ที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) ได้ร่วม กับจังหวัดแม่ฮ๋องสอน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการต้นแบบ การแก้ไขปัญหาความยากจน ตามคำสั่งการของ "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ ได้ให้ความสำคัญ กับสินค้าเกษตร คือ ถั่วลายเสือ และการส่งเสริมการเลี้ยงแกะเพื่อนำขนมาใช้เป็นเส้นใยในการทอผ้า ตามแนวพระราชดำริ ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮองสอน (หน่วยย่อยปางตอง) สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์
ถั่วลายเสือ
สำหรับถั่วลายเสือ ถือว่า เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จุดเด่นถั่วลายเสือ ของ แม่ฮ่องสอน แตกต่างจาก ถั่วลายเสือ ของจังหวัดอื่นๆ คือ รสชาติ และเมล็ดใหญ่ เพราะด้วยพื้นที่ เป็นหุบเขา ทำให้ถั่วลายเสือ เจริญเติบโตได้ดี และให้ถั่วที่มีรสชาติอร่อย กว่า ถั่วที่ปลูกอยู่บนพื้นราบ เดิม ถั่วลายเสือปลูกอยู่ในพื้นที่แถบภาคอีสาน เพิ่งมีการนำมาปลูกที่แม่ฮ่องสอน ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
นายเธียรชัย แซ่จู สมาชิกกลุ่มพัฒนาสินค้าเกษตรบ้านหนองผาจ้ำ ต.สบป่อง อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกถั่วลายเสือ เล่าให้ฟังว่า "ถั่วลายเสือ" หรือ "ถั่วลิสงพันธุ์กาฬสินธุ์ 2" ในท้องถิ่นปลูกกันมานานเรียกกันหลายชื่อ เช่น ถั่วราชินี ถั่วพระราชทาน ถั่วจัมโบ้ลาย และถั่วลายเสือ ลักษณะเด่นคือ เมื่อแกะฝักถั่วออกเมล็ดของถั่วลายเสือจะมีเยื่อหุ้มเมล็ดคล้ายกับลายหนังเสือโคร่ง มีรูปร่างฝักสวย รูปฝักยาวมีจำนวน 2-4 เมล็ดต่อฝัก
ถั่วรุ่นหนุ่มจะมีเมล็ดสีขาวและเริ่มมีลายพอใกล้ช่วงเก็บเกี่ยวลายและสีจะชัดมากขึ้น รสชาติค่อนข้างหวาน กรอบนุ่มกว่าถั่วลิสงทั่วไป ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ระยะเวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90-100 วัน ผลผลิตฝักสดเฉลี่ย 580 กิโลกรัมต่อไร่ ผลผลิตต่อปี 500 – 600 ถัง 1 ถัง นน. 10 กิโลกรัมฝักดิบ ต้นทุนต่อถัง 65 -70 บาท ขายเฉลี่ยราคา 120 – 200 บาท/ถัง ขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิตแต่ละปี โดยมีพ่อค้ามารับซื้อถึงไร่
ส่วนพื้นที่การปลูกถั่วลายเสือ ที่หนองผาจ้ำ ประมาณ 100-200 ไร่ มีเกษตกรผู้ปลูก 150 ราย เป็นการปลูกถั่วแบบหมุนเวียนสลับกับการปลูกข้าว และพืชอื่นๆ โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถั่วลายเสือ จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค มากขึ้น หลังจากที่มีการนำมาแปรรูป เป็นถั่วคั่ว และส่งออกไปจำหน่ายในหลายจังหวัด โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ รวมถึงมีการส่งออกไปยังประเทศจีน ทำให้ความต้องการถั่วลายเสือมากขึ้น
ล่าสุด มีพ่อค้าจากประเทศจีน สนใจ ต้องการถั่วลายเสือ หนองผาจ้ำจำนวนมาก แต่ทางกลุ่มยังขาดเครื่องไม้ เครื่องมือ ในการกะเทาะเปลือกถั่ว เนื่องจากทางผู้ซื้อ ต้องการถั่วเมล็ดที่กระเทาะออกจากเปลือกแล้ว ถ้ามีเครื่องกะเทาะเปลือก มาช่วยจะทำให้ทางกลุ่มสามารถรับออเดอร์จำนวนมาก ในเวลาที่ลูกค้ากำหนดได้ ซึ่งครั้งนี้ ทางกลุ่มได้มาขอความช่วยเหลือทางสสว. และสสว.ได้จัดงบช่วยตามโครงการแก้ปัญหายากจน โดยผลผลิตถั่วลายเสือ ที่เกษตกรกลุ่ม หนองผาจ้ำ ผลิตได้ปัจจุบันอยุ่ที่ประมาณ 7-8 แสน กิโลกรัมต่อปี ราคาถั่วเมล็ดแห้ง จำหน่ายอยู่ขณะนี้อยู่ที่ถังละ 250-300 บาท
การปลูกถั่วลายเสือปัจจุบัน เกษตรกรได้เรียนรู้วิธีการปลูก จากหน่วยส่งเสริมการเกษตร จ.แม่ฮ่องสอน ทำให้ต้นทุนลดลง ผลผลิตที่ได้มากขึ้น และได้รับการสนับสนุนด้านการตลาด จาก ทางจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง สสว. ช่วยนำผลผลิตถั่วลายเสือไปจำหน่าย ให้คนในกรุงทพฯ ได้รู้จัก ล่าสุด สสว. ยังได้นำถั่วลายเสือไปวางจำหน่ายที่ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สามารถขายถั่วหมดภายในไม่กี่ชั่วโมง เกินความคาดหมาย ตั้งใจว่าจะนำมาขายตลอดการจัดงาน
ผลิตภัณฑ์ขนแกะ
