ตลาดเค้กและเบเกอรี่มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นเหมือนเค้กก้อนใหญ่ให้ผู้เล่นรายใหญ่รายย่อยได้ตัดแบ่งกันอย่างอิ่มหนำ แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะพบกับความสำเร็จในตลาดที่แข่งขันสูงนี้ ต้องโดดเด่น ต้องแตกต่างอย่างแข็งแกร่งเท่านั้น จึงจะเติบโตและอยู่รอดได้ อย่างเช่นร้านเบเกอรี่ White Day Patisserie ของ วทัญญู ชูติศิลป์ และเพื่อนๆ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไวท์ เดย์ จำกัด ที่นำสไตล์และวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาดีไซน์ธุรกิจเบเกอรี่ของตนอย่างลงตัว
วทัญญูลงขันเปิดกิจการร้านเบเกอรี่กับกลุ่มเพื่อนประมาณ 5 ปีที่แล้ว สาขาแรกอยู่ที่เดอะ เซอร์เคิล ราชพฤกษ์ ด้วยความชื่นชอบในวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะชื่นชอบใน ‘ขนมญี่ปุ่น’ ที่มีรูปแบบน่ารัก รสชาติถูกปาก แบบไม่หวานมาก น่าจะเหมาะกับตลาดผู้บริโภคคนไทย เขาและเพื่อนๆ จึงช่วยกันพัฒนาสูตรขนม ช่วยกันชิมและติชม กระทั่งได้เป็นขนมเค้กและเบเกอรี่ที่มีรูปลักษณ์ชวนมอง และไม่ผิดหวังเมื่อได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อย
“เรามองว่าการรับประทานขนม เป็นการให้รางวัลกับตัวเองอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกันเมื่อเราซื้อขนมไปฝากใคร ก็เหมือนเราให้ของขวัญกับคนพิเศษ ชื่อร้านขนมเราก็ตั้งให้สอดคล้องกับแนวคิดตั้งต้น โดยได้แรงบันดาลใจมาจากเทศกาล White Day ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งวันที่ 14 มีนาคมของทุกปี คนญี่ปุ่นจะให้ของขวัญตอบแทนแก่กันและกันนั่นเอง”
ทุกองค์ประกอบของร้าน White Day Patisserie จึงถูกออกแบบให้สอดคล้องตามธีมร้านอย่างแข็งแกร่ง ตั้งแต่การตกแต่งร้านที่ให้อารมณ์อบอุ่นสบายๆ เหมือนนั่งกินขนมอยู่ในห้องรับแขกของบ้าน ส่วนขนมนั้นก็ใส่ความครีเอฟทีฟลงไปแบบพอดีๆ แต่สามารถสร้างเซอร์ไพรส์ได้ในสไตล์ Less is More วทัญญูแนะนำเมนู The Box เป็นตัวอย่าง เห็นหน้าตาขนมอย่างเดียว ไม่รู้ว่ามันคืออะไรจนกว่าจะได้ทาน เปรียบกับการแกะกล่องของขวัญ ที่สร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้กับลูกค้าตั้งแต่แรกเห็น
“เพราะการแข่งขันที่สูง เราจึงต้องสร้างความแตกต่างเป็นจุดขาย ด้วยประสบการณ์การเดินทาง เราเห็นขนมมามากพอสมควร ทำให้เรามีไอเดียในการสร้างสรรค์ขนมในร้านทุกเมนูให้ดูน่ารัก น่าทานตลอดเวลา สร้างความรู้สึกแปลกใหม่ ไม่จำเจเวลาที่ลูกค้าเข้าร้าน นอกจากขนมเค้กและเบเกอรี่ เรายังมีเมนูอื่นๆ ทานร่วมโต๊ะด้วย เช่น กาแฟ บิงซู ฯลฯ
ถึงแม้จะมีเมนูใหม่ๆ มาเติมเสมอ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือ เราใส่ใจในเรื่องของสุขภาพของลูกค้า และคุณภาพของขนมเป็นสำคัญ เราจึงเลือกใช้วัตถุดิบที่ดี สดใหม่ ไม่ใช้สิ่งที่เป็นโทษกับร่างกาย เช่น มาการีน ครีมเทียม ขนมเค้กและเบเกอรี่ของ White Day ที่ผลิตออกมาเลยมีรสชาติเบา หวานน้อย ไม่เลี่ยน และไม่เบื่อที่จะทานบ่อยๆ”
ด้วยความใส่ใจออกแบบขนมหวานให้ออกมาหน้าตาดี แถมยังอร่อยและดีต่อสุขภาพ ขายเฉลี่ยชิ้นละ 100 บาทต้นๆ จึงดึงดูดให้คนรุ่นใหม่และกลุ่มครอบครัวเข้ามาเป็นลูกค้าขาประจำ ทั้งซื้อกลับบ้านและนั่งรับประทานที่ร้าน พร้อม ‘แชะ’ และ ‘แชร์’ ภาพให้คนบนโลกโซเชี่ยลต้องอิจฉา ถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ทำให้ร้าน White Day Patisserie เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ แล้วจูงใจให้คนเข้ามาที่ร้าน ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้น 7 สาขา ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนห้างทั่วกรุงเทพฯ เช่น เซ็นทรัลลาดพร้าว เมกะบางนา สยามเซ็นเตอร์ ฯลฯ
เบื้องหลังความสำเร็จส่วนหนึ่ง คือการที่วทัญญูลงทุนสร้าง ‘ครัวกลาง’ ขึ้นมา เพื่อให้พร้อมรองรับการขยายสาขาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต รวมทั้งพัฒนาสินค้าที่ใส่ใจดูแลคุณภาพและมาตรฐานตั้งแต่ต้นทาง แล้วส่งป้อนให้กับสาขาปลายทาง ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าลูกค้าจะไปรับประทานขนมหวานสไตล์ญี่ปุ่นที่ White Day Patisserie สาขาไหน ก็จะประทับใจกับรสชาติความอร่อยที่คงเดิม ไม่มีผิดเพี้ยน
ด้วยความพร้อมของครัวกลางและความเชี่ยวชาญด้านเบเกอรี่ ทำให้เขาพร้อมรับออเดอร์อื่นๆ เพิ่มด้วย เช่น รับจ้างผลิตเค้กและเบเกอรี่ส่งป้อนให้กับโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟและร้านเบเกอรี่ ตลอดจนรับผลิตเค้กแบบ Made-to-Order ในโอกาสพิเศษต่างๆ ให้กับผู้บริโภคและองค์กรบริษัท เช่น เค้กวันเกิด เค้กงานแต่ง เบเกอรี่สำหรับงานเลี้ยงงานสัมมนา เป็นต้น
“ปีนี้เศรษฐกิจค่อนข้างทรง เราจึงอยากจะใช้ศักยภาพที่เรามีอยู่ให้ดีที่สุด ความท้าทายของการทำธุรกิจในยุคนี้คือ การปรับตัวที่รวดเร็ว เบเกอรี่ค่อนข้างเป็นสินค้าแฟชั่น คนทำธุรกิจต้องก้าวตามให้ทัน ต้องพัฒนาเมนูใหม่ๆ ออกมาสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อไม่ให้ธุรกิจของเราหายไปกับกระแส”
แม้จะขยายธุรกิจด้วยกำลังตนเองมาตลอด แน่นอนว่าเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งที่ธุรกิจต้องโตแบบก้าวกระโดด การลงขันใช้เงินทุนส่วนตัวอาจไม่เพียงพอ เพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจ ปลายปี 2560 วทัญญูจึงตัดสินใจขอวงเงินสินเชื่อ โดยมี บสย. ช่วยค้ำประกันเพื่อนำเข้าเครื่องจักรชุดใหม่มารองรับกำลังการผลิตที่ขยายตัว รวมทั้งจัดสรรเงินสำหรับใช้หมุนเวียนในกิจการด้วย ซึ่งเขาบอกว่าโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ บสย. นับว่าช่วยเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกันได้มากทีเดียว เพียงแต่ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องมีโครงการหรือแผนธุรกิจที่ชัดเจนด้วย
“ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ในปีนี้เราพร้อมจะขยายธุรกิจรับจ้างผลิตขนมอย่างเต็มกำลัง เพื่อผลักดันให้ยอดขายเติบโต 30% จากปีที่แล้ว นอกจากนี้ เรากำลังพัฒนาแตกแบรนด์ขนมใหม่เพื่อทดลองตลาด รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจด้วยโมเดลที่เหมาะสม เพราะเราต้องการจะไปต่อในตลาดต่างจังหวัดและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นเรื่องท้าทายที่ต้องก้าวต่อไป เพื่อให้ White Day เป็นแบรนด์ระดับสากล มีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน เพียงแต่ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ทั้งเรื่องโลจิสติกส์ การคงคุณภาพสินค้า เพราะเราเป็นเค้กสด ไม่ใส่สารกันเสีย สินค้าจึงมีอายุสั้น จึงต้องใส่ใจเป็นพิเศษ”
เมื่อทุกองค์ประกอบลงตัว ก็ไม่มีอะไรจะมาหยุดการเติบโตของเบเกอรี่แบรนด์ White Day ได้อีกแล้ว
ติดต่อ บริษัท ไวท์ เดย์ จำกัด โทร. 093-561-9614
เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/whitedaypatisserie/
บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (www.tcg.or.th)
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager