จากรายงานข้อมูลขยะชายหาดปี 2016 จาก 112 ประเทศทั่วโลก ของ The Ocean Conservancy พบว่าประเทศไทยมี หลอดพลาสติกเป็นขยะที่ถูกพบมากที่สุดเป็นอันดับสอง เป็นรองเพียงแค่ขวดพลาสติกเท่านั้น และปัญหาของสัตว์ทะเล ที่ตายเพราะการกินหลอดพลาสติกเข้าไป ยิ่งทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจ ปัญหาของหลอดพลาสติกมากขึ้น
ด้วยเหตุนี้เอง จึงได้เป็นที่มาของ “หลอดไม้ไผ่” อีกหนึ่งทางเลือกมาทดแทนหลอดพลาสติก ที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ และสำหรับประเทศไทย การทำหลอดไม้ไผ่จำหน่าย ยังไม่แพร่หลายมากนัก เพราะยังไม่มีผู้ผลิตที่มีโนฮาวในการผลิตหลอดไม้ไผ่ที่ได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้พบผู้ผลิตหลอดไม้ไผ่ ที่ได้คิดค้นโนฮาวการผลิตหลอดไม้ไผ่ที่ได้มาตรฐานในระดับส่งออก และยังจะได้ถ่ายทอดโนฮาวให้กับชาวบ้าน ช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับ ชาวบ้านชุมชน ผู้ปลูกไม้ไผ่ ในจังหวัดปราจีนบุรี ได้เป็นอย่างดี และหลอดไม้ไผ่ ที่กล่าวถึงในครั้งนี้ เป็นผลงานของ ผู้คว่ำหวอดในวงการไม้ไผ่ มากว่า 20 ปี หลายคนรู้จัก ในชื่อว่า “Thailand Bamboo”
โดย “นายธนา ทิพย์เจริญ” และ “นางเสาวลักษณ์ ทิพย์เจริญ” สองสามีภรรยา ได้ก่อตั้ง Thailand Bamboo ขึ้นมาเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา จุดเริ่มต้นมาจาก “คุณธนา” เรียนที่ประเทศญี่ปุ่น และมองเห็นถึงความสวยงามของไม้ไผ่ ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่พอมาเมืองไทย ทำไมงานไม้ไผ่ที่เมืองไทย ดูธรรมดา ไม่มีเสน่ห์เหมือนที่ญี่ปุ่น จึงได้เกิดไอเดีย อยากเพิ่มมูลค่าไม้ไผ่ จากประเทศไทยให้ถัดเทียมกับ ญี่ปุ่น และประกอบกับบ้านเกิดของ “คุณธนา” เอง อยู่ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นแหล่งปลูกไม้ไผ่ที่สำคัญของประเทศไทย
“เสาวลักษณ์” เล่าว่า เธอและสามี ไม่มีความรู้เรื่องไม้ไผ่ ด้วยกันทั้งคู่ อาศัยใจรัก และชื่นชอบไม้ไผ่ และรู้ว่า ไม้ไผ่ทำอะไรได้อีกมาก จึงตัดสินใจเข้าสู่วงการไม้ไผ่ โดยค่อยๆเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เริ่มจาก ซื้อผลิตภัณฑ์ไม้ไผ่ที่ชาวบ้านทำขายอยู่ก่อน และนำมาขายต่อ ส่วนใหญ่เป็นงานกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ แต่ปัญหาที่แก้ไม่ได้สำหรับไม้ไผ่ คือ ปัญหาเรื่องมอด ที่มากัดกินไม้ไผ่ ทำให้ต้องสะดุดไปพักหนึ่ง เพราะเจอปัญหาเรื่องมอด ไม่เฉพาะกิจการของตนเอง ผู้มีชื่อเสียงด้านงานไม้ไผ่หลายคนก็ต้องยอมและลาวงการไป เพราะปัญหาเรื่องมอด
“จนกระทั่งตนเองและสามี คุณธนา ใช้เวลากว่า 4 ปี เพื่อหาเทคโนโลยี และวิธีการกำจัดมอดไม้ไผ่ ได้เป็นผลสำเร็จ และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ยึดทำงานไม้ไผ่ ตลอดมา จนถึงปัจจุบัน โดยผลงานหลักของเรา เน้นงานก่อสร้าง เช่น อาคาร รีสอร์ท โดยมีโรงงานผลิตไม้ไผ่ เป็นของตนเองอยู่ที่ปราจีนบุรี ส่วนไม้ไผ่ที่นำมาใช้ มาจากทั่วประเทศ เนื่องจากต้องใช้ไม้ไผ่ค่อนข้างมาก ไม้ไผ่ที่ปราจีนอย่างเดียวไม่เพียงพอ ส่วนงานเฟอร์นิเจอร์ หลังจากรับงานขนาดใหญ่ขึ้น งานเฟอร์นิเจอร์หยุดไป จะรับเฉพาะออเดอร์มาเป็น ล็อตใหญ่ เท่านั้น”
“เสาวลักษณ์” เล่าว่า สำหรับ งานหลอดไม้ไผ่ เป็นงานชิ้นเล็ก ที่ทาง ไทยแลนด์แบมบู เพิ่งจะมาทำได้ประมาณ 2 ปี และที่รับทำหลอดไม้ไผ่ ในครั้งนี้ ส่วนหนึ่ง ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และที่สำคัญ คือ ต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน ที่ปลูกไม้ไผ่ ได้มีรายได้เพิ่ม เพราะรู้ว่า เมื่อไม้ไผ่ นำมาแปรรูป สร้างมุลค่าเพิ่ม ได้หลายเท่าตัว โดยเฉพาะตลาดในต่างประเทศ มีความต้องการและให้ความสนใจผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่มากกว่า คนไทย มองไม้ไผ่ เป็นสินค้าราคาถูก
ทั้งนี้ ได้นำโนฮาวที่คิดค้น เพื่อผลิตหลอดไม้ไผ่ได้มาตรฐานฟู้ดเกรด เข้าไปสอนให้กับชาวบ้าน ที่ปลูกไผ่ ซึ่งการผลิตของใช้เกี่ยวกับอาหาร สิ่งสำคัญต้องไม่ใช้สารเคมี ต่างจากงานไม้ไผ่ใช้ก่อสร้าง ครั้งนี้ เลือกใช้การฆ่าเชื้อ ด้วยความร้อนแทน เพราะหลอดทุกอันจะต้องไม่มีเชื้อรา แม้จะเป็นงานชิ้นเล็ก แต่ต้องทำให้ได้มาตรฐาน เนื่องจาก การันตี ด้วย การตีแบรนด์ ไทยแลนด์แบมบู บนหลอดทุกชิ้น
“เสาวลักษณ์” บอกว่า หลังจากที่มีกระแส ลดการใช้หลอดพลาสติกมีความชัดเจนขึ้น เริ่มมีออเดอร์หลอดไม้ไผ่ เข้ามาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป ล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจา ประมาณ 1 แสนหลอด เนื่องจาก การทำหลอดไม้ไผ่ ยังไม่มีเครื่องจักร ที่สามารถผลิตจำนวนมาก ก็ต้องใช้จ่ายงานให้ชุมชนที่ปลูกไผ่ ซึ่งมีวัตถุดิบไม้ไผ่หลอดอยู่แล้ว เป็นการช่วยชุมชนผู้ปลูกไผ่มีรายได้เพิ่มขึ้น และนอกจากหลอด มีแผนเพิ่มงานชิ้นเล็ก อื่นๆ เช่น ทำแก้วไม้ไผ่ ลำโพงไม้ไผ่ และของใช้ อื่น ฯลฯ
ที่ผ่านมา แม้จะมีกระแส เรื่องหลอดพลาสติก อยู่ค่อนข้างมาก แต่ด้วยราคาหลอดไม้ไผ่ที่สูง ทำให้ยังไม่ได้รับกระแสตอบรับ จากลูกค้ามากนัก และประกอบกับ ผู้ผลิตหลอดไม้ไผ่ ที่ได้มาตรฐาน ก็ยังมีอยู่น้อยมากในประเทศไทย เพราะมีขั้นตอนการทำที่ต้องใช้เวลามาก เพราะเป็นงานทำมือ ราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ
สำหรับราคาหลอดไม้ไผ่ ขึ้นอยู่กับจำนวน การสั่งซื้อ เช่น หลอดไม้ไผ่ 1,000 หลอดอยู่ที่หลอดละ 5 บาท เป็นต้น อายุการใช้งานนาน เพราะสามารถล้าง และนำกลับมาใช้ได้อีก ปัจจุบัน คนไทยให้ความสนใจ กับการใช้หลอดไม้ไผ่ น้อย เพราะด้วยราคาสูงกว่า หลอดพลาสติกที่ใช้กันทั่วไปอยู่ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ผ่านมา เนื่องจาก ทำโปรเจ็คขนาดใหญ่ ใช้การบอกกันแบบปากต่อปาก และใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่ในปีนี้ (2562) มีการวางแผนการตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยล่าสุด ทำร้านกาแฟไม้ไผ่ ขึ้นที่กรุงเทพฯ บนถนนหัวหมาก ซอย 18 จุดประสงค์ ของการทำร้าน แห่งนี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นสถานที่โชว์งาน และให้คนไทยได้รู้จักงานไม้ไผ่มากขึ้น โดยลูกค้าจะได้เห็นอาคารไม้ไผ่ ของจริงเป็นอย่างไร และภายในร้านกาแฟแห่งนี้ จะมีโปรดักส์ ที่เป็นไม้ไผ่ ชึ้นเล็กอื่นๆ มาโชว์ด้วย และที่สำคัญ ต้องการทำร้านแห่งนี้ ขึ้นมา เพื่อเป็นสถานที่ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนที่ชื่นชอบงานไม้ไผ่ ได้มาพบปะ พูดคุยกัน ด้วย
สนใจ โทร. 09-2324-9924
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *