บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) จับมือหน่วยงานภาครัฐ หนุนธุรกิจปลากัด เปิดตัวระบบส่งพิเศษจากผู้เลี้ยงสู่ผู้ซื้อ นำร่องให้บริการสมาชิกที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง พร้อมติดตั้งจุดบริการฝากส่ง 124 ปณ.ทั่วประเทศ แนะขั้นตอนบรรจุพร้อมส่งอย่างถูกต้องปลอดภัย ส่งด่วนวันเดียวถึงเทียบเท่าอีเอ็ม
นายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการนครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เปิดเผยว่า ไปรษณีย์ไทย พร้อมร่วมสนับสนุนธุรกิจสัตว์น้ำสวยงาม โดยเริ่มจาก“ปลากัด” เป็นอย่างแรกซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมและมีโอกาสเติบโตสูง ด้วยระบบการขนส่งพิเศษในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบรรจุหีบห่อที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด การใช้กล่องพิเศษที่เรียกว่า กล่อง 4Commerce สำหรับบรรจุสินค้าเพื่อจัดส่งโดยเฉพาะ พร้อมติดสติกเกอร์สัญลักษณ์บริการส่งปลากัด จนถึงกระบวนการขนส่งพิเศษที่แยกออกจากระบบปกติ เพื่อส่งถึงผู้รับได้อย่างปลอดภัยและรวดเร็วในมาตรฐานเดียวกับบริการส่งด่วนพิเศษ EMS
“ในระยะแรกจะนำร่องให้บริการแก่กลุ่มผู้ค้าปลากัดที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับกรมประมง ประมาณ 1,500 ราย โดยยืนยันสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชั่น Wallet@Post และแสดงตนก่อนส่งปลากัดทุกครั้ง ณ จุดให้บริการ 124 ที่ทำการไปรษณีย์ ทั่วประเทศ โดย 48 แห่ง อยู่ในกทม.และปริมณฑล ปณ.จังหวัด 73 จังหวัด รวมถึง ปณ.บ้านโป่ง ปณ.โพธาราม จังหวัดราชบุรี และ ปณ.บางไทร อยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการอยู่มาก ส่วนพื้นที่อื่นๆ จะมีการขยายเพิ่มในระยะต่อไป” นายมานพ กล่าว
ดร.อมรรัตน์ เสริมวัฒนากุล นักวิชาการประมงทรงคุณวุฒิ กรมประมง กล่าวว่า ปลากัดไทยเป็นสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มการเติบโตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้รับความนิยมอย่างมาก และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางสร้างชื่อเสียงในระดับสากล กรมประมงจึงมีโครงการยุทธศาสตร์ปลาสวยงามมาตั้งแต่ปี 2556-2559 สนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาธุรกิจโดยใช้อีคอมเมิร์ซเป็นเครื่องมือในการขยายช่องทางการตลาด ความร่วมมือครั้งนี้เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของกระบวนการขนส่งสินค้าปลาสวยงามภายในประเทศ ผลักดันและสนับสนุนให้เกิดความรวดเร็วและมีความปลอดภัยไปจนถึงมือลูกค้า โดยเริ่มจากปลากัดเป็นชนิดแรก และต่อไปอาจจะเป็นการจัดส่ง กุ้งสี ปลาหมอสี ปลาหางนกยูง และปลาสวยงามชนิดอื่นๆ
“ด้วยอวัยวะพิเศษช่วยการหายใจ ทำให้ปลากัดมีข้อได้เปรียบในเรื่องความอดทน เลี้ยงง่าย และขนส่งถึงลูกค้าได้อย่างสะดวก การบรรจุที่เป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน รวมถึงมีการปรับลดอุณหภูมิไม่ให้ปลาร้อน และระบบการขนส่งที่ออกแบบมาโดยเฉพาะ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ทำให้เกิดการขยายตัวของตลาด เพิ่มช่องทางในการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตต่อไป” ดร.อมรรัตน์ กล่าว
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปลากัดที่ขายกันในท้องตลาดอยู่ที่ 4-5 บาท/ตัวเท่านั้น ทางกรมประมง เห็นเกษตรกรยิ่งเพราะเลี้ยงยิ่งเป็นหนี้ใน ขณะที่บางรายทำแล้วรวย เนื่องจากสามารถเพิ่มมูลลค่าให้ปลากัดได้ จึงพยายามช่วยเหลือเกษตรกรด้านการตลาดโดยใช้ช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เห็นได้ชัดจากบางครอบครัวที่รุ่นลูกมาเพาะเลี้ยงขายได้ในราคาหลักร้อย ทำให้กรมประมงให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะเชื่อมั่นว่าจะสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็งโดยปัจจุบันสายพันธ์ปลากัดของไทย มีกว่า 100-200 ชนิด
ด้านนายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวเสริมว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้เป็นผลจากการดำเนินงานพัฒนาผู้ประกอบการปลาสวยงาม (ปลากัด) ในโครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 โดยในปีนี้ได้ร่วมผลักดันและสนับสนุนการออกแบบจัดทำสติกเกอร์สัญลักษณ์การส่งปลากัด พร้อมบรรจุภัณฑ์สำหรับหุ้มห่อเพื่อให้การขนส่งปลากัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรมขึ้น
“ภารกิจหลักของ สสว. คือการดูแลเอสเอ็มอีให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนโดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มซึ่งกลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงประกาศก็ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้ประกอบการที่มีจำนวนมากและมีพลังในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็งมีหัวใจ ของนักสู้ไม่ต่างจากประกาศ ดังนั้น สสว. จึงได้ร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย เติมเต็มด้านการขนส่งทำให้การทำงานของทุกภาคส่วนสอดรับกันได้อย่างลงตัว” ผอ.สสว. กล่าว
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกประกาศไปต่างประเทศแล้วประมาณ 26 ล้านตัว โดยส่งไปที่สหรัฐอเมริกากว่า 10 กว่าล้านตัว ในขณะที่ประเทศอิหร่าน เตรียมนำเข้าอีกเป็นจำนวนมากในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค ปี 62 เนื่องจากเป็นเทศกาลแห่งการให้ ซึ่งมักจะให้ปลากัดเพื่อสื่อถึงการมีชีวิตชีวาแก่ผู้รับ ทำให้ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากัดเร่งเพาะพันธุ์ปลากัดเพื่อให้ทันกับเทศกาลดังกล่าว