xs
xsm
sm
md
lg

เอ็นไอเอ – จุฬาฯ หนุน 3 พืชเศรษฐกิจ ต่อยอดสู่อุตฯ พลังงาน เพิ่มรายได้ 10 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) NIA โดยศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (ABC Center) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือพัฒนาอุตสาหกรรมไบโอรีไฟเนอรี่ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า
ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ดร. สุภาพ อัจฉริยศรีพงศ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่” ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรที่มีโอกาสเติบโตและหลายภาคส่วนให้ความสนใจ โดยเป็นการแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรหรือของเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีชีวภาพโดยใช้ จุลินทรีย์ แบคทีเรีย ยีสต์ เอ็นไซม์ หรืออื่นๆ ให้ทำหน้าที่เสมือนโรงงาน (cell factory) ให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงและพลังงาน ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารสัตว์แห่งอนาคต อาหารแห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์

ดังนั้น NIA โดย Agro Business Creative Center หรือ ABC Center จึงได้ร่วมกับวิทยาลัยปิโตรเลียม และปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย ในพืชเศรษฐกิจหลัก 3 ชนิด ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ซึ่งหากประเทศไทยสามารถผลักดันและสนับสนุนให้เกิดการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมในรูปแบบของ Biorefinery Industry Complex ในลักษณะคลัสเตอร์อุตสาหกรรม พร้อมทั้งประกาศมาตรการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากภาครัฐ ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของการสร้างธุรกิจนวัตกรรมเกษตรสาขาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่อย่างจริงจังได้ จะเกิดผลดีทั้งในการช่วยกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปชีวมวล พร้อมขับเคลื่อนให้ไทยเป็นผู้นำของธุรกิจดังกล่าวได้ในภูมิภาค และยังจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรของประเทศได้อีกไม่ต่ำกว่า 10 เท่า โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และอ้อย ที่ไทยส่งออกเป็นอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก

ด้าน ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ ABC Center มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยน “เกษตรแบบดั้งเดิม” ไปสู่ “เกษตรอุตสาหกรรม” และก้าวไปสู่ “เกษตรบริการหรือธุรกิจเกษตร” ที่มีการใช้นวัตกรรมเป็นหลักในการขับเคลื่อน โดยมุ่งสร้างรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรใน 7 สาขา ได้แก่ 1) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ 2) ธุรกิจเกษตรดิจิทัล 3) ธุรกิจเครื่องจักรกลเกษตร หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ 4) ธุรกิจการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง 5) ธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 6) ธุรกิจการบริการทางธุรกิจเกษตร และ 7) ธุรกิจรูปแบบการจัดการฟาร์มแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 นี้ NIA ยังได้ตั้งเป้าหมายที่จะใช้ ABC center ในการพลิกโฉมด้านการเกษตร (Agriculture Transformation) ของประเทศไทย รวมถึงเพื่อให้ตอบโจทย์กับธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ 5 ด้าน ได้แก่
ด้านเทคโนโลยี - เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล ไม่สามารถคาดการณ์ผลผลิตได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อควบคุม ตรวจสอบคุณภาพ ปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านเศรษฐกิจ - เปลี่ยนจากเกษตรที่ต้องพึ่งพาพ่อค้าคนกลางในการผลิตและการขาย เป็นเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง
ด้านการวางตำแหน่ง – เปลี่ยนจากการเป็นผู้ตามทางการเกษตร ให้เป็นผู้นำทางการเกษตร โดยอาศัยความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผนวกกับความหลากหลายในด้านการเกษตร
ด้านสิ่งแวดล้อม – เปลี่ยนจากการใช้ทรัพยากรที่หลากหลายอย่างฟุ่มเฟือยและไม่คุ้มค่า ให้มีการสร้างรูปแบบธุรกิจการเกษตรสมัยใหม่ที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าขึ้น เช่น การเพาะปลูกในระบบปิดที่ประหยัดน้ำมากกว่าร้อยละ 90
ด้านการตลาด – เปลี่ยนจากตลาดการเกษตรแบบเฉพาะกลุ่ม (ทุนขนาดใหญ่) มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรม จึงจำเป็นต้องยกระดับการเกษตรสู่เกษตรสมัยใหม่ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนพัฒนาอุตสาหกรรม วิจัย และนวัตกรรม อันจะนำไปสู่การยกระดับการเกษตร และคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านวิชาการ ความรู้ทางนวัตกรรม และมีประสบการณ์โดยเน้นหนักทางด้านเทคโนโลยีปิโตรเลียม เทคโนโลยีปิโตรเคมี และพอลิเมอร์ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว และตระหนักถึงการลดลงของพลังงานฟอสซิลซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของโลกที่มากขึ้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่วิทยาลัยฯ จะมีบูรณาการองค์ความรู้ต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนภาพจากโรงกลั่นน้ำมันไปสู่ไบโอรีไฟเนอรี่รวมถึงการการศึกษาแนวโน้ม ทิศทาง และความเป็นไปได้ในการพัฒนาเพื่อการบ่งชี้แนวโน้มและทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ในอนาคตของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปสู่เศรษฐกิจฐานชีวภาพอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร. สุวบุญ จิรชาญชัย คณบดีวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เศรษฐกิจฐานชีวภาพจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งหัวใจหลักคือ กระบวนการการแปรรูปทรัพยากรหมุนเวียนชีวภาพและชีวมวลให้กลายเป็นสารผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายคล้ายกับระบบโรงกลั่นปิโตรเคมี โดยการสกัดเอาองค์ประกอบเคมีทุกชนิดในชีวมวลมาใช้ประโยชน์อย่างครบถ้วนหรือเรียกว่า “ไบโอรีไฟเนอรี่ (biorefinery)” ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากไบโอรีไฟเนอรี่ สามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1) ชีวเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพ 2) พลังงานชีวภาพ และ 3) ผลิตภัณฑ์พลอยได้สำหรับอาหาร/อาหารสัตว์

ด้านประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านวัตถุดิบและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น เมื่อนำความรู้ทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในการผลิต จะสามารถสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มากกว่ากว่ามูลค่าจากการส่งออกสินค้าการเกษตรเกือบ 2 เท่า ทั้งนี้ ในการผลักดันธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่จำเป็นต้องมีการลดข้อจำกัดทางด้านกฎหมายและพรบ. การเชื่อมโยงระหว่างภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมรวมถึงการขยายผล การส่งเสริมด้านการตลาดโดยเฉพาะในตลาดโลก เช่น ส่งเสริมให้ใช้ผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพในผลิตภัณฑ์ใช้แล้วทิ้ง การกำหนดมาตรฐานพร้อมทั้งรับรองและตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักถึงความสำคัญของผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ คือ การบูรณาการและการร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยวิทยาลัยฯ และ NIA จะร่วมกันศึกษาเพื่อกำหนดทิศทาง แนวโน้มในอนาคต และนโยบายการสนับสนุนที่สำคัญของการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ของประเทศไทย พร้อมระบุปัญหาและความท้าทายของพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ รวมไปถึงทิศทางการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ให้ตรงกับบริบทของประเทศไทย เพื่อนำไปใช้เป็นแผนที่นำทางในการพัฒนาธุรกิจไบโอรีไฟเนอรี่ของประเทศต่อไป

สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th หรือ Facebook: NIAThailand
 
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ"   รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด  และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * * 





ธพว.ติดปีกสตาร์ทอัพ ปั้นหลักสูตร SME-D Scale UP พร้อมอัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ธพว.ติดปีกสตาร์ทอัพ ปั้นหลักสูตร SME-D Scale UP พร้อมอัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือ SME Development Bank) ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดโครงการอบรมหลักสูตร“SME-D Scale UP” โดยการอบรมดังกล่าวเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ จาก 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve ได้เติมเต็มความรู้ในหลักสูตรการสร้างพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาดในยุค 4.0 และเพื่อต่อยอดแนวความคิดสร้างสรรค์สร้างโมเดลธุรกิจสู่ผลิตภัณฑ์ที่สามารถออกตลาดได้จริง และทางธพว.ยังได้ให้การสนับสนุนด้านเงินทุนในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น