบแบบสอบถาม 43% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่า ประเทศของตนจะเข้าสู่ระบบไร้เงินสดเต็มตัวภายใน 7 ปี ขณะที่นิกเกอิ เอเชียน รีวิวรายงานว่า การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการธนาคารและการชำระเงินส่งให้ไทยและเวียดนามก้าวกระโดดแซงหน้าเพื่อนบ้านที่รวยกว่าอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ขึ้นแท่นผู้นำด้านการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียอาคเนย์

ปัจจุบัน รัฐบาลทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังทุ่มเทความพยายามเพื่อสร้างเศรษฐกิจไร้เงินสด แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า ไทยและเวียดนามก้าวไกลแซงหน้าเพื่อนบ้านที่รวยกว่าอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียในด้านการชำระเงินระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยรายงานของนิกเกอิ เอเชียน รีวิวระบุว่า ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนปรากฏการณ์นี้คือการขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการธนาคารและการชำระเงิน

ยกตัวอย่างเช่น คนเวียดนามแค่ 40% มีบัญชีธนาคาร แต่กลับมีลูกค้าลงทะเบียนโทรศัพท์มือถือถึง 120 ล้านหมายเลข ทั้งที่มีประชากรเพียง 95 ล้านคน แถมเครือข่ายการให้บริการมือถือยังครอบคลุมทั่วถึง และผู้ให้บริการหลายค่ายเสนอบริการอี-วอลเล็ต ซึ่งได้รับความสนใจล้นหลามจากลูกค้า ด้วยเหตุนี้เปอร์เซ็นต์ผู้ใช้บริการชำระเงินบนมือถือของเวียดนามจึงพุ่งพรวดจาก 37% เมื่อปีที่แล้ว เป็น 61% ในขณะนี้

สำหรับไทยมีอัตราการเข้าถึงการชำระเงินบนมือถือสูงสุดในภูมิภาคคือ 67% ซึ่งคนเหล่านี้จำนวนมากไม่มีบัตรเครดิตหรือสมุดเช็ค รายงานระบุว่า ธนาคารรับบทบาทสำคัญในการผลักดันระบบไร้เงินสดสนองนโยบายรัฐบาลที่เชื่อว่า การยกเลิกการใช้เงินสดจะช่วยผลักดันการทำธุรกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนาดกลางและเล็กในการเข้าถึงสินเชื่อของธนาคาร รวมทั้งขจัดปัญหาการติดสินบนและการทุจริตทางอ้อม

สำหรับสิงคโปร์นั้นมีอัตราการเข้าถึงการชำระเงินบนมือถือต่ำกว่า ขณะที่เงินสดและเช็คยังครองส่วนแบ่งถึง 40% ของวิธีการชำระเงิน

ขณะเดียวกัน ผลศึกษาจากวีซ่าที่ออกมาเมื่อไม่นานนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 43% ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดว่า ประเทศของตนจะเข้าสู่ระบบไร้เงินสดเต็มตัวภายใน 7 ปี

รายงานยังบอกว่า ชื่อเสียงและสถานะความเป็นมิตรต่อเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ของสิงคโปร์อาจทำให้บางคนคิดว่า ประเทศเกาะแห่งนี้จะเข้าสู่ระบบไร้เงินสดเต็มตัวก่อนประเทศอื่นๆ แต่จริงๆ แล้วพัฒนาการของแต่ละชาติอาจพิจารณาจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ การช้อปออนไลน์ ความต้องการบริการตามสั่ง โมบายอินเทอร์เน็ต และอี-วอลเล็ต โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังต่อไปนี้

อี-คอมเมิร์ซ
รายงานของวีซ่าระบุว่า เศรษฐกิจยุคอินเทอร์เน็ตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขับเคลื่อนโดยตลาดอี-คอมเมิร์ซที่กำลังโตวันโตคืนเป็นหลักและถูกคาดหมายว่า จะมีมูลค่าถึง 200,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2025 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนความเชื่อมั่นในระบบไร้เงินสดจะไม่สัมพันธ์กับอัตราเติบโตของการช้อปออนไลน์เท่าไหร่

ตามรายงานบอกว่า ชาวสิงคโปร์ 78% ช้อปออนไลน์อย่างน้อยเดือนละครั้ง นอกจากนั้นเมื่อเทียบกับเพื่อนร่วมภูมิภาคชาติอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญสูงสุดกับความสะดวก แต่ชาวเมืองลอดช่องกลับเห็นว่า สิ่งสำคัญที่สุดในการช้อปออนไลน์คือ ระบบชำระเงินที่ปลอดภัย (59%) ตามด้วยความสะดวกในการเปรียบเทียบราคาสินค้า (57%) และความง่ายดายในการเช็คเอาต์ (51%)

มีเพียงฟิลิปปินส์เท่านั้นที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยมากกว่าสิงคโปร์คือ 61%

สรุปคือแม้มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม แต่ความคิดเห็นของผู้คนในเอเชียอาคเนย์เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ดีในการช้อปออนไลน์ค่อนข้างคล้ายกัน

บริการตามสั่ง
ผู้บริโภค 4 ใน 10 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้บริการการเดินทางตามสั่ง เช่น บริการของแกร็บ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยชาวอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ใช้บริการนี้ถี่ที่สุด และผู้ตอบแบบสำรวจโดยรวมมองว่า ไรด์เฮลลิ่งเป็นบริการตามสั่งที่ใช้กันแพร่หลายที่สุด

ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นของบริการตามสั่งขับเคลื่อนจากความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์อัจฉริยะที่สปอยล์ผู้บริโภคให้คาดหวังว่า สิ่งต่างๆ “ต้องอยู่ตรงหน้า ณ บัดดล” และอะไรก็ตามที่น้อยกว่านั้นจะถือเป็นปัญหาจุกจิกกวนใจ

ผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 60% ออกปากว่า ประสิทธิภาพและความสะดวกสบายเป็นประโยชน์ของบริการตามสั่ง และคาดหวังว่า ธุรกิจนี้จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด รวมทั้งปรับเปลี่ยนบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคน

โมบายแบงกิ้ง
ผู้ตอบแบบสำรวจ 70% ใน 7 ประเทศของย่านนี้ใช้มือถือทำธุรกรรมการธนาคารอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และ 75% มีแอปโมบายแบงกิ้งบนมือถือ

สำหรับในสิงคโปร์นั้น 70% ใช้โมบายแบงกิ้ง และ 12% ยังไปทำธุรกรรมที่แบงก์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

จากรายงานของวีซ่า การตรวจสอบใบเรียกเก็บเงินบัตรเครดิตเป็นวิธีการสำคัญที่สุดในการติดตามการใช้จ่ายของตัวเองสำหรับผู้บริโภคในเอเชียอาคเนย์ แต่ 75% แสดงความสนใจใช้โมบายแอปเพื่อกำหนดงบประมาณและติดตามการใช้จ่าย
วิธีชำระเงินแบบอื่นๆ

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีระบบไร้เงินสดมากมายหลายรูปแบบ โดยผู้ตอบแบบสำรวจ 73% รู้จักวิธีการชำระเงินแบบ P2P ขณะที่ในสิงคโปร์มีถึง 75% ที่รู้จักการกู้ยืมแบบ P2P อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ยังพอใจโอนเงินผ่านธนาคารมากกว่า

การชำระเงินอีกรูปแบบที่เป็นที่นิยมคือคิวอาร์โค้ด ความยืดหยุ่นและต้นทุนต่ำทำให้ระบบนี้เป็นที่ยอมรับกว้างขวางในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทว่า ผู้ตอบแบบสำรวจในสิงคโปร์เพียง 50% เท่านั้นที่รู้จักการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด

ขณะเดียวกัน สิงคโปร์มีอัตราการเข้าถึงบัตรเครดิตสูงมาก ซึ่งอาจทำให้โมบายวอลเล็ตเจาะตลาดยากขึ้น โดยในปี 2017 นั้น บัตรเครดิตยังคงเป็นวิธีการชำระเงินยอดนิยมทั้งสำหรับการช้อปออนไลน์และออฟไลน์ในประเทศนี้

โดยสรุปก็คือ แม้ไม่ใช่ที่หนึ่งนอนมา แต่สิงคโปร์กำลังมุ่งมั่นสู่ระบบเศรษฐกิจไร้เงินสด และอาจมีความพร้อมในการยอมรับระบบนี้ง่ายดายกว่าเพื่อนบ้านอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น