xs
xsm
sm
md
lg

หอยนาพาแซ่บ เมนูหอยโข่งนึ่งสมุนไพร ภาคเหนือ สู่กทม.ฟันรายได้เดือนละหลักแสนบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พอพูดถึง หอยนา หอยโข่ง หลายคนก็คงจะนึกว่า แล้วมันจะกินได้เหรอ เพราะที่ผ่านมา ยังไม่เคยมีใครนำมาทำกินกันอย่างจริงจัง จะพบแค่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่นำมาใส่ในเมนูส้มตำบ้าง

แต่วันนี้ โลกแห่งการค้าขาย ไม่ว่าอะไรที่เขาว่าอร่อย จะถูกนำมาทำเป็นอาหาร และเปิดเป็นร้านจำหน่ายได้ทั้งนั้น รวมถึง ร้านหอยนา ร้านแรกของเมืองหลวง อย่างร้าน “หอยนาพาแซ่บ” แห่งนี้ ที่นำหอยโข่ง มานึ่งด้วยสมุนไพร ตามสูตรโบร่ำ โบราณ ของคนเมืองเหนือ พร้อมด้วยน้ำจิ้มสูตรแซ่บ ของครอบครัว “ปริศนา ขัตติยศ” เจ้าของร้านหอยนาพาแซ่บ
คุณปริศนา ขัตติยศ  เจ้าของร้าน
ปริศนา เล่าว่า ครอบครัวของเธอเป็นครอบครัวเกษตรกร ซึ่งพ่อทำเกษตรอินทรีย์ เดินรอยตามในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพ่อยังได้รับเลือกให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ของอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ โดยพื้นที่การเกษตรของเราจะปลูกพืชไร่และทำนาในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์ และต่อมาตนเอง ได้ลาออกจากการทำงานประจำ พนักงานธนาคารแห่งหนึ่งทำมากว่า 10 ปี และได้กลับบ้านเกิดมาสานต่องานด้านเกษตรกรรมร่วมกับพ่อ และได้รับเลือกให้เป็น ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ เช่นเดียวกับพ่อ

ทั้งนี้ ได้มีโอกาสไปให้ความรู้ในเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ ในฐานะที่เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ และหนึ่งในความรู้ที่เราไปบรรยยาย มีเรื่องของการเลี้ยงหอยโข่งในนาข้าวอยู่ด้วย ซึ่งความรู้ที่ได้มาจากการที่เราได้มีโอกาสรู้จักกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงหอยทางอินเทอร์เน็ต ประกอบกับส่วนตัว สนใจการเลี้ยงหอยโข่งอยู่แล้ว เพราะข้อดีของหอยโข่ง คือ ไม่สะสมสารพิษ หรือ สารเคมีในตัว ทำให้เมื่อนำไปบริโภคน่าจะปลอดภัยต่อร่างกาย มากกว่าการรับประทานหอยชนิดอื่นๆ ดังนั้น ถ้าเกษตรกรที่ต้องการเพาะเลี้ยงหอยโข่งในนาข้าว จะต้องทำนาแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น จึงจะเลี้ยงได้ ซึ่งข้อดีของการเลี้ยงหอยโข่งในนาข้าว คือ ช่วยปรับสภาพน้ำ สภาพดิน ช่วยให้ดินอุดมสมบูรณ์ส่งผลต่อการเติบโตของต้นข้าว

หลังจากแนะนำการเลี้ยงหอยโข่ง เกษตรกรมีคำถามว่า เมื่อเลี้ยงหอย และจะนำผลผลิตไปขายที่ไหน และด้วยเหตุนี้เอง ตนเองก็เลยคิดว่า จะทำอย่างไร จึงจะช่วยขายหอยให้เกษตรกรได้ ก็เลยเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพราะมีคนต่างจังหวัดทั้งภาคเหนือ และอีสานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเริ่มปักหลักเปิดร้านขายหอย อยู่ที่ตลาดนัดกลางคืน อย่างตลาดนัดมะลิ เลียบทางด่วนเมืองทองธานี ชื่อว่า หอยนาพาแซ่บ ซึ่งสูตรนึ่งหอยสมุนไพร และสูตรน้ำจิ้มสูตรเด็ดในครั้งนี้ มาจากที่บ้านของเธอเอง

โดยเริ่มเปิดร้านครั้งแรก เมื่อ 5 เดือนก่อนหน้านี้ ตอนนั้น ไม่มั่นใจว่าลูกค้าจะให้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน รู้แค่ว่า คนต่างจังหวัด คนเหนือ และคนอีสาน เขาก็กินกัน และในกรุงเทพฯ ก็มีคนต่างจังหวัดอยุู่มาก น่าจะขายได้ ตอนเปิดวันแรกก็ยอมรับว่า ขายได้ไม่มาก ช่วงแรกวันหนึ่งขายได้ประมาณ 10-15 กิโลกรัม แต่พอผ่านไปประมาณ 1 เดื่อน ขายได้เยอะขึ้น วันหนึ่งขายได้ประมาณ 30-35 กิโลกรัมต่อวันต่อสาขา


