xs
xsm
sm
md
lg

ปั้น “เชียงใหม่เมืองกาแฟ” ฝันนี้ไม่ไกลเกินเอื้อม รัฐ-เอกชน ผนึกพลังดันสุดตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จ.เชียงใหม่ สำรวจความพร้อม เนรมิต 'เชียงใหม่เมืองกาแฟ' ชี้ชาวบ้าน-ผู้ประกอบการขานรับ มั่นใจฝันไม่ไกลเกินเอื้อม จากศักยภาพกาแฟไทยใส่ใจทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เล็งสร้างจุดขายกาแฟอวลกลิ่นดอกไม้ป่าของกาแฟเทพเสด็จ


นายสุรพล ปลื้มใจ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการเชียงใหม่เมืองกาแฟได้ดำเนินงานมาประมาณ 3 ปี โดย กสอ.ได้จัดโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสร้างกลุ่มคลัสเตอร์ประมาณ 17 คลัสเตอร์ 18 เครือข่าย ซึ่งธุรกิจกาแฟก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เดิมผู้ประกอบการไม่ได้มีการรวมกลุ่ม ทำให้ไม่มีอำนาจการต่อรองในเรื่องของราคา ดังนั้นทางกรมฯ จึงได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองแห่งกาแฟ จากศักยภาพความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิอากาศ และปริมาณกาแฟเพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้การสร้างภาพลักษณ์และสร้างการรับรู้เพื่อมุ่งสู่เชียงใหม่เมืองกาแฟ ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการในการประกอบธุรกิจจึงเกิดขึ้น โดยเป็นการบูรณาการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ภายใต้งบประมาณปี 61 ที่ 25 ล้านบาท ซึ่งระดับต้นน้ำ เริ่มจากการคัดสายพันธุ์กาแฟ แปลงปลูก พัฒนาสายพันธุ์ เช่น กาแฟเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด พื้นที่ปลูกได้เครื่องหมาย GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์, กาแฟพะอัน อ.อมก๋อย โดยจะคัดผู้ประกอบการ 10 รายนำร่อง เพื่อพัฒนากล้าพันธุ์ไม้ที่มีคุณภาพ โดย จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ปลูกกาแฟครอบคลุม 19 อำเภอ มีผลผลิตราว 20,000 ตัน/ปี มีมูลค่าทางการตลาดทั้งระบบการผลิตราว 2,000 ล้านบาท

ระดับกลางน้ำเน้นการพัฒนาโรงคั่ว โรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่า จะเป็น อย., GMP, ISO และ HACCP การเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิต ลดการสูญเสีย ลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์ ส่วนระดับปลายน้ำ จะพัฒนาด้านการตลาด สร้างแบรนด์ พร้อมสร้างภาพลักษณ์ 'เชียงใหม่เมืองกาแฟ' ควบคู่กันไป จากปัจจุบันที่ จ.เชียงใหม่ มีร้านกาแฟประมาณ 1,200 ร้านค้า มูลค่า 2-3 ล้านบาท/ปี

“ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมทั้งจังหวัดเชียงใหม่และหลายภาคส่วนได้สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการกาแฟในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มคลัสเตอร์เชียงใหม่เมืองกาแฟที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมกว่า 300 ราย รวมถึงการอบรมให้ความรู้ด้านทักษะต่างๆ และการตลาด” นายสุรพล กล่าว

ด้านนายธีรเมศร์ ขจรพัฒนภิรมย์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแม่กำปอง ต.ห้วยแก้ว อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นอกจากแม่กำปอง จะเป็นที่รู้จักในฐานะชุมชนที่มีการจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เคยได้รับรางวัลชุมชนดีเด่นด้านการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์ในปี พ.ศ.2550 แล้ว หมู่บ้านแม่กำปอง ยังเป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์อาราบิก้าชั้นดี เนื่องจากอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลมากกว่า 1,300 เมตร มีอากาศเย็นฉ่ำตลอด ชาวบ้านยึดวิถีการปลูกกาแฟแบบธรรมชาติและปลอดสารสารเคมี ทำให้ได้ผลผลิตกาแฟที่มีความโดดเด่นในเรื่องรสชาติ และความหอม ไม่แพ้เมล็ดกาแฟจากแห่งใดในโลก ปัจจุบันแม่กำปอง สามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้มากกว่า 5 ตัน/ปี ภายใต้การทำงานของ “กลุ่มแปรรูปอาราบิก้าแม่กำปอง” ถือเป็นชุมชนที่พึ่งพาตนเองได้ สามารถสร้างผลผลิตกาแฟแบบปลูกเอง คั่วเอง ไปจนถึงการบรรจุหีบห่อ และจัดจำหน่ายเองโดยสมาชิกในชุมชน






ด้านนายสุวรรณ เทโวขัติ ประธานกลุ่มวิสาหกิจกาแฟสดเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ที่พื้นที่ดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indication) หรือ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ กล่าวว่า กาแฟเทพเสด็จมีคุณลักษณะที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น จะมีกลิ่นหอมของดอกไม้ป่าอยู่ด้วย เนื่องจากในช่วงที่ต้นกาแฟออกดอก จะเป็นช่วงที่ 'ดอกก่อ' ออกดอกพอดีเช่นกัน ดังนั้นจะเกิดการผสมเกสรของดอกไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้ ทำให้เมื่อได้เมล็ดกาแฟ จะมีกลิ่นของดอกไม้ป่า ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นและเลียนแบบไม่ได้ นอกจากนี้ความได้เปรียบในเรื่องพื้นที่ปลูกของหมู่บ้านเป็นต้นน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และแร่ธาตุ กาแฟได้รับการดูแลและปลูกภายใต้ร่มเงาของต้นไม้ใหญ่ ปลูกร่วมกับป่า ทำให้การเกิดการสะสมของธาตุอาหารเต็มที่ บนเทือกเขาสูง 1,100-1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทำให้รสชาติและกลิ่นกาแฟเทพเสด็จแตกต่างจากที่อื่น





นายไกรสิทธิ์ ฟูสุวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กาแฟวาวี จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้ประกอบการร้านกาแฟ มีการรับซื้อเมล็ดกาแฟจากชาวบ้านมาโดยตลอด รวมถึงยังลงพื้นที่พัฒนาสายพันธุ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงยังมีโรงงานที่ได้รับมาตรฐานระดับสากล โดยผู้มีประสบการณ์การคั่วมาตรฐาน Roasting Professional จากสมาคมกาแฟชนิดพิเศษยุโรป (SCAE) มากว่า 15 ปี บริการรับทำ Sample Roast สร้างกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ด้วยมาตรฐาน Q-Grader ของสมาคมกาแฟชนิดพิเศษอเมริกา และยังแนะนำให้คำปรึกษาไม่ว่าจะคั่วในปริมาณมากหรือน้อย ดังนั้นการที่เชียงใหม่จะเป็นเมืองกาแฟ จึงไม่น่าจะใช่เรื่องไกลตัว เนื่องจากทั้งภาครัฐฯ และเอกชนมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน รวมถึงสภาพภูมิอากาศก็เอื้อกับการปลูกกาแฟรสชาติ และคุณภาพแข่งขันได้



******************************************
12 แหล่งปลูกกาแฟคุณภาพ @เชียงใหม่

1.แม่ตอนหลวง อ.ดอยสะเก็ด
มีการปลูกกาแฟใต้ร่มไม้ไม่ทำลายพื้นที่เดิมที่เคยเป็นไร่ชามาก่อน ไม้บังร่มยังสร้างคาแรคเตอร์กาแฟได้ชัดเจน บางเมล็ดหอมคล้ายดอกไม้ป่า คล้ายมีกลิ่นผลไม้แทรกผสม

 
2.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด
ปลูกใต้ร่มเงาต้นไม้ในป่าต้นน้ำที่ความสูงระดับ 1,100 - 1,500 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีความหอมของดอกไม้ป่าเป็นเอกลักษณ์ รสชาติและกลิ่นแตกต่างจากกาแฟแหล่งอื่น


3.แม่กำปอง อ.แม่ออน
หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงนิเวศแห่งนี้ปลูกกาแฟ แบบธรรมชาติและปลอดสารพิษทำให้ผลผลิตมีคุณภาพล้ำเลิศทั้งในด้านรสชาติ และความหอมหวาน


4.ขุนช่างเคี่ยน อ.เมือง
เกษตรกรเปลี่ยนจากสวนลิ้นจี่เชิงเดี่ยว มาเป็นสวนลิ้นจี่ผสมกับกาแฟ สร้างเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลิ่นที่ไม่เหมือนใคร


5.แม่วิน อ.แม่วาง
นอกจากคุณภาพแล้วกาแฟจากแม่วินโดดเด่นจากแหล่งอื่น เพราะมีการรวมกลุ่มกันพัฒนารวมทั้งการช่วยเหลือกันในชุมชน

6.หนองหล่ม อ.จอมทอง
เมื่อ 40 กว่าปีมาแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จทอดพระเนตรต้นกาแฟบนดอยอินทนนท์ ต่อมามีการนำเมล็ดจากกาแฟต้นดังกล่าวไปต่อยอดเป็นจุดแรกเริ่มของกาแฟในเชียงใหม่

7.ขุนแตะ อ.จอมทอง
สวนกาแฟใต้ร่มไม้ใหญ่แทรกตัวอยู่ในพื้นที่ป่ารอบๆ หมู่บ้านชาวปากะญอ สิ่งชี้วัดความสมบูรณ์ของที่นี่คือชะนีที่อาศัยอยู่หลายฝูง ถ้าจะพูดว่ากาแฟที่นี่ดูแลชะนีก็ไม่น่าจะผิดนัก

8.โป่งสะแยน อ.แม่แจ่ม
ที่นี่ยังมี “นกเงือก” อาศัยอยู่ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของ ป่าไม้ การปลูกกาแฟไม่ต้องตัดต้นไม้จึงถือเป็นการอนุรักษ์ นกเงือกอย่างหนึ่ง


9.พะอัน อ.อมก๋อย
ชาวบ้านพะอันได้มีการจัดสรรพื้นที่ป่าชุมชมมาปลูกกาแฟ ใต้ร่มไม้ สร้างรายได้เสริมให้ชุมชนและได้รับมาตรฐานกาแฟอินทรีย์

10.แม่ตุงติง อ.สะเมิง
ปลูกที่ความสูง 1,000 - 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเลบนเทือกเขาและป่าไม้ที่สมบูรณ์ในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ปราศจากสารเคมี

11.แม่ตะละ อ.กัลยาณิวัฒนา
กาแฟเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมากแทบไม่ต้องใส่ปุ๋ย ใส่ยา ปลูกใต้ร่มไม้ใหญ่ได้ดี เป็นทางเลือกให้คนบ้านแม่ตะละใหม่ที่จะช่วยให้แหล่งน้ำต่างๆ กลับมาสมบูรณ์เหมือนครั้งก่อน

12.เลาวู อ.เวียงแหง
บนความสูง 1,400 - 1,500 เมตรจากระดับทะเลทำให้กาแฟมีรสชาติดีด้วยคะแนน 85.25 จาก 100 คะแนน ในการทดสอบรสชาติ กาแฟเลาวูจึงถือว่าเป็นกาแฟเกรดพรีเมียม
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *




กำลังโหลดความคิดเห็น