สำหรับ “ผ้าจกในภาพความทรงจำ คือผ้าเหมาะกับผู้สูงอายุ และสวมใส่ได้เฉพาะพิธีสำคัญ ๆ เท่านั้น กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดนิทรรศการ “ผ้าหาดเสี้ยว” ขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อโชว์ความจิตรงดงาม ของผ้าจกโบราณ ทั้งผ้าซิ่น ผ้าห่ม ย่าม ผ้าห่อคัมภีร์ และผ้าจก ๙ ลาย เอกลักษณ์ของชาวไทพวนที่สืบทอดกันมากว่า ๑๐๐ ปี
นอกจากนี้ ยังมีผ้าจก ที่ผ่านการประยุกต์ พัฒนาเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า โคมไฟ หมอน ผ้ารองจาน กรอบรูป เก้าอี้ ฯลฯ แบรนด์ “suntree ที่ได้นำมาโชว์ในนิทรรศการครั้งนี้ ด้วย
“นางสาวรวีวรรณ ขนาดนิด” ผู้จัดการร้านสุนทรีผ้าไทย แห่งบ้านหาดเสี้ยว ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ผู้สืบทอดภูมิปัญญาจากผู้เป็นแม่ นางสุนทรี วิชิตนาค ครูภูมิปัญญาไทยรุ่นที่ ๓ ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้สร้างปรากฏการณ์แห่งวงการผ้าทอไทยสู่ผ้าทอโลก กล่าวถึง ชื่อ Suntree ว่า มาจากคำว่า“sun คือพระอาทิตย์ ส่วน tree คือต้นไม้ ทั้งสองสิ่งนี้ต้องอยู่คู่กับโลกเรา เช่นเดียวกับความงามความสุนทรีของภูมิปัญญาผ้าทอไทยจะต้องยังคงอยู่ตลอดไป
Suntree เป็นผลิตภัณฑ์ที่ยังคงใช้เทคนิคเดิมคือใช้ขนเม่นในการจกเส้นฝ้ายเส้นไหม ใช้การเข็นแบบโบราณ ในขณะที่พัฒนาวิธีการถอดลวดลายจากชิ้นผ้า มาสร้างเป็นกราฟในคอมพิวเตอร์ ปรับเปลี่ยนโทนสีจากเดิม เขียว แดง เหลือง ให้มีความนวลตา มากขึ้น การจัดวางลวดลายด้วยวิธีการตกแต่งอันเก๋ไก๋ ชวนหลงใหล
ด้านป้าสุนทรี ได้นำผ้าทอจกมาโชว์ ประกอบด้วย ผ้าซิ่นของคุณยายอายุมากกว่า 100 ปี ลวดลายริ้วสีแดง เขียว บนพื้นดำ ดูธรรมดา ๆ แต่มากด้วยคุณค่าของการสืบสาน, ผ้าซิ่นมุกสีเขียวลวดลายขาเปียที่หาดูได้ยาก, ผ้าที่ใช้ในงานบวช เช่น ผ้าปรกหัวนาค ผ้าคลุมหัวช้าง ผ้าห่อคัมภีร์ ที่ไม่มีแล้วในปัจจุบัน เหล่านี้คือความงดงามแห่งภูมิปัญญาที่มิอาจประเมินค่าได้
และในนิทรรศการ ผ้าหาดเสี้ยว ครั้งนี้ ยังมีผลงาน การพัฒนา ผ้าไทพวน ประยุกต์มาจัดโชว์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชุดผ้ารองจาน ผ้ารันเนอร์ กระเป๋าสีขาวดำรูปทรงเรขาคณิต สุดคลาสสิค ใครจะคิดว่านี่มาจากผ้าห่มไทพวนดั้งเดิม ที่ถูกนำมาแปลงโฉมอย่างลงตัว, เก้าอี้ที่จินตนาการจากเส้นยืนที่ยึดอยู่กับกี่ทอผ้า เช่นเดียวกับกรอบรูปซึ่งจำลองจากเส้นใยบนกี่ทอผ้าที่ยังมิได้ขัดสาน, โคมไฟหุ้มด้วยผ้าจกลวดลายดั้งเดิมสีสันสดใส สะดุดตา, เสื้อผ้าที่นำลวดลายจกมาแต่งนิดเติมหน่อย แลดูทันสมัยไม่แพ้แบรนด์สากล
พิเศษสุดผ้าลวดลายใหม่ “ผ้าจก ๙ ลายทรงเครื่อง” ออกแบบโดยนายวชิรพงษ์ วงศ์ประสิทธิ์ นักวิชาการช่างศิลป์ กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ที่นำจก ๙ ลาย เอกลักษณ์ของไทพวนมาดัดแปลงลวดลายและสีสันให้มีความทันสมัย ละมุนตา รายล้อมด้วยเส้นสายที่ถอดแบบมาจากเครื่องแขวนของไทยผสมผสานกับลายผ้าของลาว อันเป็นต้นกำเนิดของไทพวน ร้อยเรียงเป็นแนวยาวบนผืนผ้าสีสันสดใส เป็นผ้าต้นแบบซึ่งอยู่ในระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร พร้อมมอบให้กับสุนทรีผ้าไทยนำไปพัฒนาเป็นผลงานชิ้นใหม่ต่อไป
นางสาวรวีวรรณ ขนาดนิดกล่าวว่า “เราปรับเปลี่ยนวิธีการ กระบวนการ รูปแบบ เพราะต้องการให้คนรุ่นใหม่สนใจผ้าโบราณ และวันนี้เราก็ประสบความสำเร็จ คนรุ่นใหม่เข้ามาชื่นชมมากขึ้น และต่อจากนั้นเขาก็จะสนใจลึกเข้าไปอีก”
สนใจโทร.055-961-207-8