xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็น 'น้ำอ้อยไร่ไม่จน' เคยตัดอ้อยส่งโรงงานเหลือเงินทั้งปีแค่ 1 บ. (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เป็นไปได้อย่างไร? ปลูกอ้อย 1 ปี เหลือเงินแค่ 1 บาท ดังนั้นจะอยู่เฉยไม่ได้แล้วต้องทำไรสักอย่าง ให้มีรายได้เข้ามาทุกวัน ทำให้เกษตรกรรายนี้ตัดสินใจหีบอ้อย ขายน้ำอ้อยสด ก็ได้รับการตอบรับดี แต่ติดปัญหาเรื่องอายุการเก็บรักษาไม่นาน จึงปรึกษานักวิชาการ พร้อมส่งไม้ต่อให้ทายาทธุรกิจ กับผลิตภัณฑ์ “น้ำอ้อยพาสเจอร์ไรส์” แบรนด์ น้ำอ้อยไร่ไม่จน ที่วันนี้พวกเขาสามารถยืดหยัดได้ในวงการ แถมยังช่วยเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 50 ครัวเรือน

เดินมาไกลมาก สำหรับ “น้ำอ้อยไร่ไม่จน” ที่ถือว่าแบรนด์ติดตลาดแล้ว พบเห็นและลิ้มลองได้ตามสาขาแฟรนไชส์ในห้างโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ บิ๊กซี โลตัส บริเวณฟู้ดคอร์ท และล่าสุดได้วางจำหน่ายในท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต ในบรรจุภัณฑ์ปล้องอ้อยสีเขียวชวนดื่ม พร้อมสื่อถึงความเป็นธรรมชาติของน้ำอ้อยทุกหยดของแบรนด์ 'น้ำอ้อยไร่ไม่จน'
ปภัสราภรณ์ เหรียญทอง หรือ คุณปุ๋ม เจ้าของธุรกิจน้ำอ้อยไร่ไม่จน




แต่กว่าจะมีวันนี้ได้เจ้าของธุรกิจ อย่าง “ปภัสราภรณ์ เหรียญทอง หรือ คุณปุ๋ม” ต้องประสบปัญหาและอุปสรรคมามากมาย โดยเฉพาะรุ่นคุณพ่อของเธอ ที่ยึดอาชีพการเป็นเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยิ่งปลูกยิ่งจน กระทั่งเหลือเงินจากการเก็บเกี่ยวและส่งอ้อยเข้าโรงงานเข้าเหลือเงินเพียง 1 บาทเท่านั้น ทั้งที่รายได้มีเพียงปีละครั้งเท่านั้น จากการตัดอ้อยเข้าโรงงาน ดังนั้นจึงตัดสินใจเปลี่ยนการปลูกอ้อยเป็น 'พันธุ์คั้นน้ำ' หรือพันธุ์สุพรรณบุรี 50หวังมีรายได้เข้ามาเลี้ยงครอบครัวทุกวัน




โดยเริ่มการทดลองปลูกประมาณ 5-10 ไร่ก่อน เมื่อปลูกได้ 8-9 เดือน ก็ตัด และปอกเปลือก นำขึ้นท้ายรถกระบะ ไปจอดตามตลาดนัด หน้าโรงงานอุตสาหกรรม หีบน้ำอ้อยขายกันสดๆ กลายเป็นที่ติดอกติดใจของลูกค้า รวมถึงบรรจุขวดส่งขายตามร้านอาหาร และโรงแรม แต่ด้วยอายุการเก็บรักษาในตู้เย็นอยู่ได้เพียง 2-3 วันเท่านั้น ทำให้ลูกค้าในต่างจังหวัดหมดโอกาสได้ลิ้มลอง เธอจึงเข้าขอรับคำปรึกษาจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จนกลายมาเป็น “น้ำอ้อยพาสเจอร์ไรส์” ไร่ไม่จน อย่างในทุกวันนี้














เธอเลือกทำตลาดในรูปแบบของแฟรนไชส์ เพราะเชื่อว่าผู้ที่มาขอซื้อแฟรนไชส์จะมีทักษะการขายมากกว่าลูกเกษตรกร และผลก็เป็นตามคาด น้ำอ้อยไร่ไม่จน มีหลายสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามโมเดิร์นเทรดขนาดใหญ่ โดยการลงทุนมี 2 รูปแบบ คือขนาดเล็ก ลงทุน 60,000 บาท และขนาดใหญ่ อยู่ที่ 129,000 บาท จากปริมาณน้ำอ้อยที่ส่งเข้าโรงงานประมาณวันละ 3 ตัน จะถูกแปรรูปเข้าสู่ระบบพาสเจอร์ไรส์ทันที จะมีค้างสต็อกเพื่อคงความสดใหม่ให้มากที่สุดและจะเพิ่มในเร็วๆ นี้ หลังน้ำอ้อยไร่ไม่จน ได้วางจำหน่ายที่ ท็อป ซูเปอร์มาร์เก็ต โอตัส และบิ๊กซี และเพื่อรองรับตลาดส่งออกด้วย ในลักษณะของการแช่แข็ง ที่ส่งไปประเทศออสเตรเลียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และเตรียมจัดส่งไปแคนาดา






ขณะที่กระบวนการผลิตเรียกว่า “น้ำอ้อยไร่ไม่จน” ใส่ใจทุกขั้นตอนตั้งแต่การทีมงานตรวจสอบคุณภาพของอ้อยก่อนตัดและหีบน้ำเข้าโรงงาน ต้องตรวจเช็คเรื่องความหวาน สี และค่าพีเอช (pH) ถ้าอยู่ในช่วงอายุที่ตัดได้ ก็จะให้เกษตรกรรายนั้นตัดได้ในช่วงบ่าย จากนั้นจัดส่งให้วิสาหกิจชุมชนหีบน้ำอ้อย ประมาณตี 3และส่งน้ำอ้อยเข้าโรงงาน ประมาณ 8 โมงเช้าเพื่อนำไปแปรรูปต่อไป





ตลอดระยะเวลา 15 ปี ที่ทั้งคุณพ่อและคุณปุ๋ม เข้ามาอยู่ในวงจรธุรกิจอ้อยอย่างเต็มตัว ล้มลุกคลุกคลานมามากมาย มีการต่อยอดสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง ถือว่าเธอโชคดีได้รับโอกาสและความช่วยเหลือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐฯ และเอกชน โดยเฉพาะเรื่องเงินทุนจาก “ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME D Bank” มาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนให้ธุรกิจเติบโตได้เร็วขึ้น จนสามารถสร้างชื่อและพูดได้อย่างเต็มปากว่า “อ้อยไร่ไม่จน” ตามชื่อแบรนด์ได้อย่างภาคภูมิ







ติดต่อ : 032-293-115-7
Facebook : Sugarcane.raimaijon








* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *







กำลังโหลดความคิดเห็น