xs
xsm
sm
md
lg

ธพว.จัดเสวนาแก้หนี้ SME ผ่อนไม่ไหว แนะรีบคุยแบงก์ อย่าปล่อยนานเกิน 3 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ธพว.จัดเสวนาหัวข้อ “แนวทางช่วยเหลือ SMEs ที่ประสบปัญหาหนี้” ระดมกูรูด้านกฎหมายสายแบงก์ให้ความรู้พร้อมข้อเท็จจริงแก่ผู้ประกอบการประสบปัญหาการผ่อนชำระหนี้ธุรกิจ แนะต้องรีบเข้าแจ้งปัญหากับแบงก์เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือห้ามค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือน ชี้จะแก้ไขยาก เผยล่าสุดรัฐบาลแก้กฎหมายใหม่เอื้อเอสเอ็มอีติดหนี้มากขึ้น

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า ทางกรมฯ มีหน้าที่ช่วยเหลือเอสเอ็มอีซึ่งเป็นภารกิจทางด้านกฎหมาย โดยล่าสุดได้มีการปรับตัวตามนโยบายของรัฐบาล มีการทำงานแบบเชิงรุกมากขึ้นหลังจากเห็นปัญหาของลูกหนี้รายย่อยมีจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนและหนี้ กยศ. รวมถึงปัญหาหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีที่ต้องให้การช่วยเหลือด้วยเช่นกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาธุรกิจของผู้ประกอบการให้คงอยู่ต่อไป โดยเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการก่อนที่จะเข้าสู่คำว่าล้มละลาย

ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการมีปัญหาเรื่องหนี้สินทางธุรกิจแล้วควรเข้าไปคุยกับเจ้าหนี้ก่อนเพื่อพักชำระหนี้ชั่วคราวตามแผนฟื้นฟู โดยผู้ประกอบการต้องเข้าไปตกลงกับเจ้าหนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้มีการออกกองทุนฟื้นฟูกิจการจำนวนเงิน 2,000 ล้านบาทซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ทางธุรกิจของผู้ประกอบการได้

“ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจของไทยฟันเฟืองที่สำคัญคือภาคธุรกิจเอสเอ็มอี โดยมีแรงงานในภาคธุรกิจดังกล่าวประมาณ 13 ล้านคน และธุรกิจเอสเอ็มอียังมีสัดส่วนที่มากถึง 99% เพราะฉะนั้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรักษาไว้ หากไม่จำเป็นก็ไม่อยากฟ้องร้องให้เกิดเป็นคดีความหรือเกิดหนี้สูญ ดังนั้นเราจึงเห็นความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะการปรับแก้กฎหมายให้มีความยืดหยุ่นและเลือกประโยชน์ต่อลูกหนี้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีมากขึ้น” อธิบดีกรมบังคับคดีกล่าว


นายเขมชาติ อภิรัชตานนท์ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Development Bank ให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ตามกำหนดว่า เบื้องต้นหากผู้ประกอบการกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางด้านการเงินและไม่สามารถชำระหนี้กับทางธนาคารได้ตามกำหนด ควรเข้ามาปรึกษาเจ้าหน้าที่ในสาขานั้นๆ ก่อน ไม่ต้องกังวลเรื่องกฎหมายและไม่ควรปล่อยให้ค้างชำระนานเกิน 3 เดือน เพราะจะมีการติดตามหนี้และเข้าสู่ระบบกฎหมายในที่สุด

ดังนั้น ผู้ประกอบการควรให้ความร่วมมือกับทางธนาคาร และทำให้เห็นว่าพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหาหนี้ร่วมกันกับธนาคาร เพราะฉะนั้นใน 1-2 เดือนแรกธนาคารจะพร้อมคุยกับผู้ประกอบการ และหาทางช่วยเหลือ เช่น การปรับเงื่อนไขหรือการพักชำระหนี้ชั่วคราว ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งผู้ประกอบการเองและธนาคารที่จะไม่มีปัญหาเรื่องเอ็นพีแอล (NPL) ที่เพิ่มขึ้น

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้ทุกธนาคารก็ไม่อยากให้เกิดหนี้เสียจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงต้องทำทุกวิถีทาง และหามาตรการช่วยเหลือเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ ขณะที่ตัวผู้ประกอบการเองก็จะต้องให้ความร่วมมือและพร้อมที่จะร่วมแก้ปัญหาไปด้วยกัน อย่ากลัว และหนีปัญหาเพราะจะยิ่งทำให้เกิดผลเสียกันทั้งสองฝ่าย ขอเพียงให้ลูกหนี้บอกข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะทางเราก็มีโครงการเติมทุนให้ ถ้าค้างชำระไม่เกิน 3 ครั้งจะสามารถเติมทุนให้สูงสุด 1 ล้านบาท แต่ถ้าเคยติดปัญหาเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลก็ต้องเจรจากับทางธนาคารเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ก่อน หรือแม้กระทั่งเคยถูกยึดทรัพย์แล้วก็ยังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้อยู่ดี” นายเขมชาติกล่าว

ด้านนายชูพงษ์ โภคะสวัสดิ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด หรือ BAM กล่าวว่า หากผู้ประกอบการมีหนี้สินทางธุรกิจควรเข้ามาคุยกับธนาคารด้วยตัวเอง ส่วนทาง BAM มีหน้าที่ช่วยลูกหนี้ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เพราะฉะนั้นถ้ามีปัญหาต้องรีบเข้าไปคุยและเจรจาแก้ไขกับทางธนาคาร และให้คำนึงว่าการส่งทนายจะเป็นขั้นตอนสุดท้ายที่ควรกระทำ แต่หากหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นผลดีที่สุด ขอให้เปิดใจและยอมรับซึ่งกันและกัน โอกาสแก้ไขมีอยู่เสมอ เนื่องจากไม่มีธนาคารไหนที่ต้องการให้ไปถึงขั้นตอนของการฟ้องร้องลูกหนี้ เพราะฉะนั้นทุกขั้นตอนทุกกระบวนการสามารถแก้ปัญหาหนี้ได้ถ้ามีการเปิดใจกันทั้งสองฝ่ายซึ่งทุกกรณีล้วนมีทางออกทั้งสิ้น

คุณจิตติมา รัตนสิทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษากฎหมายธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะที่เป็นธนาคารของภาครัฐและมีลูกค้าอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะลูกค้าธุรกิจเอสเอ็มอีในทุกประเภทธุรกิจทางธนาคารก็ยินดีให้ความร่วมมือในการปรับโครงสร้างหนี้ โดยลูกค้าสามารถไปติดต่อที่สาขาของธนาคารที่เคยทำเรื่องไว้แล้ว และทางสาขาจะส่งข้อมูลไปที่สำนักงานใหญ่ฝ่ายปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะพิจารณาและให้การช่วยเหลือต่อไป

** * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEsmanager






กำลังโหลดความคิดเห็น