คุณปริศนา บอกว่า การขายหอยโข่งตักเสิร์ฟขายเป็นจานพร้อม น้ำจิ้ม จานเล็ก ราคา 60 บาท น้ำหนักหอยประมาณ 3 ขีด ส่วนจานใหญ่ จานละ 100 บาท น้ำหนักหอยประมาณเกือบ 1 โลกรัมในแต่ละคืนสามารถขายหอยได้ เกือบ 100 จาน ลูกค้ามีทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ และจากยอดขายเพิ่มขึ้นทำให้มั่นใจ ถึงมีแผนการขยายสาขาเพิ่ม และจากลูกค้าอยากให้เราไปเปิดใกล้บ้าน เป็นที่มาของการขยายสาขาเพิ่ม ปัจจุบันสามารถขยายสาขาไปแล้วถึง 5 สาขา เป็นการขยายเอง 3 สาขา และลักษณะแฟรนไชส์ 2 สาขา ซึ่งราคาแฟรนไชส์ เริ่มต้นที่ 40,000 บาท

ทั้งนี้ จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้คุณปริศนา ในฐานะยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ สามารถช่วยเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยโข่ง ตามคำแนะนำ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชและทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ให้สามารถขายหอยโข่งได้มากขึ้น โดยในแต่ละสัปดาห์เขา จะต้องสั่งซื้อหอยโข่งจากเกษตรกรเหล่านั้นมาขายไม่ต่ำกว่า 200-300 กิโลกรัม ซึ่งถ้ามีการขยายสาขาแฟรนไชส์ออกไป ยิ่งทำให้ต้องใช้หอยจำนวนมากขึ้น เป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรอินทรีย์ทางอ้อมได้อีกทางหนึ่ง และช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึบหลักหมื่นบาทต่อเดือน



ทั้งนี้ ราคาขายหอยโข่ง ที่รับซื้อในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 30-50 บาท ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูกาล ถ้าเป็นฤดูฝนหอยออกจำนวนมาก ราคาก็จะถูก แต่ถ้าเป็นช่วง หน้าหนาวแบบนี้หอยจะออกน้อย ราคาสูงไปถึง 50-55 บาท ต่อกิโลกรัม กำไร จากการขายหอย ของร้านหอยนาพาแซบ ประมาณ 50% เพราะหอยสด 1 กิโลกรัม เมื่อนึ่งแล้วจะหายไปประมาณ 25-30%

นอกจากการับหอยโข่งจากเกษตรกร คุณปริศนา บอกว่า เธอยังรับสมุนไพรจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการปลูกพืชผักแบบอินทรีย์มาใช้ด้วย เช่น ข่า ตะไคร้ ใบโหระพา เป็นต้น ซึ่งหอยที่นำมาใช้จะเป็นหอยขนาดกลาง ไม่เล็กและใหญ่เกินไป อายุหอยอยู่ที่ประมาณ 6 เดือน เพราะถ้าใหญ่เกินไป ลูกค้าจะกลัวไม่กล้าซื้อ หรือเล็กเกินไปก็จะไม่ได้เนื้อ

"การเลี้ยงหอยโข่งไม่ยุ่งยาก เพราะหอยสามารถหาอาหารตามธรรมชาติได้ แต่ถ้าเลี้ยงเพื่อจำหน่ายอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอ อาจจะทำให้หอยโตช้า ต้องเสริมด้วยผลไม้สุก ผัก หรือ อาหารเม็ดใช้เลี้ยงปลาดุก ที่สำคัญ ต้องระวังเรื่องศัตรูของหอย ต้องกำจัดออกให้หมด ไม่ว่าจะเป็นกบ เขียด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่นๆ หรือ ปลาบางชนิด เช่นปลาช่อน พวกนี้จะเป็นศรัตรูของหอย"




สำหรับ ร้านหอยนาพาแซ่บ อาจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่ง ที่ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแบบเกษตรอินทรี มีรายได้เพิ่มขึ้น และยังสร้างอาชีพให้กับผู้ที่สนใจต้องการจะเปิดร้านขายหอยโข่ง เช่นเดียวกับคุณปริศนา สนใจเรื่องราวของหอยโข่ง สามารถโทรคุยกับเธอได้ที่ ....เบอร์ด้านล่าง

โทร.09-2701-3053





* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น