xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์’ ร่วมอาลีบาบา ใช้ Taobao Village Model พัฒนาชนบทหลุดพ้นความยากจน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการหารืออาลีบาบา ประสบความสำเร็จร่วมกันผลักดันไทยปฏิรูปประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เร่งสนับสนุนองค์ความรู้ติวเข้มบุคลากรไทยให้เป็นบุคลากรดิจิทัล ...เตรียมนำ Taobao Village เป็นต้นแบบขยายตลาดสินค้าเกษตร-ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยที่อยู่ห่างไกลแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำระยะยาว พร้อมเล็งขยายประเภทสินค้าไทยสู่ตลาดจีนให้มีความหลากหลายมากขึ้นผ่านช่องทาง Tmall.com

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มอบหมายให้นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนนครหางโจว มณฑลเจ้อเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ การส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการ ได้แก่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าภายใน กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ระหว่างวันที่ 5 - 7 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เพื่อร่วมหารือและกำหนดแนวทางการนำอี-คอมเมิร์ซมาช่วยแก้ปัญหาความยากจนของประเทศไทยกับผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบา

ผลการหารือกับ Mr.Brian Young, Vice President of Global Initiatives, Alibaba Group และผู้บริหารระดับสูงของอาลีบาบา รร่วมกันผลักดันประเทศไทยให้ปฏิรูปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อไทยหลุดพ้นจากความยากจนได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยไทยพัฒนา 5 ด้าน 1) ปัจจัยแวดล้อมด้านสังคม ได้แก่ บุคลากรมีการศึกษาด้านดิจิทัล ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ตลาดมีการเชื่อมโยงเข้าถึงกัน โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและอินเทอร์เน็ตมีความพร้อม 2) ปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ การมีแพลทฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce Platform) แพลทฟอร์มการชำระเงินออนไลน์ (Digital Payment Platform) แพลทฟอร์ม โลจิสติกส์อัจฉริยะ (Smart Logistics Platform) รวมทั้ง แพลทฟอร์มเกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ (Cloud Computing and Big Data Platform) 3) ปัจจัยด้านข้อมูล ได้แก่ การบริหารจัดการทรัพย์สินเกี่ยวกับข้อมูล การแลกเปลี่ยนข้อมูล การปกป้องข้อมูล และจริยธรรมเกี่ยวกับข้อมูล 4) การประยุกต์และการนำโครงสร้างพื้นฐานและข้อมูลไปใช้งานจริง เช่น การจัดตั้งธุรกิจ Digital Retail (เช่น Hema Supermarket) การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-Border e-Commerce) หรือ การพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) เป็นต้น และ 5) ปัจจัยด้านการกำกับดูแล ได้แก่ การกำกับดูแลข้อมูล การกำกับดูแลแพลทฟอร์ม และการกำกับดูแลความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน (Collaboration Governance)”

รมว.พณ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประเทศไทยเตรียมนำ Taobao Village ซึ่งเป็นรูปแบบการค้าออนไลน์ผ่านช่องทาง e-Commerce มาเป็นต้นแบบในการพัฒนาช่องทางตลาดค้าขายสินค้าเกษตร/ผลิตภัณฑ์ชุมชนให้แก่เกษตรกรและผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทยในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ และแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมทั้ง เป็นการสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรหนุ่มสาวรุ่นใหม่กลับเข้ามาทำงานในท้องถิ่น ถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาสังคม

จากการลงพื้นที่ศึกษาเยี่ยมชมหมู่บ้านไป่หนิว เมืองหลินอัน ที่เป็นหนึ่งในต้นแบบหมู่บ้าน Taobao ที่มีการนำ e-Commerce มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพ โดยความสำเร็จของหมู่บ้านไป่หนิว เกิดจากการที่ประชากรในหมู่บ้านมีหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการยุคใหม่ (Entrepreneurial Mindset) ศึกษาเรียนรู้ด้วยตัวเองเกี่ยวกับการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเครื่องมือประกอบอาชีพ รวมทั้ง เรียนรู้จากบุคคลต้นแบบที่ทำการค้าออนไลน์ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นด้านเงินทุนการเริ่มต้นกิจการ เช่น การให้เงินทุนสนับสนุนจำนวน 30,000 หยวน หรือการให้เงินกู้จำนวน 1-2 แสนหยวน โดยปราศจากดอกเบี้ยแก่ผู้ประกอบการเริ่มต้นธุรกิจที่เข้าหลักเกณฑ์/เงื่อนไขที่กำหนด รวมทั้ง การมีระบบขนส่งโลจิสติกส์ที่สนับสนุนการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบ และสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคที่อยู่ในตัวเมืองและต่างพื้นที่ในระยะเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนี้ ปัจจัยความสำเร็จของหมู่บ้านไป่หนิวยังเกิดจากการบริหารจัดการชุมชนที่มีประสิทธิภาพใน 6 มิติ ได้แก่ (1) การสร้างกรอบความคิด (Mindset) ในการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจของคนในชุมชน (2) การรวบรวม (Sourcing) และบริหารจัดการวัตถุดิบ (3) การบริหารจัดการกลุ่มวิสาหกิจ/ชุมชน (4) การสร้างพลังของความร่วมมือระหว่างประชากรในชุมชน (5) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริหารแบรนด์สินค้า และ (6) การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือออนไลน์ควบคู่กับออฟไลน์ (Omni-Channel) ในการเข้าถึงตลาดผู้บริโภค

ทั้งนี้ ประเทศไทยจะได้นำต้นแบบ Taobao Village ไปปรับใช้ในการส่งเสริมพัฒนาวิสาหกิจชุมชน เกษตรกร และ ผู้ประกอบการของไทยทั้งที่อยู่ในชุมชนห่างไกลและในเมือง เพื่อใช้เป็นช่องทางในการขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้น อีกทั้ง ทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพในราคายุติธรรมโดยตรงจากผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ในการนำเสนอสินค้าไทยที่มีศักยภาพเข้าสู่ตลาดจีน อาทิ ผลไม้ไทย สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ คณะผู้แทนฝ่ายไทยได้เรียนเชิญให้ผู้บริหาร Alibaba และ Taobao เยี่ยมชมพื้นที่หมู่บ้านในประเทศไทย เพื่อพิจารณาสินค้าชุมชนของไทยที่มีศักยภาพในการเจาะเข้าสู่ตลาดจีน หรือมีศักยภาพในการแปรรูป เพื่อจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ของกลุ่มบริษัท Alibaba อีกด้วย

และได้หารือร่วมกันผลักดันสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดประเทศจีน โดยเพิ่มประเภทสินค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น ผ่านช่องทาง Tmall.com เช่น Tmall Fresh แพลทฟอร์มการซื้อขายสินค้าประเภทอาหารสดที่ต้องอาศัยการควบคุมอุณหภูมิ แบ่งเป็น 6 หมวด ได้แก่ ไข่ (Eggs) ไอศกรีม (Ice Cream) ผัก (Veggie) ผลไม้ (Fruit) เนื้อสัตว์ (Meat) และอาหารทะเล (Seafood) Tmall Global แพลทฟอร์มการซื้อขายสินค้า เน้นผลิตภัณฑ์ด้านความงามและบำรุงผิว อาหารเสริม อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าที่เกี่ยวกับแม่และทารก (Mother and Baby) รวมทั้งเครื่องแต่งกายและรองเท้า (Apparel and Shoes)

โดยกลุ่มเป้าหมายหลัก ได้แก่ กลุ่มคนชั้นกลางใหม่ (New Middle Class) กลุ่ม Young Millennial (อายุน้อยกว่า 30 ปี) และกลุ่มผู้บริโภค Generation Z (อายุน้อยกว่า 23 ปี) จะเป็นการซื้อขายในลักษณะ B2C ระหว่างประเทศ โดยจีนเป็นฝั่งผู้ซื้อ รวมทั้ง ผลักดันให้สินค้าประเภทกล้วยไม้และอัญมณีของไทยสามารถจำหน่ายผ่านช่องทางการประมูล Ali Auction ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มการประมูลซื้อสินค้าของกลุ่มบริษัท Alibaba โดยจะทำให้ผู้ปลูกกล้วยไม้และผู้ผลิต/ผู้ค้าอัญมณีของไทยสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้โดยตรงกับกลุ่มลูกค้าชาวจีน โดยได้รับราคาที่ยุติธรรมมากขึ้น เนื่องจากจะสามารถจำหน่ายสินค้าได้ในราคาที่ผู้บริโภคยอมจ่ายในอัตราสูงสุด ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ/ผู้ค้าไทย ขณะเดียวกันผู้บริโภคชาวจีนก็จะได้รับสินค้าที่มีความพึงพอใจสูงสุดในราคาที่ยอมรับได้

ประเทศไทยควรนำแนวคิดของจีนมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมของประเทศ ซึ่งจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนและยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรในพื้นที่ห่างไกลด้วยการใช้ยุทธศาสตร์ Digital Transformation โดยต้องมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเหนียวแน่นในรูปแบบ “ประชารัฐ” รวมทั้ง เร่งส่งเสริมให้ประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มมูลค่าและขยายช่องทางการตลาดให้กับผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนการสร้างช่องทางการจัดจำหน่าย (Market Channel) ระบบโลจิสติกส์ (Logistic) ที่มีประสิทธิภาพ ระบบการชำระเงินที่น่าเชื่อถือ โดยรัฐบาลได้จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานของระบบการสื่อสาร (Internet Infrastructure) ให้ครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว ทั้งนี้ หากประเทศไทยสามารถนำแนวคิดดังกล่าว มาประยุกต์ใช้ให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เชื่อมมั่นว่าประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักแห่งความยากจนและสามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้เร็วขึ้น” รมว.พณ.กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น