“มะพร้าวกะทิ” คือ มะพร้าวที่มีเนื้อในผลหนา 2-3 ซม. อ่อนนิ่ม เนื้อฟูคล้ายผิวมะกรูด น้ำในผลมีน้อย ลักษณะข้นเหนียว รสชาติเนื้อนั้น หวานมัน หอมมาก นิยมรับประทานกันสดๆ หรือคู่กับน้ำเชื่อม
“มะพร้าวกะทิ” หาทานยาก นานๆ จะพบในทะลายมะพร้าวพันธุ์ปกติบางต้นเท่านั้น เช่นใน 10 ผล จะพบมะพร้าวกะทิ 1 หรือ 2 ผล สังเกตง่ายๆ ลูกมะพร้าวอายุ 11-12 เดือน ถ้าเป็นมะพร้าวกะทิ ให้ลองเขย่าจะไม่ได้ยินเสียงของน้ำข้างใน แต่ถ้าเป็นมะพร้าวแก่พร้อมแกง เขย่าแล้วจะได้ยินเสียงคลอนน้ำ เนื้อมะพร้าวกะทิ มีเส้นใยอาหารสูง ดีกับระบบขับถ่าย มีไขมันต่ำ และมีกรดลอริกสูงถึง 46%
ทั้งนี้ ด้วยคุณประโยชน์ ของมะพร้าวกะทิ ที่มีไขมันต่ำ และมีไฟเบอร์สูง ทำให้มะพร้าวกะทิเป็นที่ต้องการของตลาดคนรักสุขภาพ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในต่างประเทศ และด้วยมะพร้าวกะทิ เป็นมะพร้าวที่หายาก ทำให้มีราคาสูงกว่า มะพร้าวทั่วไปมาก โดยปัจจุบันราคาจำหน่ายมะพร้าวกะทิ ที่ขายผลสด ถึงผู้บริโภค ราคาสูงถึงลูกละ 130-170 บาท และราคาหน้าสวนสูงถึงลูกละ 70 บาท ในขณะที่ราคาต้นพันธุ์ มะพร้าวกะทิ ก็ถีบตัวสูงไปถึงต้นละ 2,500 บาท
ปัจจุบัน มีผู้สามารถเพาะสายพันธุ์ มะพร้าวกะทิ ที่ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ ทั้งต้น แบบไม่ต้องรอผลผลิตตามธรรมชาติ เหมือนอย่างในอดีต และมีโรงงานรับซื้อ และแปรรูปมะพร้าวกะทิ อยู่ที่ อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ ชื่อว่า Thapsakae Select เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นจาก สามพี่น้อง ประกอบด้วย "นางสาวฉันทนา แซ่ลิ้ม" "นายสมภพ แซ่ลิ้ม" และ "นายสมศักดิ์ แซ่ลิ้ม"
นายสมศักดิ์ ( คุณต้น) เล่าว่า สำหรับกิจการ Thapsakae Select เกิดขึ้นมาจาก ครอบครัวของเราอยู่ที่อำเภอทับสะแก แห่งนี้ และในอดีต รุ่น ก๋ง และ เตี่ย มีอาชีพปลูกมะพร้าวขาย เป็นอาชีพหลัก รายได้ส่วนหนึ่งจากการขายมะพร้าว ทำให้เราทั้ง 3 คนได้เรียนหนังสือ และแยกย้ายไปประกอบอาชีพ ต่างๆ ตามที่ได้เรียนมา ไม่มีใครได้มาสืบทอดกิจการมะพร้าว จนวันหนึ่ง ผมซึ่งเรียนการบินมา ไปทำงานมาระยะหนึ่ง รู้สึกไม่ชอบงานที่ทำ จึงลาออก กลับมาอยู่บ้าน ส่วนพี่ชาย เรียนจบด้านการแพทย์ และพี่สาว ได้ออกเรือนแต่งานไปทำกิจการส่วนตัวอยู่กับสามี
และวันหนึ่ง เราทั้ง 3 คน เห็นว่า ผลผลิตมะพร้าว กิจการของครอบครัว ไม่มีคนดูแล และราคามะพร้าว ก็ตกมาก ทั้งสามคน คิดว่า ถ้าอย่างนั้น กลับมาเปิดกิจการแปรรูปมะพร้าว และถ้าเป็นมะพร้าวทั่วไป ก็คงต้องไปแข่งกับผู้ค้ารายอื่นๆ ในตลาด
สุดท้าย เลือกทำมะพร้าวกะทิ ซึ่งทั้ง 3 คนรู้จัก มะพร้าวกะทิ เป็นอย่างดี เพราะเกิดมากับชาวสวนมะพร้าว ในอดีตมะพร้าวกะทิ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่เคยมีผู้ปลูกมะพร้าวสายพันธุ์ที่ให้มะพร้าวกะทิโดยตรง มะพร้าวกะทิ ที่มีอยู่ในตลาด เกิดขึ้นมาจากธรรมชาติ ซึ่งมะพร้าว 1,000 ลูก จะได้เจอมะพร้าวกะทิ ประมาณ 100 ลูก แต่ด้วยพื้นที่อำเภอทับสะแก เป็นแหล่งปลูกมะพร้าว แหล่งใหญ่ ดังนั้น การหามะพร้าวกะทิ ยังพอจะหาได้ ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อนักท่องเที่ยวมาเที่ยวทับสะแก สิ่งหนึ่งที่นิยมซื้อไปฝากกัน คือ มะพร้าวกะทิ
สำหรับผลิตภัณฑ์มะพร้าวกะทิ ของ Thapsakae Select ประกอบไปด้วย เนื้อมะพร้าวกะทิ สดแช่แข็ง มะพร้าวกะทิเชื่อม มะพร้าวกะทิ เกล็ด และ ไอศกรีมมะพร้าวกะทิ ล่าสุดจำหน่ายต้นพันธุ์มะพร้าวกะทิ เริ่มทำมาได้ประมาณ 3 ปี วัตถุดิบ มะพร้าวกะทิ มาจากสวนของตนเองส่วนหนึ่ง และรับซื้อจากเกษตรกรในพื้นที่ โดยในแต่ละเดือน ต้องการมะพร้าวกะทิ จากเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 1 ตัน ครึ่ง ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ที่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการขยายตลาดต่างประเทศ
ทั้งนี้ จึงได้ร่วมกับ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการเพาะ และขยายพันธุ์ มะพร้าวกะทิ ที่เป็นสายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตมะพร้าวกะทิ อย่างเดียว ขณะนี้ ช่วงของการเพาะต้นอ่อน คาดว่า จะได้ลงแปลงปลูกในปีนี้ จำนวน 1,200 ต้น บนพื้นที่ 60 ไร่ และ มีแผนที่จะจำหน่ายให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อำเภอทับสะแก นำไปปลูกแซม กับมะพร้าวที่ปลูกอยู่แล้ว ตั้งเป้าว่า จะขยายพันธุ์มะพร้าวกะทิในแปลงปลูกได้ ไม่ต่ำกว่า 100 ไร่
ส่วนราคาต้นพันธุ์มะพร้าวกะทิ อยู่ที่ต้นละ 2,500 บาท ซึ่ง "คุณต้น" บอกว่า เกษตรกรที่ซื้อต้นพันธุ์จากตนเอง ทางเราจะทำข้อตกลง ประกันราคารับซื้อผลผลิตให้ แต่จะกี่ปี และราคาเท่าไหร่ตอนนี้ ยังไม่ได้กำหนด อาจจะดูเป็นรายๆ ไป โดยต้นพันธุ์ที่ปลูกในปีนี้ จะสามารถเก็บผลผลิตได้ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า
"นายสมศักดิ์" กล่าวถึง ตลาดมะพร้าวกะทิ ว่า คนรุ่นใหม่ บางคนอาจจะไม่รู้จัก แต่คนที่มาทับสะแก ส่วนใหญ่ ก็จะหามะพร้าวกะทิ กลับไปฝาก คนทางบ้าน หรือหารับประทานเอง เพราะรู้ว่า มะพร้าวกะทิ มีสารอาหาร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และให้ไขมันต่ำกว่า มะพร้าวกะทิแกง ทั่วไป ซึ่งในต่างประเทศ นิยมกินมะพร้าวกะทิกันมาก แต่ในตลาดเพียง ประเทศฟิลลิปปินส์ ที่มีการปลูกมะพร้าวกะทิ จำหน่าย ในเมืองไทย ยังไม่เห็นการส่งออกมะพร้าวกะทิ แบบจริงจัง เพราะด้วยผลผลิตที่ยังมีไม่มาก ดังนั้น ในครั้งนี้ ผมและพี่ๆ ตั้งใจ ทำตลาดส่งออก แต่ด้วยออเดอร์ ที่เข้ามามาก เรายังมีวัตถุดิบไม่เพียงพอ คงจะต้องรอวัตถุดิบ ที่ปลูก ในปีนี้ และดูช่องทางหาวัตถุดิบก่อน จึงจะสามารถรับออเดอร์ตลาดส่งออกได้
ส่วนการทำตลาดในประเทศ ขณะนี้ ส่วนใหญ่ส่งขายลูกสด ให้กับกลุ่มคนรักสุขภาพ และผู้ผลิตขนมหวาน นอกจากขายลูกสด ผู้ผลิตขนมหวานบางรายรับเป็นมะพร้าวกะทิเชื่อม และ เกล็ดมะพร้าวกะทิ ไปใช้ในการทำขนม ซึ่งนอกจากลูกค้าประจำ ที่ส่งแล้ว มีจำหน่ายปลีกผ่านทางออนไลน์
ที่ผ่านมา มีวิธีการ ประชาสัมพันธ์แนะนำมะพร้าวกะทิ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเจาะกลุ่มของคนรักสุขภาพ หรือ คนที่ต้องการลดน้ำหนัก เพราะด้วยคุณประโยชน์ มีไฟเบอร์สูง และไขมันต่ำ ทำให้รับประทานแล้วไม่อ้วน จึงได้รับความนิยมในกลุ่มของลูกค้าที่ดูแลรูปร่างเพิ่มมากขึ้น
ส่วนผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุด คือ ไอศกรีมมะพร้าวกะทิ จุดขายของไอศกรีมกะทิ ของเรา คือ เป็นไอศกรีมใช้ความหวานมัน ตามธรรมชาติ จากมะพร้าว และเป็นไอศกรีมมะพร้าวกะทิ ที่มีไขมันต่ำ ซึ่งช่องทางการขาย เริ่มจากการแนะนำสินค้า ทางหน้าร้านก่อน แล้วค่อยขยายตลาด โดยแผนกระจายสินค้าผ่านตัวแทนขายในรูปแบบแฟรนไชส์
ทั้งนี้ จะเห็นว่า การเข้ามาทำตลาดมะพร้าวกะทิ ในครั้งนี้ ของ Thapsakae Select เป็นตัวอย่างของการปรับตัวของผู้ประกอบกิจการมะพร้าว และเกษตรกร ผู้ปลูกมะพร้าว ได้มีทางเลือกใหม่ ในภาวะที่ราคามะพร้าวตกต่ำ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การขยายกิจการของ Thapsakae Select เกิดขึ้นได้ เพราะได้รับการสนับสนุนด้านเงินกู้ จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม แห่งประเทศไทย SME Development Bank หรือ ธพว.
สนใจ โทร. 08-9922-7842 FB: Thapsakae Select
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager