เกษตรกรชาวนา ผู้ปลูกข้าว ยุคปัจจุบัน ไม่ได้แตกต่างกับเกษตรกรในหมวดอื่นๆ เพราะมีการปรับตัว คิดนอกกรอบ เพื่อสามารถแข่งขันและเป็นเกษตรในยุค 4.0 ได้ วันนี้ มีตัวอย่างของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ประสบความสำเร็จ และขายผลผลิตข้าวได้สูงกว่าราคาตลาดถึงกิโลกรัมละ60-70 บาท เดือนหนึ่งมีรายได้หลักแสนบาท จากพื้นที่ทำนา 50 ไร่
มาทำความรู้จักกับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ชื่อว่า ..”นายเหมี่ยว จงสดับกลาง” กลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อสังคม ตำบลกำแมด อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร หลายคนคงมีคำถามว่าปลูกข้าวอะไร ทำไมขายได้แพงขนาดนี้ คำตอบ คือ เขาปลูกข้าวที่คนอื่นไม่ปลูก และจุดขายที่ทำให้ทุกคนต้องยอมจ่ายเงินแพงมาซื้อข้าว ของเขา คือ การนำข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรี มาผสมกันจนได้ข้าวผสม 5 สายพันธุ์ ที่ผ่านการตรวจสอบถึงคุณประโยชน์มากกว่าการกินข้าวทั่วไป
ทั้งนี้ข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ที่ คุณเหมี่ยว นำมาปลูก และจำหน่ายในครั้งนี้ ประกอบไปด้วย ข้าวมะลิแดง ข้าวเจ้าเหลือง ข้าวเจ้าแดง ข้าวหอมนิล และข้าวหอมมะลิ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีคุณสมบัติที่โดดเด่น ที่ผ่านการวิจัย จากห้องแล็บมาแล้ว ว่าเป็นข้าว ที่มีสารอาหารที่แตกต่างกัน และพอนำมาผสมกันทำให้ได้ข้าวที่มีคุณประโยชน์ครบถ้วน ทั้งป้องกันและรักษาภูมิกันโรคได้ ซึ่งข้าวทั้ง 5 สายพันธ์ได้แก่
1. ข้าวเจ้าเหลือง เป็นข้าวสายพันธุ์ ที่เกิดขึ้นมาจากการผสมระหว่าง ข้าวเหนียวแดงและข้าวจ้าวเหลือง จนได้ออกมาเป็นข้าวสีเหลืองเข้ม จนออกน้ำตาล ข้าวสายพันธุ์นี้ เป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้มีการปลูกกันมานานแล้ว เพราะปลูกยากต้องใช้เวลา 7-8 เดือนกว่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ข้อดี ของข้าวจ้าวเหลือง คือ เมื่อข้าวสีเข้มทั้ง 2 ชนิดมาผสมกัน เกิดความแข็งแรงของ ดีเอ็นเอ ทำให้ได้สารอาหาร ที่ช่วยผู้ที่มีบุตรยาก หรือถ้าคนที่ตั้งครรภ์รับประทานก็จะป้องกันการแท้งลูก หรือลูกพิการได้ ที่สำคัญ คือเป็นข้าวที่มีน้ำตาลน้อย เหมาะกับคนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือ ความดัน
2. ข้าวหอมมะลิแดง ค้นพบ โดยสถานีทดลองข้าวสุรินทร์ ซึ่งเป็นการนำข้าวขาวดอกมะลิ 105 ไปตรวจสอบความบริสุทธิ์ พบว่าในรวงข้าวจำนวนหนึ่งมีเมล็ดที่เป็นข้าวเหนียวปนอยู่ด้วย เข้าใจว่าเกิดจากการกลายพันธุ์ตามธรรมชาติ เมื่อนำเมล็ดข้าวปนไปปลูก พบว่า ในกอหนึ่งให้เมล็ดที่มีเยื่อหุ้มเป็นสีแดงเรื่อๆ มีทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว และเมื่อเอาเฉพาะเมล็ดข้าวจ้าว ที่มีเยื่อหุ้มเป็นสีแดงมาปลูกที่ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลกเพื่อการคัดเลือก จึงได้ข้าวหอมมะลิแดง สายพันธุ์ข้าวเบาและข้าวหนักดีเด่นที่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลไว้ และในปี พ.ศ. 2538 กรมการข้าวได้เสนอขอขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรเป็นพันธุ์ข้าวทั่วไป โดยใช้ชื่อว่า “ข้าวหอมแดง (Red Hawm Rice)” และด้วยมีที่มาจากข้าวหอมมะลิ 105 จึงเรียกข้าวชนิดนี้ว่า “ข้าวหอมมะลิแดง
3. ข้าวเจ้าแดง ในสมัยก่อนนั้นเป็นข้าวสำหรับพลทหารที่ประจำการอยู่ หรือนักโทษในเรือนจำ แต่ปัจจุบันกลายเป็นข้าวที่นิยมบริโภคสำหรับผู้ที่รักในสุขภาพ ข้าวแดงโดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ ข้าวป่า และข้าวแดงที่ใช้บริโภคกัน ต่างกันตรงที่ข้าวป่าเป็นวัชพืชร้ายแรงที่ขึ้นปะปนกับข้าวขาว เวลานำมาหุงข้าวจะไม่สุกเพราะมีขนาดเล็กและแข็ง แต่ข้าวแดงที่นิยมรับประทานกันนั้นจะมีเมล็ดเรียวยาวสามารถนำมาหุงสุกรับประทานได้และมีคุณค่าสารอาหารต่างๆ มากมาย พันธุ์ข้าวแดงต่างๆ ที่นิยมบริโภคและจำหน่ายในภาคต่างๆ ได้แก่ ข้าวมันปูของภาคกลาง ข้าวกริปของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และข้าวสังข์หยดของภาคใต้ ปกติข้าวแดงนั้นจะนิยมบริโภคเป็นข้าวกล้องล้วนๆ หรือผสมกับข้าวขาวรับประทาน ประโยชน์ข้าวแดง ป้องกันโรคปากนกกระจอก โรคเหน็บชา เสริมสร้างเม็ดเลือด เป็นต้น
4. ข้าวเจ้าหอมนิล เป็นข้าวที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาจนได้ข้าวที่มีเมล็ดข้าวกล้องเรียวยาวสีม่วงเข้ม ข้าวกล้องเมื่อหุงสุกจะนุ่ม เหนียว หอม ข้าวสารหุงสุกมีสีม่วงอ่อน นุ่ม และมีกลิ่นหอมเช่นกัน คุณสมบัติที่สำคัญของข้าวเจ้าหอมนิลคือ ข้าวกล้องมีโปรตีนสูงถึง 12.5 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณคาร์โบไฮเดรต 70 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ amylose 16 เปอร์เซ็นต์ และยังประกอบไปด้วยธาตุเหล็ก สังกะสี ทองแดง แคลเซียม และโพแทสเซียม ซึ่งสูงกว่าข้าวขาวดอกมะลิ เยื่อหุ้มเมล็ดที่เป็นสีม่วงเข้มประกอบด้วยสาร แอนโทไซยานิน โพรแอนโทไซยานิน ไบโอฟราโวนอย และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ
และ 5.ข้าวหอมมะลิ ซึ่งในครั้งนี้ทาง กลุ่มผู้ผลิตข้าวอินทรีย์เพื่อสังคม ได้เลือกใช้ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นสายพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดในไทย มีลักษณะกลิ่นหอมคล้ายใบเตย เป็นพันธุ์ข้าวที่ปลูกในโลกไม่ได้คุณภาพเหมือนกับปลูกในประเทศไทย และเป็นสินค้าส่งออกที่รู้จักไปทั่วโลกความหอมของข้าวหอมมะลิ ชนิดนี้เกิดจากสาระเหยชื่อ 2-acetyl-1-pyroline เป็นสารที่ระเหยหายไปได้ การรักษาความหอมของข้าวหอมมะลิให้คงอยู่นานนั้นจึงควรเก็บข้าวไว้ในที่เย็น อุณหภูมิประมาณ 15 องศาเซลเซียส เก็บข้าวเปลือกที่มีความชื้นต่ำ 14-15% ลดความชื้นข้าวเปลือกที่อุณหภูมิไม่สูงเกินไป
นายเหมียว บอกว่า จุดเริ่มต้นที่หันมาทำข้าวทั้ง 5 ชนิด เพราะมองเห็นว่า ข้าวบางสายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์โบราณ และไม่มีการปลูกกันแล้ว เขาก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ข้าวสายพันธุ์โบราณเหล่านี้ เกรงว่าต่อไปในอนาคตจะไม่มีคนสืบทอดและหายไปเป็นที่น่าเสียดาย โดยส่วนตัวเป็นชาวนามาตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย พอตกมาถึงรุ่นพ่อ รุ่นแม่ ก็ยังคงเลี้ยงเรามาด้วยข้าวสายพันธุ์โบราณเหล่านี้ แต่พอมาถึงรุ่นของตนเอง กลับไม่ได้สืบทอดเอาไว้ เพราะทุกคนหันไปให้ความสำคัญกับข้าวสายพันธุ์ใหม่ๆ จริงๆในประเทศไทย มีข้าวกว่า 100 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมปลูกกันมีไม่ถึง 10 สายพันธุ์ โดยส่วนตัวก็มีพื้นที่การปลูกข้าวไม่เยอะเพียง 50 ไร่ แต่มีลูกไร่ที่เป็นเครือข่ายเกษตรอินทรี หันมาปลูกข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ปัจจุบันมีเครือข่ายกว่า 100 ไร่
สำหรับที่มาของการนำข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ มาผสมรวมกัน และทำออกมาจำหน่ายในครั้งนี้ เกิดขึ้นมาจาก ส่วนตัวผมเป็นคนชอบที่คิดอะไรใหม่ และอยากรู้ว่าข้าวที่เราปลูกเนี่ยมีคุณสมบัติ ประโยชน์อะไรต่อร่างกายบ้าง ก็เลยนำข้าวที่ปลูก ไปให้มหาวิทยาลัยมหิดล ช่วยทดสอบในห้องแล็บ และผลการทดสอบพบคุณสมบัติเด่น ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ก็เลยนำข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์มาผสมกันและนำออกมาขาย ตอนนั้นผมเป็นรายแรก ยังไม่ได้มีคนทำขายมากเหมือนทุกวันนี้ ผลตอบรับออกมาดีมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพ
ปัจจุบันข้าวผสม 5 สายพันธุ์ของ “นายเหมี่ยว” มีจำหน่ายที่ร้านเลมอนฟาร์ม โดยมีออเดอร์ประเมาณ เดือนละ 2 ตัน คิดเป็นเงินประมาณ 2 แสนบาทต่อเดือน และเขาได้เปิดร้านขายปลีกที่ตลาดอตก. ซึ่งที่ตลาดอตก.มียอดขายเกือบ 2 แสนบาทต่อเดือน เช่นกัน ส่วนราคาขายข้าวผสม 5 สายพันธุ์ อยู่ที่กิโลกรัมละ 60-70 -80 บาท ส่วนราคาข้าวเปลือกที่รับซื้อจากเกษตรกรเครือข่าย ได้แก่ ข้าวจ้าวเหลืองแพงสุด ราคาเกวียนละ 25,000บาท ข้าวมะลิแดง ราคาเกวียนละ 20,000 บาท ข้าวจ้าวแดงราคาเกวียนละ 19,000 บาท ข้าวหอมนิล ราคาเกวียนละ 20,000 บาท และข้าวหอมมะลิทั่วไป ราคาเกวียนละ 17,000 บาท ราคานี้เป็นราคาข้าวที่ปลูกแบบเกษตรอินทรี
“ผมอาจจะเป็นคนคิดไม่เหมือนเกษตรกรคนอื่นๆ ที่ใครปลูกข้าวอะไรก็ปลูกตามกัน และให้พ่อค้าคนกลางอย่างโรงสีมาเป็นคนกำหนดราคา และทำไมเราต้องขายให้โรงสี ทำไมเราไม่สีข้าวเอง และขายเอง และเราเคยสงสัยไหมว่าข้าวที่เรากินมีสารอาหารอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และทำไมเราไม่ปลูกข้าวชนิดนั้นๆ เพราะข้าวที่ปลูกไม่ได้ขายอย่างเดียวเราก็กินด้วย ก็เลยมาจบที่ผมปลูกข้าวเอง สีเอง และสุดท้ายคือขายทำตลาดเอง วันนี้ผมสามารถขายข้าวได้เดือนละเกือบ 4 ตัน และส่วนหนึ่งรับมาจากเกษตรที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรี ซึ่งครั้งนี้เราไม่ได้ช่วยแค่ตัวเราให้มีรายได้ทุกวัน เรายังช่วยเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนให้เขาสามารถขายข้าวได้ในราคาที่ไม่ถูกเอาเปรียบจากทางโรงสี วันนี้ถ้าเกษตรกรไทย ทำได้เหมือนกับผม โอกาสที่ชาวนาจะลืมตาอ้าปากได้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก”
สนใจโทร.06-1030-8502
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *