ทุกวันนี้อาหารพื้นบ้าน “หมี่ตะคุ” ปักธงชัย เมืองโคราช เริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง โดยหนึ่งในผู้ประกอบการท้องถิ่นที่เป็นหัวหอกสำคัญ ผลักดันเมนูนี้ให้แจ้งเกิดสำเร็จ ต้องยกให้ราย “แม่ตุ้ย” ที่ยกระดับนำเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต พร้อมแปรรูปลักษณะกึ่งสำเร็จรูป ช่วยให้อาหารพื้นบ้านก้าวเป็นสินค้าของฝากเด่นประจำท้องถิ่น
สายฝน สีดาจันทร์ หรือ “แม่ตุ้ย” เจ้าของ หจก. แม่ตุ้ย หมี่ตะคุ ผู้ผลิตเส้นหมี่ตะคุ รายสำคัญประจำ ต.ตะคุ อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เริ่มต้นการสนทนา เล่าที่มาของโรงงานให้ฟังว่า เดิมในชุมชนตะคุ แทบทุกครัวเรือนจะทำเส้นหมี่ สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นมายาวนานนับร้อยปี ในอดีต ทุกขั้นตอน ล้วนต้องใช้มือทำล้วนๆ ไม่มีเครื่องจักรใดๆ เลย ซึ่งครอบครัวของเธอ ตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ยึดอาชีพทำเส้นหมี่ตะคุเช่นกัน ดังนั้น จำความเป็นได้ คลุมคลีกับการทำอาชีพนี้
ทั้งนี้ การทำเส้นหมี่ตะคุแบบดั้งเดิม ขั้นตอนยุ่งยากมาก แถมยังมีปัจจัยเรื่องฟ้าฝนมาเป็นอุปสรรค เวลาตากเส้นกลางแดดต้องกลัวฝนตกเส้นไม่แห้ง เกิดความเสียหาย ทำให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ถอดใจเลิกผลิตกันไปหมด เหลือแต่บ้านของเธอที่ยืนหยัดยึดอาชีพนี้เรื่อยมา
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นหลังจากเธอ และสามี มารับช่วงอาชีพต่อจากพ่อแม่ เมื่อประมาณปี 2536 และตัดสินใจจะทำเส้นหมี่โดยไม่พึ่งพาดินฟ้าอากาศอีกต่อไป ด้วยการจะนำเครื่องจักรมาใช้ในการผลิตแทน แต่เนื่องจากเวลานั้นไม่มีเงินทุนจะสั่งซื้อเครื่องจักรจากต่างประเทศ ขณะที่พ่อและสามี พอจะมีความรู้ด้านงานช่างอยู่บ้าง เลยลองทำเครื่องผลิตเส้นหมี่ขึ้นเอง ปรากฏว่า สามารถใช้งานได้อย่างดี ช่วยแบ่งเบาภาระแรงงานคน และผลิตได้ปริมาณมากขึ้นจากเดิมกว่า 3 เท่าตัว ส่งให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
การนำเครื่องจักรมาต่อยอดธุรกิจ ติดปีกให้ธุรกิจหมี่ตะคุของแม่ตุ้ย เติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ต่อยอดนำมาแปรรูปเป็น “หมี่ตะคุ กึ่งสำเร็จรูป” ภายใต้แบรนด์ตัวเอง ควบคู่กับพัฒนาโรงงานสู่มาตรฐาน สะอาดทันสมัย ครบถ้วนที่สุดในท้องถิ่น
หจก. แม่ตุ้ย หมี่ตะคุ มีส่วนก่อให้เกิดการจ้างงานภายในชุมชน เฉพาะพนักงานในโรงงาน มีประมาณ 50 คน อายุตั้งแต่ 20 ปี ถึงสูงสุด 70 ปี นอกจากนั้น กระจายการสร้างอาชีพให้ชาวโคราช โดยเป็นฐานการผลิตเส้นหมี่ตะคุ ส่งให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ในท้องถิ่น นำไปขายต่อ หรือติดแบรนด์ต่างๆ จนชื่อเสียงของหมี่ตะคุ เมืองโคราช เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เพราะมีสินค้ากระจายขายตามร้านของฝากทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจมีปัญหา สินค้าขาดความหลากหลาย ไม่มีการทำตลาดสมัยใหม่ พนักงานส่วนใหญ่สูงวัย อีกทั้ง เกิดความสูญเสียในกระบวนการผลิตเป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทีมพัฒนาผู้ประกอบการของ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ( ธพว. หรือ SME Development Bank) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อการพัฒนาเอสเอ็มอีไทย เข้ามาสนับสนุน พัฒนาสินค้าให้ทันสมัย แนะนำปรับขนาดสินค้าให้เหมาะซื้อเป็นของฝาก แนะนำการขายบน E-Commerce อบรมให้ความรู้พนักงาน พร้อมช่วยยกระดับสินค้าเข้าสู่มาตรฐานสากล สามารถขยายทำตลาดบนได้
แม่ตุ้ย อธิบายเสริมว่า หลังจากทีมงาน SME Development Bank เข้ามาสนับสนุน เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน อาทิ มีการนำเส้นหมี่มาทำเป็นขนมขบเคี้ยว (SNACK) ปรับบรรจุภัณฑ์ ช่วยให้ขยายสู่ตลาดใหม่ ส่งเข้าห้างสรรพสินค้า และยังมีตัวแทนรับไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย จึงเป็นความประทับใจมากที่หน่วยงานภาครัฐ เข้ามาสนับสนุนผู้ประกอบการในชุมชน
จากอาชีพดั้งเดิมประจำท้องถิ่น เมื่อเติมเทคโนโลยี นวัตกรรม สามารถผลักดันให้หมี่ตะคุ แดนย่าโม วันนี้ ก้าวไกลสามารถวางขายตลาดสากล
ติดต่อโทร.081-797-7673 หรือ FB: Mae Tui - Mee TaKhu / แม่ตุ้ย หมี่่ตะคุ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *