xs
xsm
sm
md
lg

ไวส์ ช้อยส์ ปรุงนวัตกรรมใส่อาหาร สร้างแต้มต่อธุรกิจ ศึกชิงพื้นที่ค้าปลีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


     ปัจจุบันมีช่องทางในการสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจมากมาย ที่ลงทุนต่ำ กำไรสูง ขอเพียงมีไอเดียนำทาง ณัฏฐ์เมธี ธนกิตต์วุฒิกุล Business Developer คนเก่งแห่ง บริษัท ไวส์ ช้อยส์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้รวมตัวกับเพื่อนๆ สมัยเรียน ที่ต่างคนต่างก็มีงานประจำ แต่สามารถทำธุรกิจสตาร์ทอัพเล็กๆ พร้อมไปด้วยกันได้ โดยใช้ฐานความรู้ด้านฟู้ดไซน์และการตลาดเป็นทุนตั้งต้น ต่อยอดธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารในช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถติดปีกสินค้าให้ไปได้ไกลมากๆ
     สินค้าตัวแรกที่ณัฏฐ์เมธีเปิดตัวสู่ตลาด คือ โยเกิร์ต การ์โนล่า แบรนด์ ‘เอเกรน’ อาหารธัญพืขที่กำลังเป็นเทรนด์นิยม แถมยังเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีอัตราการหมุนเวียนสูง (Fast Moving Consumer Goods : FMCG) แน่นอนว่าตลาดที่หอมหวานเช่นนี้ ย่อมมีบิ๊กเนมครองเจ้าตลาดอยู่ แล้วเอสเอ็มอีรายเล็กๆ จะงัดข้อต่อกรอย่างไรไหว? เขาไขข้องใจเรื่องนี้ว่า
     “เอสเอ็มอีต้องมีอะไรที่เหนือกว่า เราใช้นวัตกรรมแนวนอนในการสร้างสินค้า โดยสำรวจว่าตลาดต้องการอะไร ไม่ใช่พัฒนาสินค้าตามใจตนเอง อย่างผู้บริโภคทานกราโนล่าคู่กับโยเกิร์ต ทำไมต้องซื้อแยกชิ้นด้วยล่ะ เราก็จับมันมารวมกัน ทำให้เป็น Functional Product คือเติมความสะดวกสบายลงไป เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบของคนยุคปัจจุบัน เอเกรนจึงเป็นโยเกิร์ตที่มีกราโนล่าเป็นท็อปปิ้ง พร้อมรับประทานได้ทันที มันชนะกันตรงนี้ แล้วยังสามารถทำราคาสูงกว่าได้ด้วย”

     ถึงจะจับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ แต่สินค้าแบรนด์เอเกรนก็ไม่ได้เฮลธ์ตี้จ๋าเสียทีเดียว อย่างกราโนล่าเลือกใช้วัตถุดิบที่เป็นซูเปอร์ฟู้ดทั้งหมด แต่โยเกิร์ตเป็นแม็สโยเกิร์ต เพราะเขาต้องการให้ผู้บริโภคทุกกลุ่มกินได้ และเข้าถึงความสะดวกสบาย ปัจจุบันสินค้ามีทั้งสิ้น 8 รสชาติ วางตลาดในโมเดิร์นเทรดหลายแห่ง เช่น ท็อปส์ ฟู้ดแลนด์ วิลล่ามาร์เก็ต โกลเด้นเพลส เดอะมอลล์ และบิ๊กซี ล่าสุดกราโนล่าของเอเกรนยังได้ขยายช่องทางเข้าไปยังเซเว่นอีเลฟเว่น 7,000 สาขาเป็นที่เรียบร้อย

