xs
xsm
sm
md
lg

“แพนด้าซีเล็กเต็ด” พี่หมีใจดีมีครัวแบ่งเช่า

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ร้านอาหารมากมายในจีนเลือกใช้ครัวกลางเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความคล่องตัวในการตอบสนองดีมานด์สั่งอาหารออนไลน์ที่เติบโตสุดขีด
บริการสั่งอาหารผ่านมือถือในแดนมังกรที่โตจัดจ้านกระทั่งร้านใหญ่น้อยรับออร์เดอร์แทบไม่หวาดไม่ไหว กลายเป็นจุดเริ่มต้นเทรนด์ใหม่ที่กำลังบูม นั่นคือพื้นที่ครัวให้เช่าที่ไม่มีโต๊ะ เก้าอี้ หรือพนักงานเสิร์ฟ

แพนด้า ซีเล็กเต็ดเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพครัวกลางให้เช่า (shared kitchen) ที่กำลังมาแรง ล่าสุดเพิ่งเสร็จสิ้นการระดมทุนรอบซีรี่ส์ ซี 50 ล้านดอลลาร์จากกลุ่มผู้สนับสนุนนานาชาติ และตอนนี้กำลังเร่งจีบบริษัทอสังหาริมทรัพย์มาเป็นพันธมิตรตัดหน้าคู่แข่งท้องถิ่น รวมถึงคู่แข่งทุนหนาจากแอลเอที่บริหารโดยเทรวิส คาลานิก ผู้ร่วมก่อตั้งอูเบอร์ เทคโนโลยีส์

การลงทุนรอบใหม่นี้ที่นำโดยไทเกอร์ โกลบัล แมเนจเมนต์ ผู้สนับสนุนอูเบอร์ก่อนที่คาลานิกจะถูกบีบให้ลาออกในปี 2017 ทำให้แพนด้า ซีเล็กเต็ดมีเงินทุนเบ็ดเสร็จ 80 ล้านดอลลาร์

ร้านอาหารมากมายในจีนเลือกใช้ครัวร่วมกันเพื่อลดค่าโสหุ้ย แพนด้า ซีเล็กเต็ดจึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อช่วยจัดหาสถานที่ วัตถุดิบ อุปกรณ์ และการตลาด โดยคิดค่าบริการรายเดือน ไม่รวมค่าบริการอื่นๆ เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ผู้ค้าปรับเมนูกระตุ้นยอดขายบนแพล็ตฟอร์มบริการจัดส่ง เช่น Ele.me และเหม่ยถวน

ซารา เว่ย รองประธานด้านการลงทุนของดีซีเอ็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนแพนด้า ซีเล็กเต็ด ชี้ว่า การที่จีนมีประชากรหนาแน่น ประกอบกับอัตราการเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ที่สูงมาก ส่งผลให้ตลาดจัดส่งอาหารออนไลน์ขยายตัวอย่างน่าตื่นเต้น

จากข้อมูลของเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ ตลาดบริการส่งอาหารจีนมีมูลค่าถึง 37,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ 256 ล้านคนเฉพาะในปี 2016 และคาดว่า จะเพิ่มเป็น 346 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งถือว่า เล็กน้อยมากถ้าเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคน

ไห่เผิง หลี่ ผู้ก่อตั้งแพนด้า ซีเล็กเต็ด เริ่มต้นธุรกิจในปี 2016 ปัจจุบันมีครัว 120 แห่งครอบคลุมเมืองใหญ่ที่สุดอย่างเซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง เซินเจิ้น และหางโจว และมีแผนเพิ่มจำนวนครัวอีกสองเท่าใน 8 เดือนข้างหน้า ครัวแต่ละแห่งมีพื้นที่ 400-500 ตารางเมตร รองรับร้านอาหาร 15-16 แห่ง

พันธมิตรของแพนด้า ซีเล็กเต็ดครอบคลุมแบรนด์อาหารในประเทศกว่า 800 แบรนด์ ซึ่งรวมถึงลัคกิ้น คอฟฟี่, กังฟู และทูบสเตชัน

หลี่บอกว่า บริษัทยังไม่มีกำไร แต่คาดว่า จะถึงจุดคุ้มทุนปลายปีนี้

แนวคิดครัวกลางไม่ได้มีแต่ที่จีนเท่านั้น แต่ยังมีการทดลองในประเทศอื่นๆ ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “cloud kitchen” หรือร้านอาหารเสมือน เช่น เดลิเวอรูในลอนดอนที่นำเสนอครัวภาคสนามทั่วสหราชอาณาจักรสำหรับแบรนด์ร้านอาหารระดับบนเพื่อจัดส่งอาหารให้แก่ลูกค้า

และหนึ่งในสตาร์ทอัพครัวกลางที่ทุนหนาที่สุดคือ คลาวด์คิตเช่นส์ของคาลานิก ซึ่งตามข่าวจากเซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์นั้น คลาวด์คิตเช่นส์กำลังมองหาลู่ทางเจาะตลาดจีน

ข่าวนี้ไม่ได้ทำให้หลี่สะดุ้งสะเทือนแม้แต่น้อย เพราะเขาเชื่อว่า แพนด้า ซีเล็กเต็ดมีข้อได้เปรียบจากความเชี่ยวชาญในท้องถิ่นที่เงินไม่สามารถซื้อได้ นอกจากนั้นกฎระเบียบในแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น