นอกจาก ถั่วลายเสือ พืชเศรษฐกิจ ตัวใหม่ของแม่ฮ่องสอน ทางจังหวัด และ สสว.ยังมีโครงการส่งเสริมการสร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมการเลี้ยงแกะ เพื่อนำขนมาเป็นเส้นใยในการถักทอเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่ม จากขนแกะ ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งครั้งนี้ สสว. ได้รับความร่วมมือ จากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มาช่วยในการออกแบบ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอจากขนแกะให้มีความร่วมสมัย เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากแกะ ให้มีราคาและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้
นายภูรี วีระสมิทธ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน (หน่วยย่อยปางตอง) สำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยของเราอยู่ภายใต้ การดำเนินงานของ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกษตรที่สูง ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ ตั้งอยุ่ที่ ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ประมาณ 36 กิโลเมตร " ศูนย์ปางตอง" มีพื้นที่รับผิดชอบ ประมาณ 5,400 ไร่ เปิดดำเนินกิจกรรม ประมาณ 2,500 ไร่ ดำเนินกิจกรรมในการส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้ราษฎรในหมู่บ้านเป้าหมายที่อยู่ในพื้นที่สูง และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ด้านการพัฒนา
ทั้งนี้ ศูนย์แห่งนี้ มีฐานการเรียนรู้ในหลายๆ ด้าน และการเลี้ยงแกะ อยู่ในฐานการเรียนรู้ ด้านการเลี้ยงสัตว์ บนพื้นที่สูง ตามแนวพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ โดยแกะที่นำมาเลี้ยงประกอบไปด้วย 2 สายพันธุ์ คือ แกะพันธุ์บอนด์ และพันธุ์คอร์ริเดล มีแกะที่เลี้ยงภายในศูนย์จำนวน 200 ตัว แต่ที่ส่งเสริมการเลี้ยงให้กับเกษตรกร ในกลุ่มแม่ลาน้อย จำนวน 40 ตัว ซึ่งทางศูนย์ ได้เลี้ยงแกะ มานานกว่า 10 ปี ขนแกะที่ได้ ส่งให้กับกลุ่มผลิตภัณฑ์จากขนแกะ กลุ่มทอผ้าขนแกะปางตอง มีสมาชิกจำนวน 25 คน ขนแกะที่ได้นำไปทอเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ผ้าคลุมไหล่ และหมวก ฯลฯ ซึ่งจำหน่ายอยู่ภายในศูนย์ฯ ให้กับนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศ ราคาจำหน่าย เริ่มต้น 500 บาท สำหรับหมวก และ ผ้าคลุมไหล่ ราคา เริ่มต้น 1,200 บาท ฯลฯ
โดยแกะที่ผ่านการเลี้ยง จากศูนย์ฯแห่งนี้ เมื่ออายุได้ประมาณ 1 ปี นำมาตัดขน โดย 1 ตัวจะได้ขนแกะน้ำหนักประมาณ 3 กิโลกรัม แต่เมื่อผ่านการ คัดแยกและสางขนแล้วจะหายไปครึ่งหนึ่ง และเมื่อนำมาทอเป็นเส้นใยเหลือประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม การตัดขนแกะตัดได้เพียงปีละ 1 ครั้ง ส่วนราคาขนแกะที่จำหน่ายกันทั่วไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 6,000 บาท ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทอขนแกะ มีราคาสูงมาก แต่ด้วยคุณสมบัติของผ้าทอขนแกะที่ ให้ความอบอุ่น และขนที่นิ่ม จึงได้รับความนิยม กลุ่มประเทศที่มีอากาศหนาว
สำหรับผ้าทอขนแกะ ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน นอกจากที่ศูนย์ฯ ยังมีกลุ่มทอผ้าขนแกะ ชื่อว่า "กลุ่มมะลิวัลย์" ซึ่งกลุ่มนี้ ทำอย่างจริงจังเป็นอาชีพหลัก และมีชื่อเสียง มานาน สินค้าที่ผลิตได้จะมีผู้มารับซื้ออย่างต่อเนื่อง โดยทางกลุ่มมีรายได้ต่อปี มากถึง 1.7 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ทางศูนย์ฯได้ส่งสมาชิก ทางกลุ่มทอผ้าปางตอง ไปทำการฝึกฝีมือ ที่กลุ่มมะลิวัลย์ เช่นกัน แต่ปัญหาของกลุ่มทอผ้าปางตอง คือ ยังขาดเครื่องไม้ เครื่องมือ ในการทำงาน เช่น ที่สางขนแกะ ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาสูงถึงคู่ละ 2,500-3,000 บาท เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น และทำได้ปริมาณมากขึ้น ได้รับการช่วยเหลือจากทางสสว. ในการจัดงบมาให้เพื่อจัดซื้อเครื่องมือ มาใช้ในการทำงาน ตามโครงการแก้ปัญหาความยากจน
อย่างไรก็ตาม โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ดำเนินการ สสว. และหน่วยงานเครือข่าย ตามคำสั่งการของนายกรัฐมนตรี มีด้วยกันถึง 6 กิจกรรม และยังมีอีกหลายจังหวัด ซึ่งทางสสว. คาดหวังว่า ถ้าการดำเนินการที่จังหวัดแม่ฮองสอน เป็นผลสำเร็จ ก็จะนำไปเป็นต้นแบบในการสร้างอาชีพ และแก้ไขปัญหาความยากจนในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *