xs
xsm
sm
md
lg

“โลโร” เพื่อนคู่ใจผู้ใช้วีลแชร์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

โลโร เพื่อนร่วมทางอัจฉริยะสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ (ภาพจากเว็บไซต์โลโร)
ด้วยความตั้งใจดีของนักศึกษาฮาร์วาร์ดที่ต้องการช่วยเหลือเพื่อนที่ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กลายมาเป็นจุดกำเนิดของ “โลโร” อุปกรณ์อัจฉริยะที่ติดตั้งบนวีลแชร์เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นไกลขึ้น อ่านหรือแปลข้อความ แสดงท่าทางหรือสัญญาณต่างๆ และสามารถโต้ตอบกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเหมือนคนทั่วไป ที่สำคัญคือพึ่งพิงตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมาช่วย

โลโรคือเพื่อนร่วมทางส่วนตัวของผู้ใช้วีลแชร์ที่ใส่ใจ ขี้เล่น ฉลาด พูดได้ รับฟัง และเรียนรู้ด้วยระบบ AI (ปัญญาประดิษฐ์) และ machine learning (ส่วนการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์) นอกจากนั้นยังสามารถติดตามตรวจสอบสถานะสุขภาพของผู้ใช้แบบเรียลไทม์ และเตือนเมื่อถึงเวลากินยา ฯลฯ

แพล็ตฟอร์มนี้ประกอบด้วยกล้องหมุนได้ 360 องศา และปรับเอียงได้ 180 องศาเพื่อจับภาพรอบตัวทั้งหมด ระบบจดจำใบหน้า ตัวชี้เลเซอร์เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสื่อสารได้ทั้งแบบ Text To Speech (การส่งข้อความให้ระบบแปลงข้อความออกมาเป็นเสียง) และ Speech to text (การแปลงคำพูดเป็นข้อความตัวอักษร) ระบบปฏิบัติการที่ควบคุมด้วยการสัมผัสหรือสายตา ผู้ใช้ยังสามารถถ่ายภาพ บันทึกวิดีโอ และสตรีมสดได้ทุกที่ทุกเวลา

โลโรช่วยเพิ่มความสามารถทางกายภาพของผู้ใช้ในการสื่อสารกับผู้อื่นด้วยหนึ่งวิธีการขึ้นไป ช่วยผู้มีปัญหาทางกายภาพรับมือความท้าทายต่างๆ และพึ่งพิงตัวเองได้อย่างแท้จริง ด้วยความสามารถในการสื่อสาร มองเห็น ควบคุม และเชื่อมต่อกับสภาพแวดล้อม

โลโรที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยทีมงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาในห้องปฏิบัติการนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เริ่มต้นในรูปกล้องเพื่อช่วยให้คนพิการมองเห็นสิ่งรอบตัวง่ายขึ้น

โจเฮ ซ่ง ผู้ร่วมก่อตั้งและครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของโลโร เล่าว่า ริเริ่มโครงการนี้เพื่อเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักออกแบบและได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis – ALS) โดยโจทย์ข้อแรกคือ การหาวิธีช่วยเหลือผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหว

เดวิด โฮจาห์ ผู้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพแห่งนี้ เล่าต่อว่า เริ่มแรกทีมงานมีไอเดียแค่ติดกล้องบนวีลแชร์เพื่อให้ผู้ใช้มองเห็นภาพรอบตัวแบบ 360 องศาและสามารถควบคุมรถเข็นได้ง่ายขึ้น แต่หลังจากคุยกับที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งเฝ้าสังเกตการณ์ผู้ป่วย และคิดทบทวนแผนการซ้ำหลายรอบ สุดท้ายไอเดียจึงถูกต่อยอดกลายเป็นแพล็ตฟอร์มที่ฉลาดขึ้นและมีความสามารถหลากหลายขึ้น

โลโรไม่ได้ออกแบบมาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ป่วย ALS และผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวร่างกายเท่านั้น แต่ยังเพื่อช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ ที่ผู้ใช้วีลแชร์พบในชีวิตประจำวันซึ่งอาจเป็นปัญหาที่ไม่คาดคิดหรือไม่มีวิธีแก้ไขที่ชัดเจนเสมอไป

การคลุกคลีกับผู้ป่วยยังทำให้ได้รับรู้สิ่งที่คนเหล่านั้นกังวลและนำไปสู่โซลูชันที่ใช้ได้จริง เช่น ไฟฉายที่ผู้ใช้สั่งงานผ่านอินเทอร์เฟซของกล้อง

โฟกัสของโลโรคือการสื่อสารและการพึ่งพาตัวเองได้ ดังนั้น ข้อมูลจากผู้ใช้จึงเป็นไกด์อย่างดีว่า อุปกรณ์นี้ควรทำอะไรได้บ้าง และเมื่อระดมสมองแล้วและพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ทีมงานจะนำไปให้ผู้ป่วยทดลองว่า ใช้ได้จริงหรือไม่ รวมถึงดูว่า ฟีเจอร์ไหนที่ผู้ป่วยใช้มากที่สุด

ซ่งและโฮจาห์ยอมรับว่า ขณะนี้มีอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้มีปัญหาในการเคลื่อนไหวขายในตลาดอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่แพงแถมใช้ยาก

ด้วยประสบการณ์การออกแบบอุปกรณ์การแพทย์ของโฮจาห์ โลโรจึงได้รับการออกแบบให้สามารถเข้าถึงได้มากที่สุด ด้วยอินเทอร์เฟซบนแท็บเล็ต (ผ่านการตั้งค่ากล้อง Tobii ที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวของดวงตาเพื่อสั่งงาน) หรืออินพุทอื่นๆ เช่น จอยสติ๊ก และอุปกรณ์สั่งการด้วยการเป่าหรือพ่นลม

ปัจจุบัน ทีมงานของโลโรอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการพัฒนาฮาร์ดแวร์ ขณะที่แอปและความสามารถต่างๆ เกือบสำเร็จหมดแล้ว เช่นเดียวกับตัวบริษัทที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นเพราะเพิ่งก่อตั้งได้ไม่กี่เดือนและขับเคลื่อนด้วยเงินทุนระดับ pre-seed จำนวน 100,000 ดอลลาร์ในการสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์

โฮจาห์ทิ้งท้ายว่า ทีมงานทั้งหมดกระตือรือร้นที่จะทำให้ผู้มีปัญหาในด้านต่างๆ สามารถพึ่งพิงตัวเองได้จริงโดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่น และย้ำว่า พลังขับเคลื่อนของพวกเขาคือ ความกระตือรือร้น


กำลังโหลดความคิดเห็น