xs
xsm
sm
md
lg

มธ. เผยผลสำรวจ SMEs เศรษฐกิจปี 62 ขยายตัว ส่วน ผปก.ไม่กล้าเสี่ยงทำธุรกิจใหม่

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสาธารณะ และคณะฝ่ายสัมมนา




คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยเศรษฐกิจไทยปี 62 จะขยายตัวประมาณ 3.79% หวั่นผลกระทบจากการเมืองและเศรษฐกิจในประเทศ ด้านผู้ประกอบการ ระบุ ยังไม่มีเป้าหมายชัดเจนในการทำ Digital Transformation เนื่องจากผู้ประกอบการยังไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการเสี่ยงในการทำธุรกิจ






ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้อำนวยการคณะทำงานจัดการองค์ความรู้และสื่อสาธารณะ และคณะฝ่ายสัมมนา กล่าวว่า คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สำรวจความเห็นของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวน 643 ราย เกี่ยวกับทิศทางของธุรกิจและเศรษฐกิจไทยในปี 2562 พบว่า เมื่อสอบถามถึงผลการดำเนินงานในปี 2561 เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ พบว่า ด้านที่มีผลการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.ด้านการลงทุน 52.0 % ของผู้ประกอบการทั้งหมด 2.ด้านสภาพคล่อง 38.0% และ 3.ด้านรายได้ 37.0% สำหรับด้านที่มีการดำเนินการได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ด้านสภาพคล่อง 21.0% ของผู้ประกอบการทั้งหมด 2.ด้านกำไร 2.0% และ 3.ด้านรายได้และด้านการจ้างงาน 19.0% เท่ากัน






สำหรับการคาดการณ์ผลการดำเนินงานปี 2562 เทียบกับปี 2561 พบว่า ด้านที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานต่ำมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.ด้านการลงทุน 56.0% ของผู้ประกอบการทั้งหมด 2.ด้านสภาพคล่อง 37.0% และ 3.ด้านรายได้ 33.0% สำหรับด้านที่มีการดำเนินการได้สูงกว่าที่คาดไว้ 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ด้านรายได้ 25.0% ของผู้ประกอบการทั้งหมด 2.ด้านกำไร 20.0% และด้านสภาพคล่อง 19.0%




ด้านปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อธุรกิจ จะเป็นการประเมินระดับความรุนแรงของผลกระทบด้วยการคิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 1% ถึง 100% โดยสัดส่วนที่สูงขึ้นหมายถึงระดับผลกระทบที่สูงขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเอสเอ็มอี ได้แก่ 1.การเมือง 81.4% 2.เศรษฐกิจไทย 78.2% และ 3.เศรษฐกิจโลก 67.3% นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจคือปัจจัยด้านการขาดแคลนบุคคลากรและการแข่งขันที่สูงขึ้นก็มีผลต่อธุรกิจในระดับที่ใกล้เคียงกับภาวะเศรษฐกิจโลก




ทิศทางการปรับตัวในปี 2562 ผู้ประกอบการ 64.4 ระบุว่า เน้นการทำตลาดออนไลน์ให้เพิ่มมากขึ้น 41.1% จะปรับโครงสร้างธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น 38.2% เพิ่มการหาตลาดต่างประเทศ 32.2% หาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต 25.8% สร้างแบรนด์ของตนให้เป็นที่รู้จัก 24.1% ปรับโมเดลธุรกิจให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน 18.7% ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ 18.4% พัฒนาบุคลากร 14.5% ใช้เครื่องจักรแทนแรงงาน 13.6% ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์และอีก 12.6% ยังไม่มีแนวทางในการปรับตัวที่ชัดเจน







ทั้งนี้อุปสรรคในการทำ Digital Transformation พบว่า อุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่ 1.การขาดเป้าหมายที่ชัดเจน 84.2% 2.ไม่สามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเองได้ 82.1% 3.ไม่ทราบว่าจะได้รับประโยชน์ในด้านไหนบ้าง 77.3% 4.งบประมาณไม่เพียงพอ 77.2% และ 5.ไม่เข้าใจการทำ Digital customer journey 72.7%





อย่างไรก็ตามสำหรับภาครวมของเศรษฐกิจไทยปี 2562 ผู้ประกอบการคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3.79% ส่วนการแก้ไขปัญหาสำหรับผู้ประกอบการที่ยังกลัวการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ คือ ต้องปรับความคิดใหม่ให้เข้าในระบบธุรกิจที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต จากเดิมเป็นการทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไป การลงทุนระยะสั้น เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลัวที่จะต้องเสียภาษี หรือกลัวว่าธุรกิจจะไม่เติบโต จึงหันกลับไปใช้ความคิดแบบดั้งเดิมคือการขายแบบระยะสั้น ส่งผลให้ธุรกิจไม่เติบโตต่อเนื่องและไม่ยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องปรับความคิดใหม่ให้เป็นการซื้อขายระยะยาว การกล้าที่จะก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลกให้ได้
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager




กำลังโหลดความคิดเห็น