xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.ผนึกสถาบันอาหาร สร้างนักรบพันธุ์ใหม่รองรับศูนย์กลางผลิตอาหารอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมกับสถาบันอาหาร จัดอบรมสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ หรือ New Food Warrior 2019 ยกระดับอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ตั้งเป้า 200 ราย เน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) ของอาเซียน

นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ร่วมสถาบันอาหาร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ในหัวข้อ “การเตรียมพร้อมนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (New Food Warrior 2019)” ในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งการอบรมดังกล่าวมีผู้เข้าอบรมไม่น้อยกว่า 200 ราย
นายอิทธิชัย ยศศรี รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
การอบรมดังกล่าวถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่ผ่านการคัดเลือก เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่องและมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารอนาคต (Future Food) ของอาเซียน และติด 1 ใน 10 ของผู้ส่งออกอาหารของโลกในปี 2565 ด้วยการยกระดับองค์ความรู้ในทุกมิติโดยเน้นด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับตัวให้สอดคล้องกับการแข่งขันในยุคดิจิทัล

แนวทางการพัฒนานักรบอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาเชิงลึก In-house Training กิจกรรมอบรมสัมมนา การทำ Workshop การเรียนรู้จากกรณีศึกษา และการเยี่ยมชมโรงงาน เป็นต้น และในปี 2562 มี 2 กิจกรรมสำคัญ ได้แก่ กิจกรรมการพัฒนานักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ จำแนกออกเป็น 5 หลักสูตร แต่ละหลักสูตรมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป และกิจกรรมการให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ทั้งนี้ จะคัดเลือกผู้ประกอบการสอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ได้แก่ กลุ่มอาหารอนาคต (Future food) ประกอบด้วย 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Food / Functional food) กลุ่มผู้ผลิตสินค้าเกษตรและอาหารอินทรีย์ (Organics) กลุ่มผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์ (Medical food) และกลุ่มผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารสกัดสมุนไพร (Food Supplementary & Herb Extract) เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก โดยเน้นด้านการใช้เครื่องมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการยกระดับผลิตภาพ (Productivity) ให้กับสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ


นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร
นางนิตยา พิระภัทรุ่งสุริยา รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงแนวโน้มเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารปี 2030 ว่า จากการประเมินจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.5 พันล้านคน จากปัจจุบัน 7.5 พันล้านคน ส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ เช่น อาหารที่บริโภคในปริมาณน้อย แต่ให้พลังงานและโปรตีนเพียงพอต่อความต้องการ หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง จะเข้ามาแทนที่อาหารในรูปแบบเดิม

โดยจะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 16.5 หรือประมาณ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรโลก ซึ่งมีความต้องการผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพสมวัย รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อช่วยชะลอวัย ทั้งนี้ ร้อยละ 60 ของคนส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเมือง ดังนั้น ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานและการรับประทานอาหารในร้านอาหารนอกบ้านจึงได้รับความนิยมอย่างมาก

“ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารจึงต้องเลือกใช้เทคโนโลยีการแปรรูปอาหาร เช่น เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารโดยใช้ความดันสูง เทคโนโลยีการฆ่าเชื้อโดยใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้าแรงสูง เทคโนโลยีการปรับคุณภาพของเนื้อสัตว์ โดยใช้คลื่นความดันเชิงกล (Shockwave) ทำให้เนื้อสัตว์นุ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว เป็นต้น ทั้งนี้ ต้องเคร่งครัดมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร เช่น GMP, HACCP และ HALAL เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น