กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจับมือหน่วยงานพันธมิตร จัดทำราคากลางไม้ยืนต้น เพื่อเป็นราคาอ้างอิงในการใช้เป็นหลักประกันขอกู้เงินจากแบงก์ คาดก.พ.62 ได้ข้อสรุปชัดเจน มั่นใจทำให้การใช้ไม้ยืนต้นค้ำขอกู้เงินเพิ่มขึ้นแน่ เผยการปลูกไม้ยืนต้นยังช่วยให้ไทยเป็นผู้ส่งออกไม้เศรษฐกิจในอนาคต
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดทำราคากลางไม้ยืนต้นสำหรับใช้อ้างอิงในการตีราคากลางให้กับไม้ยืนต้นแต่ละชนิดว่าควรจะเป็นเท่าไร และคิดเป็นมูลค่าในการใช้เป็นหลักประกันในการยื่นขอกู้ยืมเงินจากธนาคารได้เท่าไร เพื่อรองรับการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกร ประชาชนและชุมชน ทำการปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือที่ดินที่มีสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์โดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ยังได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดชนิดของไม้ยืนต้นทางเศรษฐกิจที่จะได้รับการส่งเสริมเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจนั้น มีชนิดใดบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้เกษตรกร ประชาชน และชุมชน เลือกเพาะปลูกไม้ยืนต้นที่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนสูงสุด และสามารถตัดเพื่อแปรรูปใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทั้งสองแนวทางได้กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.2562
“ตอนนี้ กฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2561 ซึ่งว่าด้วยเรื่องการนำไม้ยืนต้นที่มีค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจ ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย.2561 ที่ผ่านมา และหากมีความชัดเจนในเรื่องราคากลาง ชนิดไม้ที่จะส่งเสริม จะทำให้มีการใช้ไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันเพื่อขอกู้เงินเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”
นอกจากนี้ กรมฯ ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างมูลค่าให้กับไม้ยืนต้น และผลักดันให้ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกไม้เศรษฐกิจสำคัญ เพื่อป้อนความต้องการของตลาดโลก โดยจะมีการสำรวจถึงอนาคตว่าไม้ชนิดใดที่ปลูกได้ดีในประเทศไทยและเป็นไม้ที่ตลาดต่างประเทศต้องการ ก่อนที่จะทำการส่งเสริมและผลักดันให้มีการเพาะปลูกต่อไปด้วย
นายวุฒิไกรกล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่ปลูกป่าทั่วประเทศ ยังจะช่วยเพิ่มแหล่ง “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) เพื่อการซื้อขายในอนาคต โดยคาร์บอนเครดิตเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่สามารถตีราคาเป็นเงินและสามารถซื้อขายกันได้ในตลาดเฉพาะที่เรียกว่าตลาดคาร์บอน โดยในปัจจุบันยังไม่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย แต่ในอนาคตคาดว่าจะเป็นสินค้าที่มีความสำคัญและมีการซื้อขายกันมากยิ่งขึ้น เพื่อทดแทนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนไดออกไซต์) ที่ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาผลาญเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมหรือจากการคมนาคม
รู้หรือไม่ ! ต้นไม้มีค่า 58 ชนิด สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้