xs
xsm
sm
md
lg

กว่าจะเป็น 'มะเขือเทศ เต่างอย' สู่ผลิตภัณฑ์แปรรูป 'ดอยคำ' แห่งแรกแดนอีสาน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงต้องการแก้ปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกรชาวเต่างอย โดยให้เกษตรกรเพาะปลูกมะเขือเทศหลังการทำนา เพื่อนำมาทำน้ำมะเขือเทศแปรรูป กระทั่งกลายเป็นที่มาของโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 ในพื้นที่ อ.เต่างอย จ.สกลนคร


นายพิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด เผยว่า ที่มาของโรงงานหลวงมะเขือเทศดอยคำนั้นก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงต้องการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกรชาวเต่างอย ทรงประทับ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนครและเสด็จไปยังหมู่บ้านนางอย-โพนปลาไหล กิ่งอำเภอเต่างอย ได้ทรงทอดพระเนตรเห็นความเป็นอยู่อันแร้นแค้นของราษฎร หลังจากนั้นทรงให้เกษตรกรปลูกมะเขือเทศหลังจากการทำนาโดยใช้ดินเดียวกัน พอได้ผลผลิตแล้วจึงนำเข้าโรงงานแปรรูปและนำไปขายตามท้องตลาด
นายไพวัน โคตรทุม เกษตรกรปลูกมะเขือเทศ
ปัจจุบันโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) มีพืชผักนานาชนิด โดยเฉพาะมะเขือเทศที่ถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในหลากหลายรูปแบบ จึงเกิดเป็นผลิตภัณฑ์มะเขือเทศภายใต้แบรนด์ ดอยคำ เช่น น้ำมะเขือเทศ ซอสมะเขือเทศ มะเขือเทศทาขนมปัง และมะเขือเทศอบแห้งรวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ


ทั้งนี้ นายไพวัน โคตรทุม เกษตรกรปลูกมะเขือเทศ เผยว่า ปลูกมะเขือเทศมาตั้งแต่วัยรุ่น จนตอนนี้จะ 50 ปีแล้ว จากการชักชวนของเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน ทุกวันนี้เขาแบ่งที่นาที่มี 16 ไร่ ออกมา 1 ไร่เพื่อปลูกมะเขือเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากดอยคำในการให้คำแนะนำในการเพาะปลูก และช่วยรับซื้อผลผลิต ซึ่งราคาในแต่ละปีไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และผลผลิตที่ได้ในแต่ละปี ตั้งแต่เริ่มปลูกมะเขือเทศก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะเสร็จจากหน้านาก็ยังมีอาชีพ

นาย ณัฐวุฒิ ทองสมเพียร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตร


ด้าน นาย ณัฐวุฒิ ทองสมเพียร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาเกษตร ให้ข้อมูลว่า แปลงเกษตรมะเขือเทศในพื้นที่ อำเภอเต่างอย ทางเจ้าหน้าที่จะให้เกษตรกรปลูกมะเขือเทศหลังการทำนาเป็นรุ่นๆ ไป เช่น รุ่นที่ 1 ปลูกในช่วงเดือนกันยายน- ตุลาคม รุ่นที่ 2 ปลูกในช่วงเดือน พฤศจิกายน และรุ่นที่ 3 จะปลูกในช่วงเดือนธันวาคม ส่วนมากผลผลิตที่ได้จะอยู่ในช่วงรุ่นที่ 2-3 นอกจากนี้สายพันธุ์มะเขือเทศที่เกษตรกรนิยมปลูกมากที่สุดคือ มะเขือเทศสายพันธุ์ เพอร์เฟ็คโกลด์ 111 เนื่องจากจะให้ผลผลิตที่ดี มีเนื้อแน่น สวยงาม เปลือกหนา ต้านทานโรคได้ดีกว่าสายพันธุ์อื่นๆ รวมถึงจะมีลักษณะลำต้นที่สูงกว่า เหมาะแก่การนำไปแปรรูปและจำหน่ายตามท้องตลาด



สำหรับการแบ่งสัดส่วนของการนำมะเขือเทศเข้าแปรรูปในโรงงานหลวง เจ้าหน้าที่ดูแลจะให้เกษตรกรเป็นคนตัดสินใจและคัดแยกผลของมะเขือเทศเพื่อนำเข้าสู่การแปรรูป ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายจะมีโควตาเป็นของตัวเองในการแบ่งมะเขือเทศเข้าสู่โรงงาน ทั้งนี้ พื้นที่การปลูกมะเขือเทศในพื้นที่เต่างอยจะมีทั้งหมด 500 กว่าไร่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 พื้นที่ เพื่อเป็นการกระจายผลผลิตให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น



