xs
xsm
sm
md
lg

นศ.ผุดไอเดีย “T Bike” ยืม-คืน จักรยานในรั้วมหาลัยฯ สู่ธุรกิจสตาร์ทอัปเจาะสมาร์ทซิตี้ รับ 4.0

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แจ้งเกิดมาหลายธุรกิจแล้วสำหรับเวทีการประกวดผลงานสตาร์ทอัปในรั้วมหาวิทยาลัยของนักศึกษา ที่ฝันอยากเป็นสตาร์ทอัป กับไอเดียธุรกิจที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหา ล่าสุดทีม “T Bike” จากรั้ว สจล. บุกโครงการ ‘บิสซิเนส บราเดอร์ฮูด’ (Business Brotherhood Project) รังสรรค์ไอเดียยืม-คืน จักรยาน ผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมจัดตั้งบริษัทเรียบร้อย เล็งขยายสู่เมืองท่องเที่ยว วางตำแหน่งเป็นสตาร์ทอัพ 4.0

เห็นจนชินตากับบรรดาจักรยานจำนวนมหาศาลของรั้วมหาวิทยาลัย แต่นั่นอาจเป็นเพียงแค่จำนวนหนึ่ง เพราะความต้องการยังมีอยู่ แต่ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างที่ไม่เอื้อให้สามารถใช้งานได้ อย่าง การขนย้ายเพื่อนำมาใช้ในมหาวิทยาลัย ราคา สถานที่จัดเก็บในหอพัก และอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้หลายคนต้องเสียค่าเดินทางภายในสถานศึกษากับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง หรือรถสาธารณะ





จากปัญหาเหล่านี้ทำให้กลุ่มนักศึกษาด้านไอที และบริหาร มารวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้ โดย “นายอรุษ จินะดิษฐ์” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เผยถึงแนวคิดการจัดตั้งทีม “T Bike” ว่า มาจากปัญหาการเดินทางในรั้วมหาลัยฯ โดยเฉพาะการเดินทางระหว่างตึก ซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่ คนส่วนมากก็จะใช้รถยนต์ หรือ รถมอเตอร์ไซค์ในการเดินทาง มีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งยังสร้างมลพิษ แต่ในบางครั้งระยะทางนั้นก็ไม่ได้ไกลมากขนาดที่จะต้องใช้รถ ขณะเดียวกันก็อาจจะไกลเกินกว่าที่จะเดินก็ได้ จึงคิดว่าจักรยานเป็นทางออกที่ทำให้ไม่ต้องเดิน และไม่ต้องใช้รถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ จึงนำแนวคิดดังกล่าวมารังสรรค์เป็นวิธีนำ ‘จักรยานมาให้ทุกคนยืม และใช้เวียนกัน’ หรือคิดว่าทุกคนใช้จักรยานได้ จะดีกว่าเดิน แต่ก็ต้องมีระบบและเทคโนโลยี มาช่วยในการดำเนินการ สุดท้าย T Bike จึงเกิดขึ้น พร้อมจัดตั้งบริษัท ภายชื่อว่า บริษัท จักรยานอิสระ จำกัด

แนวคิดดังกล่าวพวกเขาได้คิดและพัฒนาระบบมาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก กระทั่งทางมหาลัยฯ โดย ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จัดทำโครงการบิสซิเนส บราเดอร์ฮูด ( Business Brotherhood Project ) ขึ้น โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เพื่อเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ พวกเขาจึงลองผลงานเข้าแข่งขัน ทำให้ผลงานติด 1 ใน 7 ผลงานที่เข้ารอบ ทำให้มีการพัฒนาระบบ T Bike อย่างจริงจังสามารถต่อ ยอดในเชิงพาณิชย์ได้





ขณะที่ นายพิสิษฐ์ ดวงดีกมลทัศน์ บัณฑิตจากวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเสริมว่า พอเห็นประกาศเปิดรับสมัครนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ บิสซิเนส บราเดอร์ฮูด (Business Brotherhood Project) ก็สนใจ ซึ่งที่ผ่านมาทางทีมก็มีการพัฒนาระบบมาต่อเนื่อง ถ้าผ่านเข้าไปในโปรแกรมนี้ได้ คาดว่าจะได้ประสบการณ์ที่ดี ได้รู้จักผู้คนเพิ่มขึ้น ได้เปิดโอกาสให้ตัวเอง จากการเข้าเทรนด์ กับโปรแกรมนี้ จึงรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ 3 คน คือ นายอรุษ จินะดิษฐ์ นายสุพสิษฐ์ จิวะพงศ์ คณะวิทยาลัยนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมโครงการ โดยใช้ชื่อโครงการ ว่า ที ไบค์ (T Bike) ชื่อนี้ได้มาจาก ที่ปรึกษาของโครงการ ตัว T มาจากคำว่าเทคโนโลยี พอมาออกแบบให้เป็นโลโก้ก็เลยนำมาเปรียบเสมือนกับแฮนด์จักรยาน

“โครงสร้างของแอปพลิเคชันนี้ จะมีแผนที่ ปุ่มกดยืม เพื่อสแกนคิวอาร์โค้ด มีปุ่มให้ผู้ยืมดูข้อมูลว่าผู้ยืมขี่จักรยานไปไหนบ้าง ต่อมาได้มีการปรับปรุงแอปพลิเคชัน และตัวล็อคใหม่ โดยจะเป็นการล็อคอัตโนมัติ คือหลังจากที่สแกนคิวอาร์โค้ดแล้ว แทนที่จะส่งรหัสแบบเดิม ตัวล็อคจะปลดล็อคเองอัตโนมัติ ผู้ใช้งานก็สามารถขี่ไปที่ไหนก็ได้ พอจะคืนก็แค่ดันล็อคกลับเหมือนเดิม แล้วกดปุ่มคืนจักรยานก็ถือว่าการยืมเสร็จสิ้น จุดเด่น คือ อำนวยความสะดวกให้กับเพื่อน ๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งยังไม่เคยมีใครทำ ในมหาวิทยาลัยไหนมาก่อน” นายพิสิษฐ์ กล่าว







สำหรับแผนการตลาดของ T-Bike แบ่งออกเป็นสองส่วนแผนระยะที่ 1 ได้เริ่มดำเนินการภายในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังไปแล้ว โดยจะเน้นไปที่การให้บริการนักศึกษาและบุคลากร เพื่อยกระดับระบบก่อนที่จะนำออกไปสู่ที่สาธารณะและเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคและทดลองระบบการชำระเงินและในลำดับต่อไปจะเริ่มดำเนินการเมื่อระบบมีความเสถียรจะเน้นไปที่หัวเมืองที่มีนโยบายที่จะเป็นสมาร์ท ซิตี้ (Smart City) โดยอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ให้เป็นผู้ดูแล และติดตามจักรยาน โดยจะแบ่งผลกำไรที่ได้จากช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าจักรยาน หรือโฆษณา ให้พันธมิตรในฐานะผู้ให้บริการและดูแลจักรยาน ส่วน T–Bike จะได้ผลตอบแทนในฐานะผู้บริหารระบบซอฟแวร์จักรยานอัจฉริยะ





“จากการศึกษาข้อมูลเเละประสบการณ์ของพันธมิตรทางธุรกิจ การดำเนินการให้ยืมคืนจักรยานที่ผ่านมา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หรือ ภูเก็ต มีอัตราการสูญหายของจักรยานที่ต่ำมาก อย่างไรก็ตาม ทาง T-Bike คำนึงถึงประเด็นนี้เป็นสำคัญ ซึ่งทางทีมก็มีมาตรการให้ลงทะเบียนในการสร้างบัญชีผู้ใช้โดยใช้เลขบัตรประชาชนหรือหมายเลขหนังสือเดินทาง (Passport) นอกจากนั้นยังมีพันธมิตรมีความเชี่ยวชาญในการติดตามจักรยานที่สูญหาย ฉะนั้นในการดำเนินงานในพื้นที่เปิด (หัวเมืองต่างๆ) หน้าที่ในการดำเนินการ จะเป็นหน้าที่ของพันธมิตรรายนี้ และ การจัดการ และพัฒนาระบบจะเป็นหน้าที่ของเรา” นายอรุษ กล่าว





ขณะที่ค่าบริการขึ้นอยู่กับสถานที่และพื้นที่ที่ให้บริการ เน้นให้บริการในราคาที่ไม่สูง อยากเน้นการเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า ส่วนความแตกต่างของจักรยาน T Bike กับจักรยานทั่วไป คือ พวกเขาเลือกใช้จักรยานล้อตัน (Airless wheels ) เพื่อเพิ่มความแตกต่าง และคงทนต่อการใช้งานของผู้ใช้เป็นจักรยานที่ทางออกแบบขึ้นเฉพาะ














ด้าน ผศ.ดร.รัชนี กุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงโครงการบิสซิเนส บราเดอร์ฮูด ( Business Brotherhood Project ) ว่า ได้ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เพื่อเร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ โดยผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่ว ๆ ไป หรือในหนึ่งทีมจะเป็นการรวมตัวกันมากกว่าหนึ่งสถาบันก็ได้ และใน 1 ทีมกำหนดให้มีจำนวนสมาชิกในทีม 3-5 คน โดยมีหลักเกณฑ์ในการตัดสิน คือภาพรวมของโมเดลธุรกิจ และความคิดสร้างสรรค์ของผลงาน ซึ่งปัจจุบันภาพรวมของการเรียนการสอนในสถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะเป็นการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม แต่เมื่อนักศึกษาได้เข้าร่วมโครงการแล้วจะได้รับการอบรมในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การออกแบบความคิด (Design Thinking ) การออกแบบธุรกิจ การวางแผนธุรกิจ การวางแผนการตลาด การดำเนินงานและเทคนิคการนำเสนองานให้น่าสนใจ และจากผลงานที่ของนักศึกษาที่เข้ามาร่วมในโครงการ มี 7 ทีม ที่เข้ารอบ มีทั้งด้านโลจิสติกส์ อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิงค์ (IOT) ไลฟ์สไตล์ และสุขภาพ ทุกโครงการล้วนน่าสนใจ ซึ่ง “ทีมทีไบค์” เป็นทีมที่ให้ยืมหรือให้เช่าจักรยานผ่านแอพพลิเคชั่น เพราะต้องการให้ทุกคนในมหาวิทยาลัยมีจักรยานขี่ระหว่างตึกโดยที่ไม่ต้องเดิน และคาดว่าในปีถัดไปจะมีนักศึกษาให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดมากขึ้น จากแนวโน้มของนักศึกษาที่ต้องการเป็นสตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จจากการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่มาต่อยอด







* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *









กำลังโหลดความคิดเห็น