xs
xsm
sm
md
lg

สวทช.นำหุ่นยนต์ขนส่งอาลีบาบา สาธิตผปก.พื้นที่ EEC หวังลดต้นทุนโลจิสติกส์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สวทช.จับมือ สถาบันไทย-เยอรมัน จัดสัมมนา ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ EEC เพิ่มศักยภาพด้านระบบอัตโนมัติแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ โดยนำผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตหุ่นยนต์ขนส่ง ของ อาลีบาบา ให้ความรู้ พร้อมสาธิตการทำงานจริง

นายสนัด วงศ์ทวีทอง รองผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ร่วมกับ เครือข่ายโปรแกรม ITAP สถาบันไทย-เยอรมัน จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “Alibaba Smart Logistics and Lean Management for Manufacturing” กิจกรรมภายใต้โครงการ ICT for SME เพื่อให้ความรู้และเพิ่มศักยภาพด้านระบบอัตโนมัติแก่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ EEC (ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง) เข้าร่วมงานกว่า 180 ราย



โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญผู้ผลิตหุ่นยนต์ขนส่งของอาลีบาบาร่วมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ ถึงแนวโน้มเทคโนโลยี AI หุ่นยนต์อัจฉริยะ พร้อมสาธิตการทำงานของหุ่นยนต์ที่ใช้ในโกดังจริง รวมถึงเตรียมพร้อมรองรับต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้นและตลาดแรงงานที่ขาดแคลน และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในพื้นที่นำไอทีไปใช้เพิ่มมากขึ้น

“จากข้อมูลฟอร์บส ไทยแลนด์ ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนด้านโลจิสติกส์อยู่ที่ 18% ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ที่ต่ำกว่า 10% ดังนั้น เพื่อให้แข่งขันได้ สวทช. เชิญผู้เชี่ยวชาญ Mr. Sebastain Leung ตัวแทนจาก Quicktron บริษัทผลิตหุ่นยนต์ขนส่งของอาลีบาบา ผู้มีประสบการณ์ในการจัดการระบบขนถ่ายวัสดุ มากกว่า 20 ปี ได้นำหุ่นยนต์ที่ใช้ในคลังสินค้าของอาลีบาบามาจำลองการทำงานจริง พร้อมเปิดโอกาสให้วิศวกรรมซอฟต์แวร์มีส่วนร่วมในการพัฒนาโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ที่เชื่อมโยงกับ WMS, ERP, OEE และ Real time Monitoring ของแต่ละธุรกิจด้วย” นายสนัด กล่าว



Mr. Sebastain Leung, Project Director, MAX STORAGE ENGINEERING (HK) COMPANY กล่าวถึงการทำงานของหุ่นยนต์ในคลังสินค้าของอาลีบาบา ว่า เป็นหุ่นยนต์เพื่อใช้เคลื่อนย้ายสินค้าได้ตลอด 7 วัน 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน สั่งงานจากระบบ ERP (Enterprise Resource Planning) จากการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม ส่งต่อไปยังระบบ WMS (warehouse management system) ผ่านระบบ WiFi ควบคุมการสั่งงานโดยอัตโนมัติ

จุดเด่นของหุ่นยนต์ดังกล่าวอยู่ที่ ความสามารถในการยกน้ำหนักได้มากถึง 1 ตัน เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง 1.5 เมตรต่อวินาที ทำงานได้ 8 ชั่วโมง ต่อการบรรจุแบตเตอรี่ 1 ครั้ง ทำงานด้วยระบบ AI ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการคลังสินค้า ทั้งในแง่ต้นทุน ความถูกต้อง และความรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น