ในส่วนของการดูแล แปลงเกษตรมะเขือเทศนั้นจะใช้การดูแลโดยใช้การให้น้ำตามร่อง หลีกเลี่ยงการรดน้ำแบบสปริงเกอร์ เพราะจะทำให้ใบของต้นมะเขือเทศขึ้นราได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงการรดน้ำถูกต้นมะเขือเทศโดยตรง ปกติรากของต้นมะเขือเทศจะมีลักษณะที่ยาว จึงสามารถดูดซึมน้ำจากการรดแบบให้ตามร่อง โดยจะมีการขุดร่องบริเวณแปลงมะเขือเทศ นอกจากนี้การให้น้ำเกษตรกรจะให้แบบเว้นช่วง วันต่อวัน ถ้าหากช่วงไหนมีสภาพอากาศที่ร้อนจัด ดินแห้งก็อาจจะให้น้ำเพิ่มตามสภาพของอากาศ นอกจากนี้ในส่วนของการเก็บเกี่ยวเกษตรกรจะไม่มีการใส่ปุ๋ย จะทิ้งระยะห่างเพื่อลดสารตกค้างหลังการใส่ปุ๋ย
นายจักรพงศ์ กงแก่นทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ในฐานะตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2560


ด้าน นายจักรพงศ์ กงแก่นทา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ในฐานะตัวแทนกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศปี 2560 เล่าว่า ตนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 จนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนที่จะเข้ามาเป็นยุวเกษตรฯ ตนไม่ได้ชื่นชอบเรื่องเกษตรมากนัก แต่เหตุที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการคือการที่อยากเห็นเกษตรกรได้มีรายได้เพิ่มขึ้น อยากได้โอกาสเพื่อศึกษาดูงาน พอเข้าร่วมกลุ่มตนก็ได้รับตำแหน่งเป็นประธานดูแลกลุ่มยุวเกษตรของโรงเรียน ทำให้ตนได้ทักษะการเป็นผู้นำ ทักษะการพูดต่างๆ รวมถึงได้ใช้ความเป็นคนรุ่นใหม่ที่นำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยี ด้านวิทยาศาสตร์ เข้ามาช่วยส่งเสริมแต่งเติมความรู้ให้กับเกษตรกรในหมู่บ้าน หน้าที่หลักของตนจะเป็นการดูแลและบริหารจัดการของแต่ละกลุ่ม เช่น การต่อยอดมะเขือเทศ การทำข้าว รวมถึงได้แนะนำองค์ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกร



ทั้งนี้ยังได้มีการเผยแพร่ความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการฯ ร่วมกับโรงงานหลวงที่ 3 มาพัฒนาความรู้ให้ตนเองและสามารถเผยแพร่ให้แก่เกษตรกรภายในหมู่บ้าน ในเรื่องของการใช้สารอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ รวมถึงให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกคราม ย้อมครามเองได้ด้วยตนเอง ซึ่งปัจจุบันเด็กนักเรียนที่อยู่ในโครงการสามารถทำเองและสร้างเป็นอาชีพได้ นอกจากนี้จากเดิมที่ไม่เคยชอบและไม่อยากเข้าร่วมโครงการ แต่หลังจากตัดสินเข้าร่วม ทำให้สามารถเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ที่ไม่เคยรู้ เช่น การทำเกษตรยุคใหม่ การสร้างรายได้จากพืชผลเกษตร สนุกในการเรียนรู้เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาตนเองได้ในอนาคต



นอกจากนี้โรงงานหลวงที่ 3 (เต่างอย) ที่นอกจากจะสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แล้วยังสามารถต่อยอดและพัฒนาแปลงเกษตรให้แก่เกษตรกรเพื่อให้เกิดการสร้างรายได้ และมีผลผลิตที่สามารถนำเข้าโรงงานหลวงเพื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ของดอยคำในรูปแบบต่างๆ รวมถึงยังให้ความรู้สึกเป็นสถานที่ท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามโรงงานหลวงที่ 3 จึงเป็นโรงงานเพื่อผลิตสินค้าแบรนด์ดอยคำ และยังช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชในหมู่บ้านให้เกิดรายได้อีกหนึ่งช่องทาง รวมถึงยังยึดเป็นอาชีพสร้างธุรกิจได้ในอนาคต




* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น