น้ำจากเยื่อไผ่ เป็นน้ำซึ่งได้มาจาก การดูดซึมของต้นไผ่ ในตอนกลางคืน เพื่อนำไปเลี้ยงลำต้น และใบ และเมื่อเจาะลำต้นไผ่ในตอนกลางคืน ก็จะได้น้ำจากเยื่อไผ่ ที่ พบว่า มีสารอาหารทั้งวิตามิน และแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อ้างอิง จากผลการวิจัยในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการดื่มน้ำจากเยื่อไผ่ กันมานาน
สำหรับในประเทศไทย “อาจารย์เดโช สู่โนนทอง” เจ้าของไร่สีวลี ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นผู้บุกเบิก และทำการผลิตน้ำจากเยื่อไผ่ เป็นรายแรกๆ ของประเทศไทย โดยอาจารย์ได้มีการนำน้ำจากเยื่อไผ่ ไปทำการทดสอบหา สารอาหารในห้องทดลอง ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ สกลนคร ก่อนจะนำมาจำหน่าย
อาจารย์เดโช เล่าว่า เดิมตนเองเป็นวิศวกร ที่บริษัทญี่ปุ่น แห่งหนึ่ง และได้ลาออกจากงาน ขายทรัพย์สินที่กรุงเทพฯ เพื่อจะกลับมาอยู่ที่ จังหวัดสกลนคร แต่เกิดผิดพลาดในการใช้ชีวิต ทำให้เงินที่มีอยู่ก็หมดไป ตอนนั้น ก็เลยตัดสินใจ หันไปศึกษาธรรมะ และบวชอยู่นานถึง 5 ปี และช่วงที่บวชได้ศึกษาธรรมะ และได้อ่านหนังสือธรรมะ จากพระเกจิอาจารย์สายวิปัสสนาหลายรูป และหนึ่งในนั้น คือ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งมีตอนหนึ่งอาจารย์ได้ กล่าวถึง น้ำเยื่อไผ่ ว่า เมื่อครั้งเดินธุดงค์ในป่าลึกไม่มีแหล่งน้ำ พระสงฆ์ไม่มีน้ำดื่ม จึงจำเป็นต้องเจาะน้ำไผ่เพื่อเอาน้ำมาดื่มขณะอยู่ในป่า
และพบว่าพระบางรูปหายจากอาการอาพาธ ปี พ.ศ. 2557 ตนได้ทดลองเจาะลำไผ่ในเวลากลางคืน ปรากฏว่ารุ่งเช้ามีน้ำไหลออกมาเหมือนดั่งในหนังสือ จากนั้นจึงหันมาศึกษาเรื่องน้ำไผ่อย่างจริงจังโดยมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยวิจัย ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร และมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
“หลังจากผมได้ลาสิกขา ออกมาดำเนินชีวิตปกติ ตอนนั้นค้นพบตัวเอง แม้ไม่มีเงิน แต่สิ่งที่เรามี คือ ปัญญา แต่ตอนที่มีเงิน ไม่มีปัญญา เงินก็เลยหมด แต่ครั้งนี้ ตรงกันข้าม ผมได้เงินบางส่วนมาจากภรรยา ก็เพียงแค่เลี้ยงชีพ และนำไปซื้อต้นไผ่กิมซุงมาปลูก ปลูกเอง ทำอะไรเองทุกอย่าง ปลูกวันละ 5 ต้นทุกวัน บนพื้นที่ 6 ไร่ ปลูกได้ 600 ต้น และที่เลือกปลูกไผ่กิมซุง เพราะเป็นไผ่ที่ทนแล้ง ทนน้ำท่วม ไม่มีโรค หรือแมลง พอผ่านไป 1 ปี สามารถตัดหน่อไผ่ขายได้ พอผ่านไปปีที่ 2 เริ่มขายกิ่งพันธุ์ และในปีที่ 3 เป็นปีที่เราเริ่ม ทำน้ำเยื่อไผ่”
โดยน้ำเยื่อไผ่ ที่ได้มาจากการต้นไผ่ดูดน้ำใต้ดินและแทรกมาตามเนื้อไม้ เพื่อนำไปเลี้ยงใบ และลำต้น ซึ่งขั้นตอน การได้มาของน้ำเยื่อไผ่ จะต้องทำกลางคืน เพราะไผ่ดูดน้ำ ตอนกลางคืน ส่วนกลางวันคลายน้ำ
สำหรับ วิธีการเจาะใช้แอลกอฮอล์เช็ด สว่านก่อนทุกครั้ง และควรเฉียงขึ้น 45องศา เพื่อให้น้ำไหลสะดวก การสังเกตปล้องไผ่ ว่า ปล้องไหน มีน้ำ ให้ดูตรงกิ่งแตกออก มีหยดน้ำเหมือนน้ำค้างเกาะอยู่ จากนั้นนำสายยางเสียบไว้ที่รูเจาะ และนำถุงพลาสติกมามัดครอบไว้ให้แน่น โดยน้ำไผ่จะไหลออกมาทีละหยด พอรุ่งเช้าน้ำจะเต็มถุง ประมาณ 3-4 ลิตร
เมื่อได้น้ำเยื่อไผ่มาแล้ว ก่อนจะนำมาบรรจุขวดก็ต้องผ่านกระบวนการพลาสเจอร์ไรส์ และน็อคน้ำเย็น เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“ที่ต้องผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ เพราะในน้ำเยื่อไผ่ นอกจากสารอาหาร และวิตามิน ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แล้วมีแบคทีเรีย ซึ่งในครั้งแรก ผมได้นำน้ำเยื่อไผ่ ที่เจาะมาแบบสด ไปให้คนในหมู่บ้านได้ทดลองชิม แต่ปรากฏว่า คนที่ดื่มน้ำเยื่อไผ่ เกิดอาการท้องเสีย หยุดจำหน่ายไประยะหนึ่ง และผมได้นำน้ำเยื่อไผ่ ส่งให้ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติสกลนคร ตรวจในห้องทดลอง ปรากฏว่า พบเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด ที่มาของอาการท้องเสียหลังจากดื่มน้ำเยื่อไผ่ ซึ่งการพาสเจอร์ไรส์จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้”
อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านการพาสเจอร์ไรส์แล้ว ก็จะต้องเก็บน้ำไผ่ไว้ในตู้เย็น หากอยู่ในอุณหภูมิปกติอยู่ได้ประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้น น้ำไผ่อาจจะเสียได้
อาจารย์เดโช บอกว่า ได้ลงทุน ซื้อเครื่อง พาสเจอร์ไรส์ ราคาสูงถึง 5-6 แสนบาท สามารถผลิต น้ำเยื่อไผ่ได้วันละ 100 ขวด ขวดละ 250 มิลลิลิตร ขายในราคาขวดละ 20 บาท มีรายได้ต่อวันประมาณ 2,000 บาท ต่อการขายน้ำไผ่ ยังไม่รวมการขายหน่อไผ่ กิโลกรัมละ 35-40 บาท และกิ่งพันธุ์ ราคากิ่งละ 50 บาท ซึ่งรายได้ต่อวัน ประมาณ 3,000 บาท จนถึง วันละ 1 หมื่นบาท
ทั้งนี้ ส่วนของช่องทางการจัดจำหน่าย มี 2 ช่องทาง จำหน่ายเองที่ไร่ และ กำลังจะเช่าพื้นที่ในปั้มน้ำมันเปิดหน้าร้าน นอกจากนี้ มีตัวแทนรับไปขาย ซึ่งตัวแทนจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าที่ซื้อไปดื่ม และสุขภาพดีขึ้น ก็สนใจ และรับไปจำหน่าย ตอนนี้ ความต้องการของตลาดก็ยังมีอยู่ แต่ด้วยกำลังการผลิต ยังมีอยู่จำกัด ไม่เพียงพอกับการขยายตลาดไปทั่วประเทศ อาจจะต้องใช้การทำงานร่วมกับเครือข่าย
สำหรับ น้ำไผ่ ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ในประเทศญี่ปุ่น มีการดื่มน้ำเยื่อไผ่ กันมาเป็นเวลานาน และได้รับความนิยมกลุ่มของผู้ที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะจากผลการวิจัย ยังพบว่า น้ำไผ่ มีสารอาหาร เช่นเดียวกับการดื่มน้ำมะพร้าว
ในส่วนของรายได้ อาจารย์เดโช บอกว่า อาจจะไม่ได้มากเหมือนตอนทำงานในกรุงเทพฯ แต่สิ่งที่ได้ คือ ความพอเพียง และที่สำคัญ สามารถที่จะแบ่งปัน ให้กับคนอื่นๆ ได้ เป็นความสุขที่หาไม่ได้ในช่วงการทำงานในเมือง ซึ่งค่าครองชีพสูง รู้สึกว่า ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ แต่พอได้มาทำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง รายได้ไม่มาก แต่เรากลับรู้สึกพอ และยังได้มีโอกาสแบ่งปันให้กับคนอื่นๆ
ทุกวันนี้ อาจารย์เดโช มีความสุขกับการได้แบ่งปัน โดยเปิดพื้นที่ไร่สีวลี ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ เกี่ยวกับการปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ และความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีเพื่อนๆ ที่เบื่อจากการทำงานประจำ อยากจะออกมาลองใช้ชีวิตแบบนี้ มาพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ หรือ หน่วยงานไหน ที่ต้องการวิทยากร เชิญมาทางอาจารย์เดโช ก็จะไปบรรยายให้ฟรี โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่าย จนได้รับการยกย่องจากสังคมให้เป็นปราชญ์เมืองสกล
“นอกจากนี้ ทางไร่สีวลียังเปิดรับ ผู้สูงอายุ ที่ยากไร้ หรือ พระสงฆ์ที่อาพาธ ด้วยโรคเบาหวาน ความดัน หรือนิ่ว สามารถเดินทางมาพักรักษาตัวที่ไร่สีวลี โดยมีน้ำเยื่อไผ่ และสมุนไพร ช่วยในการรักษา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และโดยส่วนตัว ผมชอบเรื่องของธรรมะ อยากจะเผยแพร่ และแลกเปลี่ยนด้านธรรมะ แก่ผู้ที่สนใจด้วย ”
ปัจจุบัน ไร่สีวลี นอกจาก น้ำเยื่อไผ่ และยังมีสมุนไพร และผักปลอดสารพิษ รวมถึงการแปรรูปไผ่ แบบครบวงจร พร้อมจะถ่ายทอดให้กับผู้สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกไผ่ การนำไผ่มาแปรรูป เป็นของใช้ต่างๆ เช่น สบู่ หรือ ยาสีฟัน ที่ได้มาจากถ่านไม้ไผ่ หรือ การแปรรูปหน่อไม้ การหาประโยชน์จากไผ่ อื่นๆ
สนใจ โทร.06-1265-7169
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *