xs
xsm
sm
md
lg

ม.รังสิต โชว์งานวิจัยขึ้นห้างไม่ขึ้นหิ้ง ไอเดียเจ๋งของสตาร์ทอัพในคราบนักศึกษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ ม.รังสิต เดินหน้าปั้นนักศึกษา สู่สตาร์ทอัพเต็มสูบ เตรียมเปลี่ยนหอสมุดสู่ Library Startup พร้อมสร้าง Co-Working Space หวังเป็นแหล่งจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาพร้อมเปิดตัว 3 ธุรกิจ จัดตั้งบริษัทตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ แถมมีองค์กรธุรกิจใหญ่ขอร่วมลงทุน

ผศ.ดร.เชฎฐเนติ ศรีสอ้าน คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยถึงแผนพัฒนานักศึกษาสู่การเป็นสตาร์ทอัพ ว่าทางมหาวิทยาลัยรังสิตได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้นักศึกษาสู่การเป็นสตาร์ทอัพ ตั้งแต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย โดยสนับสนุนนักศึกษา ตั้งแต่การเรียนปี 1 ด้วยการเปิดการเรียนการสอนวิชา Innovation Startup เนื่องจากมีเวลาในการพัฒนาผลงานของนักศึกษาได้เต็มที่ รวมถึงยังเปิดวิชา Startup Experience เป็นการนำเอาประสบการณ์จากเวทีประกวดมาปรับและพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งนักศึกษาสามารถนำมาเทียบหน่วยกิตเป็น 1 วิชาได้ ทำให้ไม่เสียเวลาในการพัฒนาผลงาน

นอกจากนี้ยังให้การสนับสนุนนักศึกษาส่งผลงานประกวดในเวทีชั้นนำของประเทศ อาทิ เวทีStartup Thailand, ธนาคารออมสิน, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ให้ความสนใจส่งผลงานเข้าประกวดอย่างต่อเนื่อง ทำให้เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ทาง ม.รังสิตได้ส่งผลงานนักศึกษาเข้าร่วมโครงการ Startup Thailand 2017 จำนวน 110 ทีม จากวิทยาลัยและคณะต่างๆ ผลงานผ่านเข้ารอบทั้งหมด 32 ทีม และได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ 200,000 บาท/ทีม ถือเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งแรกและแห่งเดียวที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันมากที่สุด

“ปัจจุบันจากการที่ ม.รังสิต สนับสนุนนักศึกษาสู่การเป็นสตาร์ทอัพอย่างต่อเนื่องทำให้มีการจัดตั้งบริษัทจากผลงานนักศึกษาไปแล้ว 8 บริษัท มีนายทุนจากองค์กรชั้นนำของประเทศร่วมลงทุน ส่วนใหญ่เป็นผลงานที่มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้และต่อยอด แต่ที่ผ่านมานักศึกษายังประสบปัญหาในเรื่องภาษาอังกฤษที่ใช้ในการสื่อสาร ทำให้การเติบโตสู่ตลาดสากลเป็นไปได้ยาก เพราะผมเชื่อว่าหากสตาร์ทอัพ เติบโตอยู่แค่ในประเทศโอกาสรอดที่จะได้ไปต่อมีน้อยมาก และเพื่อการสนับสนุนนโยบายดังกล่าวอย่างเต็มที่ ทาง ม.รังสิต เตรียมสร้าง Co-Working Space พร้อมปรับเปลี่ยนหอสมุด สู่การเป็น Library Startup เปิดพื้นที่จุดประกายความคิดนักศึกษาตั้งแต่ในรั้วมหาวิทยาลัย เพราะเชื่อว่าเด็กจะเปลี่ยนโลกได้ และคนเราจะอยู่รอดได้นั้นต้องอยู่เหนือเทคโนโลยี ซึ่งการให้โอกาสเป็นสิ่งที่สำคัญ” คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ กล่าว

“GateD” บริการเจาะเลือดถึงที่ รับสังคมผู้สูงอายุ ผลงานของ “นางสาวจินห์จุฑา ปัญญาดี” , “นางสาวกาญจน์ภัทร เกรียงไกร”, “นายอัจฉริยะพล ฉิมพลี” ว่าที่บัณฑิต สาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ และ “นายรุจิภาส ลาภหงส์ทอง” สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต พวกเขาเผยถึงแนวคิดในผลงานดังกล่าวว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุสูงถึง 11.7 ล้านคน โดยมีผู้ป่วยที่ไม่สามรรถช่วยเหลือตัวเองได้รวมอยู่ด้วย ซึ่งปัญหาหลักของคนเหล่านี้คือการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษา และหนึ่งในนั้นคือการเจาะเลือด ดังนั้นทาง GadeD จึงขอเป็นตัวกลางเชื่อมความสะดวกสบายระหว่างผู้ป่วยกับโรงพยาบาล เพียงผู้ป่วยนำใบแจ้งการเจาะเลือดจากแพทย์มาแจ้ง จากนั้นทางทีมงานจะค้นหาแล็ปที่ใกล้บ้านผู้ป่วย และจัดส่งนักเทคนิคการแพทย์ไปเจาะเลือดให้ถึงบ้าน ในราคาเริ่มต้นที่ 2,000-5,000 บาท ขึ้นอยู่กับระยะทาง พร้อมแจ้งผลเลือดผ่านระบบออนไลน์ จากนั้นผู้ป่วยก็นำผลเลือดไปที่โรงพยาบาลให้แพทย์วินิจฉัยโรคต่อไป

“ที่ผ่านมาลูกค้าส่วนใหญ่ของเราจะเป็นผู้ป่วยติดเตียง อายุระหว่าง 40-50 ปี และผู้ป่วยโรคมะเร็ง เบาหวาน ความดัน ช่วงอายุ 80-90 ปี แต่ผลงานดังกล่าวต้องยอมรับว่ายังมีช่องโหว่คือ แม้ผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวในการเจาะเลือด แต่ก็ยังต้องไปรอคิวที่โรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาอยู่ดี ดังนั้น พวกเราจึงมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับแอปพลิเคชั่น Que Que เพื่อลดเวลาการรอคิวของผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการกับ GadeD ลง”

สำหรับผลงานทีม GadeD คว้ารางวัลสตาร์ทอัพมาหลายเวที เช่น Startup Thailand ธนาคารออมสิน และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จากการพัฒนาผลงานประมาณ 5-6 เดือนได้รับการตอบรับค่อนข้างดี ต่อไปจะเริ่มบุกกลุ่มลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจมากขึ้น เน้นการตรวจสุขภาพพนักงาน พร้อมพัฒนาเป็นแอปพลิเคชั่นเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และรองรับการขยายสู่ต่างประเทศ โดยมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมทุนแล้ว กลายเป็นผลงานที่สามารถจดทะเบียนธุรกิจได้ตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ

ต่อไปเป็นผลงานทีม 'ริสแบนด์ จับใจ' ของ “นายธนพจน์ ญาสมุทร” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ 2 , “นางสาววิลาสินี เรืองอร่าม” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ “นายอุดมศักดิ์ แสนสุด” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นริสแบนด์ที่สามารถเชื่อมบลูทูธกับมือถือได้ ตั้งค่าเพื่อการตรวจวัดชีพจรทุกชั่วโมง แจ้งเตือนการเคลื่อนไหว หากพบความผิดปกติจะมีการแจ้งเตือนไปยังมือถือตามหมายเลขที่ระบุไว้ หรือส่งไปยังแพทย์ หรือพยาบาล ที่ร่วมเป็นพันธมิตร ก็จะมีการนัดผู้ป่วยเข้ามาตรวจที่โรงพยาบาล นอกจากนี้ยังทำริสแบนด์ รุ่น 2 ที่นอกจากตรวจวัดชีพจรได้แล้ว ยังมีปุ่ม SOS ให้ผู้ใช้งานกดเมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุ และปุ่มส่งข้อความเสียง โดยระบบจะแจ้งเตือนไปยังของลูกหลานที่ระบุไว้ได้ เหมาะกับผู้สูงอายุ และคนพิการ ซึ่งแผนต่อไปจะพัฒนาเป็นริสแบนด์ สำหรับเด็กระบุที่อยู่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการช่วงเดือนธันวาคมนี้ ราคาริสแบนด์สำหรับคนทั่วไป (วัดชีพจร ความดัน) ประมาณ 900 บาท ส่วนของผู้สูงอายุ ประมาณ 1,500 บาทขึ้นไป






สุดท้าย ผลงานทีม “App Adventure Mate” ของนางสาวสุทธิดา บัวศรี ว่าที่บัณฑิต และว่าที่ร้อยตรีณัฐพัชร์ อนันต์ศิริกุล บัณฑิตสาขาวิชาเทคโนโลยีสื่อสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต อยู่ในช่วงพัฒนาแอปพลิเคชั่นการวางแผนท่องเที่ยว ชอปปิ้ง ตามไลฟ์สไตล์ และในงบประมาณที่มีจำกัด รวมถึงไปจับมือกับที่พักโฮมสเตย์ กว่า 200 แห่ง ให้นักท่องเที่ยวได้เก็บแต้ม และนำไปเป็นส่วนลดร้านกาแฟ และเครื่องดื่มต่างๆ ได้ เสมือนกับการเล่นเกมล่าแต้ม เทรนด์ใหม่ของวัยรุ่น ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวพร้อมมีกิจกรรมเสริมสร้างความเพลิดเพลิน เล็งเจาะกลุ่มลูกค้าววัย 18-20 ปี เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีเวลาท่องเที่ยว และชื่นชอบการใช้เทคโนโลยีระหวง่างการท่องเที่ยว คาดว่าจะสามารถพัฒนาแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 นี้





* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *











กำลังโหลดความคิดเห็น