xs
xsm
sm
md
lg

3 กูรูการเกษตรถ่ายทอดเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการเกษตร รองรับเกษตรยุค 4.0

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online



สวทช.นำกูรูด้านการเกษตร อย่างเบทาโกร มิตรผล และฟาร์มดีเอเชีย ร่วมเสวนาในหัวข้อ เทคโนโลยีพลิกเกษตรไทยเป็นเกษตรอัจฉริยะเพื่อรองรับการพัฒนาสู่การเปลี่ยนแปลงในยุค 4.0 และผลักดันการเกษตรประเทศไทยก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยให้มีความปลอดภัยและได้คุณภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

น.สพ. รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร

น.สพ.รุจเวทย์ ทหารแกล้ว รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบทาโกร กล่าวว่า เครือเบทาโกรเป็นธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมปีนี้เป็นปีที่ 51 ซึ่งได้ทำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมแบบครบวงจร หลังจากนั้นนำมาแปรรูปเป็นอาหาร การใช้เทคโนโลยีปัจจุบันมีความรวดเร็ว การที่จะมาเลี้ยงสัตว์แบบเดิมคงไม่ได้อีกต่อไปจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ซึ่งเครือเบทาโกรในปัจจุบันมีสองธุรกิจ คือ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรม และธุรกิจอาหาร โดยเริ่มจากฟาร์มปศุสัตว์ต่อเนื่องมาจนถึงการทำอาหารแปรูปที่มีความปลอดภัยและได้คุณภาพจากฐานผลิตที่ทันสมัยและอยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยและพัฒนา เป้าหมายของธุรกิจคือ ต้องการเป็นผู้นำด้านธุรกิจที่มีการเจริญเติบโตและความปลอดภัย ซึ่งเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพของอาหารเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

การใช้เทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเครือเบทาโกรได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์มานานพอสมควรจนถึงปัจจุบันก็ยังคงต่อเนื่อง เทคโนโลยีที่ใช้เบื้องต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว คือ ไอที เทคโนโลยี ระบบ e testsability คือระบบที่สามารถตรวจสอบได้ กล่าวคือ เมื่อผู้บริโภคต้องการทราบว่าสินค้าที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าต่างๆ มีแหล่งที่มาการผลิตจากที่ใดก็สามารถดูได้จากระบบนี้ ซึ่งปัจจุบันเครือเบทาโกรได้พัฒนาและเริ่มใช้ระบบคิวอาร์โค้ดกับผลิตภัณฑ์รวมถึงเว็บไซต์ เนื่องจากมีลูกค้าจากต่างประเทศก็สามารถเรียนรู้และทราบได้ว่าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ในเครือมีแหล่งที่มาการผลิตมาจากแหล่งใด e testsability สามารถดูได้ตลอด 24 ชม. และทางเครือเบทาโกรมีระบบการควบคุมคุณภาพสินค้าและความปลอดภัย โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพื่อสร้างให้เกิดมาตรฐานการยอมรับ

นายปัญญาวัฒน์ ฉัททันต์รัศมี Expert – Innovation for Business บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

ด้าน นายปัญญาวัฒน์ ฉัททันต์รัศมี Expert - Innovation for Business บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เผยว่า ทุกคนอาจรู้จักมิตรผลในฐานะที่เป็นบริษัทผลิตน้ำตาล แต่มิตรผลยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่ใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นชานอ้อยที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิง นำอ้อยมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทำโรงงานไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมิตรผลเป็นบริษัทผลิตน้ำตายรายใหญ่ของโลกอยู่ในอันดับต้นๆ รองจากฝั่งยุโรป ซึ่งการพัฒนาธุรกิจยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเพราะขณะนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกธุรกิจ มิตรผลก็เช่นเดียวกัน

การใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนากระบวนการและช่วยเหลือชาวไร่โดยการเก็บข้อมูลด้วยมือและเก็บข้อมูลจากแท็บเล็ต ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลกับชาวไร่ว่าแปลงเกษตรแปลงไหนควรได้รับการแก้ไข แต่วิธีที่มีเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูลอาจจะใช้เวลานานพอสมควรเนื่องจากมีจำนวนชาวไร่ไม่น้อย มิตรผลจึงได้นำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้โดยการใช้ภาพจากดาวเทียมมาวิเคราะห์รูปลักษณ์ของแปลงเกษตร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาช่วยเหลือในเรื่องการคิดราคา การปรับแผนที่ของโรงงาน และยังมีเทคโนโลยีอีกอย่าง คือ เทคโนโลยีหาความชื้นในดิน มิตรผลได้ร่วมกับ สวทช. โดยการใช้โดรนถ่ายภาพแปลงเกษตรแล้วนำมาวิเคราะห์ว่าผลผลิตต่อแปลงมีประมาณเท่าไหร่ เมื่อโดรนจับภาพได้แปลงไหนที่มีลักษณะเป็นรูโหว่ตรงกลางก็นำมาวิเคราะห์โดยการปรับสีพอเห็นสีชัดเจนก็จะสามารถแก้ไขปัญหาและปรับปรุงให้ดีขึ้น และสามารถลดเวลาในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลด้วยตนเอง

นายกำพล โชคสุนทสิทธิ์ ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟาร์มดี เอเชีย จำกัด

ส่วน นายกำพล โชคสุนทสิทธิ์ ประธานกรรมการเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟาร์มดี เอเชีย จำกัด กล่าวว่า เมื่อก่อนบริษัททำเกี่ยวกับด้านไอทีเป็นหลัก และเรามีความคิดว่าเทคโนโลยี IT Internet of think เริ่มมีคนเข้ามามากขึ้น ซึ่งเทคโนโลยีก็อยู่ในระดับที่มีความพร้อม หลังจากนั้นได้เริ่มเข้ามาปรึกษากับทาง สวทช.เนื่องจากอยากต่อยอดธุรกิจ โดยมีความคิดว่าจะนำเอาเทคโนโลยีมาทำอย่างไรกับการเกษตรและได้รับการช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ทำเกาตร ต่อมาเป็นฟาร์มเห็ด, สมาร์ทฟาร์ม ต่อมาคือโดรนพ่นยาและหุ่นยนต์พ่นยา

จุดเริ่มต้นการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาธุรกิจ คือ เริ่มที่สมาร์ทฟาร์ม แพลตฟอร์ม โดยการทำให้อุปกรณ์หลายอย่างสามารถเชื่อมต่อกันได้ ธุรกิจของเราคือโรงเรือนเพาะเห็ด ที่เลือกเห็ดเพราะว่าเห็ดสามารถออกผลผลิตได้ตลอดเวลา สามารถเก็บได้ทั้งวันและยังมีการปลูกพืชบางอย่างเพิ่มขึ้น เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำหน้าที่วิเคราะห์ว่าแต่ละรอบเราปลูกด้วยวิธีไหน รูปแบบการผลิตเป็นแบบใดแล้วนำมาวิเคราะห์ อีกตัวคือนอกโรงเรือนตัวนี้จะมีปัญหาเยอะกว่าในโรงเรือน การทำงานจะเพิ่มความยุ่งยากมากขึ้น เราจึงได้นำโดรนมาใช้ในเรื่องการพ่นยา แต่ถ้าหากจะใช้โดรนบรรทุกถังพ่นยาความเป็นไปได้มีความเสี่ยงเนื่องจากตัวโดรนไม่สามารถรับน้ำหนักได้นาน การแก้ปัญหาก็คือให้โดรนลากสายยางจากถังพ่นยาขึ้นไปฉีดแทน ทำให้ระยะการทำงานของโดรนเพิ่มมากขึ้นไม่ต้องห่วงเรื่องการเติมยาพ่นอีกด้วย

สำหรับตัวหุ่นยนต์เราจะนำมาใช้ในเรื่องการเลี้ยงวัว ปกติการผลิตน้ำนมวัวจะอยู่ที่ 20 ลิตรต่อวัน แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้าไปจับก็สามารถเพิ่มขึ้นวันละ 30-40 ลิตร กล่าวคือจะมีระบบไอโอทีดีเซ็นเซอร์อยู่ที่ตัววัว เวลาวัวติดสัด เดินไปเดินมา ข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังสมาร์ทฟาร์ม แพลตฟอร์ม เมื่อข้อมูลถูกส่งไประบบจะทำการวิเคราะห์อาการวัวว่ากำลังเป็นอะไร เมื่อรู้คำตอบว่าวัวกำลังติดสัดเราจะแยกวัวตัวนั้นออกมา และไม่รีดนม ทั้งนี้ยังมีเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วย คือ สปาวัว โดยการใช้เครื่องนวดให้วัวอารมณ์ดีเนื่องจากวัวเป็นสัตว์ที่รักความสบายและความสะอาด เมื่อให้วัวเข้าเครื่องนวดแล้วจะมีความผ่อนคลายทำให้อารมณ์ดีขึ้น เมื่ออารมณ์ดีสิ่งที่ตามมาคือน้ำนมจะเพิ่มขึ้น ทำให้เราสามารถผลิตน้ำนมวัวมากขึ้นจากเดิม

นอกจากนี้ เรากำลังขยายผลไปถึงการค้าขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า ยกตัวอย่างเช่น การเล่นเกมปลูกผัก จะมีลักษณะคล้ายๆ กัน ตอนเราปลูกผักเราก็อยากขายได้ ถ้าหากเราทราบล่วงหน้าว่าจะมีคนมาซื้อผักเราจำนวนเท่าไหร่เราก็สามารถผลิตได้เท่ากับจำนวนที่ลูกค้าต้องการได้

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *



กำลังโหลดความคิดเห็น