xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือก ทางรอด ธุรกิจสื่อยุค 4.0 ห่วงติดกับดักรายได้ลืมหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธุรกิจสื่อยุค 4.0 เปลี่ยนแปลงไปมาก การทำงานสื่อเน้นเนื้อหาต้องดี มีความหลากหลาย และสนองความต้องการของคนอ่านเป็นหลัก ด้าน “เทพชัย” เป็นห่วงติดกับดักรายได้จนลืมหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน ชี้ความอยู่รอดของสื่อไม่สำคัญเท่าความอยู่รอดของสังคม

การสัมมนายุทธศาสตร์เพื่ออนาคตวารสารศาสตร์ ครั้งที่ 14 ประจำปี 2561 ในหัวข้อ “ธุรกิจสื่อ ยุค 4.0” เมื่อวันที่ 19 พ.ย. จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศราฯ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.)

นายณัฐพัชญ์ วงษ์เหรียญทอง นักวิชาการด้าน Digital content Marketing กล่าวว่า จากในอดีตที่คนเสพข่าวทางโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ แต่ยุคปัจจุบันมีทางเลือกมากมายมหาศาล อยากจะเสพอะไรก็ได้ จะอ่านหนังสือ จะดูคลิปวิดีโอ หรืออื่นๆ ดังนั้นอย่าไปบอกว่าวิดีโอเป็นสื่อที่ดีที่สุด อาจดีกับคนบางกลุ่มแต่อาจไม่ดีกับคนบางกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ถามว่าสื่อทุกชนิดจะต้องไปแข่งขันในยุคดิจิตอล รายได้มาจากไหน ก็มาจากการเข้าถึงกลุ่มคนอ่าน ซึ่งทราฟฟิกที่คนติดตามมาที่สุดไม่ใช่สื่ออย่าง ไทยรัฐ หรือสื่ออื่นๆ แล้ว แต่คือ เฟซบุ๊ก และกูเกิล ซึ่งสมมติไปลงโฆษณาเพจไทยรัฐคนดูล้านคน ก็ไม่รู้ว่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเขาไหม แต่หากซื้อผ่านเฟซบุ๊กจะสามารถเลือกได้อย่างละเอียด นี่คือสิ่งที่น่ากลัว ธุรกิจเอ็สเอ็มอีมีเงินพอจะซื้อแอดโวเทอเรียลสื่อ แต่ทำไมไม่ซื้อ มาซื้อเฟซบุ๊ก เพราะเขาได้ทราฟฟิกที่มีคุณภาพ

นายณัฐพัชญ์กล่าวว่า ทางออกคือการคิดโมเดลธุรกิจใหม่ ซึ่งแบบเดิมอาจไปได้แต่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะทำให้คุณรอดชีวิตได้ ทางออก ดังจะเห็นว่าสื่อทุกวันนี้พยายามปั๊มทราฟฟิกให้เพิ่มมากขึ้นด้วยการพาดหัวข่าวเรียกแขก คลิกเบต ซึ่งถึงจะได้ทราฟฟิกเพิ่ม แต่สุดท้ายเครดิตของสื่อก็จะหายไป ดังนั้นสิ่งสำคัญคือเนื้อหาของสื่อจะต้องดี ที่สำคัญการจะพัฒนาสินค้าไปขายนั้นไม่ใช่เพียงแค่จะไปเร่ขาย แต่ต้องรู้ความต้องการของคนดูก่อนว่าเขาอยากได้อะไร

ที่ผ่านมาไม่มีทางเลือก แต่ทุกวันนี้มีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งต้องไปดูว่าทำไมคนทำเฟซ เพจ ยูทูปถึงเวิร์ก เพราะเขามีวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ที่ไม่น่าเบื่อ

นายณัฐพัชญ์กล่าวว่า สื่อต้องทบทวนตัวเองด้วยว่าการอยู่รอดของสื่อคืออะไร คือจะทำให้ธุรกิจรอดหรือเพื่อการเปลี่ยนประเทศไปสู่สิ่งที่ควรจะเป็น ซึ่งการอยู่รอดโมเดลธุรกิจต้องดี เข้าใจที่มารายได้ สินค้า รายได้ ซัปพลายเชนทั้งหมด คนทำสื่อก็ต้องโพสต์เฟซบุ๊กเป็น ตัดต่อวิดีโอเป็น ทำได้หลายอย่าง ซึ่งในวันที่ถามว่าองค์กรจะอยู่รอดแบบไหน เราเคยไปถามเด็กมหาวิทยาลัยที่ทำสื่อผ่านยูทูปได้เงินเดือนเป็นแสนบ้างหรือไม่ หรือเรายังอยู่กับภาพจำเดิมๆ ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาต้องทำอย่างนี้เท่านั้น

นายเทพชัย หย่อง กรรมการจริยธรรม สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงกับการปรับตัวของสื่อให้เข้ากับเทคโนโลยี แต่เป็นห่วงเวลานี้ที่มีการพูดถึงทางรอดของสื่อ ซึ่งอาจไม่สำคัญเท่ากับความอยู่รอดของสังคมมากกว่า เราควรให้ความสำคัญต่อบทบาทของสื่อต่อสังคมว่าควรจะเป็นไปอย่างไร เพราะปัจจุบันมีความท้าทายอย่างมาก


ทั้งนี้ ปัจจุบันมีแนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในยุคที่หลายสื่อกำลังปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ โดยมีสื่อหนึ่งผู้บริหารชุดใหม่กำหนดรายได้ให้กับคนเขียนข่าวโดย 25 วิว ได้ 1 บาท ถามว่าสิ่งที่นักข่าวคนนั้นจะโพสต์คืออะไร คำตอบก็คือ โพสต์สิ่งที่คนเห็นแล้วจะต้องกดเข้ามาดู ซึ่งจะทำให้สื่อเปลี่ยนจากการทำหน้าที่สุนัขเฝ้าบ้าน คอยตรวจสอบ การทำหน้าที่เป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนก็จะลดลง เมื่อติดกับรายได้ก็จะกระทบไปถึงความพยายามยกระดับสื่อสารมวลชน

นายเทพชัยกล่าวว่า ต้องยอมรับบทบาทของสื่ออยู่ตรงที่เป็นกลไกตรวจสอบอำนาจรัฐ ต้องมีความรู้ จริยธรรม เหมือนนักข่าวชาวซาอุดีอาระเบียที่เสียชีวิต คนที่จะเข้าไปเจาะ หรือเปิดโปงเรื่องนี้ควรเป็นใคร ซึ่งก็เป็นบทบาทของสื่อสารมวลชนที่ต้องทำหน้าที่เปิดโปงนำความจริงเปิดเผยต่อสังคม ต้องอาศัยองค์กรสื่อ และคนทำข่าวที่มุ่งมั่นที่จะทำข่าวแบบนี้

“องค์กรสื่อจะอยู่รอดต้องถามว่าอยู่รอดไปเพื่ออะไรก่อน เป้าหมายเพื่ออยู่รอดทางธุรกิจไม่มีความหมายเท่าอยู่รอดเพื่อมีบทบาทช่วยสร้างสรรค์สังคม ซึ่งการอยู่รอดทางธุรกิจมีทางเลือกเยอะ แต่ต้องอยู่รอดและตอบโจทย์สังคมด้วย ต้องมีวิธีบริหารจัดการ พัฒนาบุคลากรพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารใหม่ ซึ่งคนไม่ดูข่าวก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแตกต่างจากในอดีต แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันจะออกแบบยังไงให้คนหันมาดูมากขึ้น” นายเทพชัยกล่าว

นางสุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ด้านยุทธศาสตร์ สื่อสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวว่า การจะปรับเปลี่ยนต้องเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย โดยมองไปที่ผลลัพธ์ที่จะได้ แล้วค่อยย้อนกลับมาดูว่าขั้นตอนที่จะเดินหน้าไปสู่จุดนั้นว่าต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เริ่มจากการตั้งต้นไปตามระบบซึ่งไม่รู้ว่าสุดท้ายปลายทางจะได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างไร นี่คือปัญหา

อย่างไรก็ตาม หากเราไม่มีระบบคิด เราก็จะเดินไปตามรูทีน ซึ่งในทางปฏิบัติเราไม่จำเป็นต้องเดินหน้าไปตาม หนึ่ง สอง สาม สี่ ถ้าเรามีสตราทิจิกส์ที่ดี เราต้องมองเห็นภาพรวม เดิม เราเห็นมุมตัวเองเล็กๆ และทำส่วนของเราให้ดีที่สุด ก็ไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงได้ ต้องมองทั้งอุตสาหกรรม ให้ครบองค์ประกอบว่าเราจะทำเพื่ออะไร สำหรับสื่อสาธารณะอุดมการณ์ใช่ แต่สำหรับวิธีการอาจต้องปรับ รู้จักการเปลี่ยนแปลง ยืดหยุ่น


กำลังโหลดความคิดเห็น