xs
xsm
sm
md
lg

ปลุกขยะให้เป็นเงิน แจ้งเกิดจานกาบหมาก “บ้านท่าดีหมี” ดีต่อใจ ดีต่อโลก

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เศษกาบต้นหมาก กาบต้นกล้วย และใบไม้ชนิดต่างๆ เดิมจะถูกทิ้งเปล่าเป็นขยะไร้ค่า แต่ด้วยสมอง และสองมือของชาว “บ้านท่าดีหมี” ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย ภายใต้แรงหนุนของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ พัฒนานำเศษพืชกลับมาแปรรูป เติมนวัตกรรม เป็นภาชนะใช้อาหารต่างๆ ทั้งจาน ชาม ถ้วย ฯลฯ สามารถใช้งานได้เหมาะสม ตอบโจทย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึง ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้แก่ชาวชุมชน






จากที่ จ.เลย ประสบภาวะปริมาณขยะเพิ่มสูง จนสถานที่กำจัดขยะมีไม่เพียงพอ หน่วยงานภาครัฐ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ระดมหน่วยงานเกี่ยวข้อง หาวิธีลดปริมาณขยะภายในจังหวัดให้จงได้ นำมาสู่โครงการสนับสนุนให้ชุมชนต่างๆ ภายใจ จ.เลย นำเศษขยะมาแปรรูปใช้ประโยชน์อีกครั้ง รวมถึง ทำเป็นผลิตภัณฑ์สร้างรายได้ โดยปักหมุดเลือกหมู่บ้าน “ท่าดีหมี” เป็นชุมชนนำร่อง เนื่องจากชาวบ้านแห่งนี้มีความพร้อม รวมถึง ในอนาคตพื้นที่บริเวณนี้ จะขึ้นแท่นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวสำคัญแห่งใหม่ประจำภาคอีสาน เพราะกำลังมีการก่อสร้างสกายวอร์คยาวที่สุดในประเทศไทย อีกทั้ง มีแหล่งท่องเที่ยวถนนคนเดินเชียงคาน



ณราศักดิ์ พรมดี ประธานกลุ่มจานกาบหมากบ้านท่าดีหมี

ณราศักดิ์ พรมดี ประธานกลุ่มจานกาบหมากบ้านท่าดีหมี เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านท่าดีหมี ประกอบอาชีพหลัก ทำเกษตร ทั้งทำนา และสวนผลไม้ กระทั่ง เมื่อปลายปีที่แล้ว (2561) หน่วยงานภาครัฐ นำทีมโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และภาคเอกชน เข้ามาให้ความรู้ ตลอดจนสนับสนุนเครื่องจักร เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านนำเศษพืชเหลือทิ้งจากการทำเกษตร ได้แก่ กาบต้นหมาก และกาบต้นกล้วย ที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาแปรรูปผลิตเป็นภาชนะใส่อาหารจากวัสดุธรรมชาติทดแทนการใช้โฟม โดยมีการรวมกลุ่มสมาชิกประกอบอาชีพนี้ จำนวน 19 คน






ด้วยฝีมือของชาวบ้าน โดยมีหน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและเอกชนในท้องถิ่นคอยสนับสนุน ผลิตภัณฑ์ภาชนะจานชามจากเศษพืชที่ผลิตออกมา สามารถใช้งานได้ดี ตรงกับกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม และเมื่อนำไปทดลองตลาดขายในถนนคนเดิน ได้ผลตอบรับอย่างดียิ่ง จนถึงขั้น หลังเริ่มดำเนินการผลิตไม่นาน วัตถุดิบกาบต้นหมาก กาบต้นกล้วย ในท้องถิ่น ไม่เพียงพอใช้ผลิต ต้องไปซื้อมาจาก จ.ตาก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงถึงใบละ 4.5 บาท ไม่จูงใจคนทั่วไปจะซื้อไปใช้ในชีวิตประจำวัน






“แนวทางที่จะลดต้นทุนการผลิต พวกเราจึงทดลองนำเอา “ใบไม้” และ “กาบกล้วย” ที่มีในท้องถิ่นมากมาย มาใช้เป็นวัตถุดิบในการทำภาชนะด้วย ซึ่งใช้ดีพอสมควร ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้ง รวมถึง เตรียมความพร้อมของชาวบ้าน ทั้งด้านการตลาด และการผลิต” ณราศักดิ์ อธิบาย






นอกจากนั้น ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เข้ามาเสริมแกร่งให้คำปรึกษาแนะนำการยกระดับมาตรฐานสินค้า วางแผนธุรกิจ การจัดการทางการเงิน และขยายการตลาด มุ่งส่งเสริมให้เป็นภาชนะหลักใช้ในร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม และที่พัก ในแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างอัตลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของ จ.เลย






“ในช่วงแรกนี้ จะเน้นทำตลาดไปที่ถนนคนเดินเชียงคาน ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว หากทุกร้านอาหารบนถนนเส้นนี้ พร้อมใจกันนำถ้วยจานจากวัสดุธรรมชาติไปใช้ ก็จะเป็นภาพที่สวยงาม เข้ากับบรรยากาศบ้านไม้เก่าเป็นอย่างดี และที่สำคัญจะสามารถลดปริมาณขยะได้มากขึ้นด้วย” ณราศักดิ์ ระบุ






ทั้งนี้ ภาชนะกาบหมากของบ้านท่าดีหมี มีความหลากหลาย เช่น จาน ชาม ถ้วย ถาด เป็นต้น ตั้งแต่ชิ้นเล็กไปจนถึงชิ้นใหญ่ แม้จะเริ่มกิจการผลิตภาชนะจากเศษพืชธรรมชาติได้ไม่นาน ทว่า ดอกผลที่กลับมา น่าชื้นใจไม่น้อย เพราะสามารถสร้างรายได้เสริมให้สมาชิกกลุ่ม เฉลี่ยคนละ 4,000 บาทต่อเนื่อง นอกจากนั้น เพราะมีการสั่งซื้อสินค้าเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้สมาชิก ต้องร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างใกล้ชิดทุกวัน เกิดความรัก ความสามัคคี รวมถึง เป็นการปูรากฐานการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อลูกเพื่อหลาน ทำให้ชาวบ้านท่าดีหมี จ.เลย มีคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชน






ประธานกลุ่มจานกาบหมากบ้านท่าดีหมี เผยด้วยว่า แนวทางพัฒนาของกลุ่ม จะมุ่งยกระดับมาตรฐานสู่มาตรผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ลดต้นทุนวัตถุดิบ เพิ่มช่องทางตลาดขยายผ่านออนไลน์ รวมถึง สื่อให้ผู้บริโภครู้ถึงข้อดีของการใช้ภาชนะจากกาบหมาก และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ใช้อย่างกว้างขวาง


นับเป็นอีกหนึ่งต้นแบบแห่งความสำเร็จ เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ดีต่อใจ และดีต่อโลก








สนใจติดต่อ 0986126237
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น