     การสร้างพื้นที่ยืนได้ในตลาดค้าปลีกที่แข่งขันสูง โดยใช้เวลาเพียงแค่ 1 ปี ไม่ง่ายเลยสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ ณัฏฐ์เมธีชี้ว่าจุดแข็งของไวส์ ช้อยส์ ที่ทำให้สามารถแข่งขันในตลาดได้ไม่แพ้รายใหญ่ คือ หนึ่ง ทำบริษัทให้ลีน ปกติธุรกิจที่เริ่มต้นใหม่ๆ มักจะลำบาก เพราะฟิกซ์คอร์สสูง แตไวส์ ช้อยส์ เป็นผู้จัดจำหน่ายเต็มตัว จ้างโรงงานผลิตสินค้า แล้วหาทางส่งต่อให้โมเดิร์นเทรดที่มีระบบจัดการและกระจายสินค้าที่ดีเป็นทุนเดิม เขาจึงไม่จำเป็นต้องมีโรงงาน ไม่ต้องมีออฟฟิศ และไม่ต้องจ้างพนักงานเลย สอง หานวัตกรรม ถึงจะมีพื้นความรู้เป็นทุนเดิม แต่เขาก็ยังวิ่งเข้าหาปรึกษาสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตลอดเวลา เพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาสู่ตลาด

     “อีกอย่างเราเป็นบริษัทเล็ก มีความคล่องตัวสูง เราคิดและทำได้ทันที แต่อุปสรรคสำคัญของเราหรือแม้แต่เอสเอ็มอีทั่วไป คือ ‘เงินหมุนเวียน’ และ ‘ความรู้’ โชคดีในเรื่องของความรู้ เราเป็นทีมงานที่มีประสบการณ์ และการมีพาร์ทเนอร์ที่แข็งแกร่งอย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสถาบันอาหาร เราเลยผ่านจุดนั้นได้ง่าย แต่อุปสรรคคือเงินหมุนเวียน
     ด้วยความที่เราโดดเด่นเรื่องอินโนเวทีฟ ธนาคารถึงไว้วางใจให้เรากู้เงิน และ บสย. ช่วยค้ำในโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs Transformation Loan และสินเชื่อ Start-up & Innovation ทำให้สตาร์ทอัพอย่างเรามีทุนหมุนเวียนใช้สต๊อกสินค้า เนื่องจากเราขายสินค้าให้กับโมเดิร์นเทรด ฉะนั้น เราจะเจอเครดิตเทอม ส่งของวันนี้ อีก 60 วันถึงจะได้เงิน เลยจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจ อย่างขายสินค้าตัวเดียว เราใช้เงินหมุนเวียนอยู่เดือนละประมาณ 3 ล้านบาท”
     สุภาษิตว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก ในปีนี้ณัฏฐ์เมธีก็เตรียมที่จะออกสินค้าใหม่ ภายใต้แบรนด์ใหม่อีก 3 ตัว เช่น สแน็คธัญพืช เครื่องดื่มที่ใช้แทนมื้ออาหาร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้านวัตกรรมทั้งสิ้น เพราะนวัตกรรมเท่านั้นที่จะสร้างความแตกต่างในตลาดได้ โดยมุ่งเจาะเข้าไปวางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อเป็นหลัก คาดว่าสิ้นปีนี้จะสามารถสร้างยอดขายได้ประมาณ 50 ล้านบาท

     อีกด้านหนึ่ง ด้วยความที่เป็น Business Developer เขายังให้บริการรับเป็นที่ปรึกษาในการทำธุรกิจอีกด้วย เพราะรู้ดีว่าขวบปีแรกเป็นช่วงสำคัญที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าเอสเอ็มอีจะหยุดหรือจะได้ไปต่อ และไวส์ ช้อยส์ ต้องการจะเป็น ‘ช้อยส์’ ที่ใช่ ที่เอสเอ็มอีจะสามารถพึ่งพาได้
     “ความจริงเราเป็นที่ปรึกษามา 10 ปีแล้ว รับทำ OEM อาหารและอาหารเสริมให้กับผู้ประกอบการอีก 17 ราย โดยเป็น One stop service ทางด้านธุรกิจอาหาร ตั้งแต่คิดค้นสินค้า หาโรงงานผลิตและช่องทางการจัดจำหน่าย ขอมาตรฐาน กระทั่งออกแบบโรงงาน เราเองเคยมีปัญหามาก่อน เคยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ด้วยข้อจำกัดที่มี ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถมาลงลึกในรายละเอียด หรือแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการได้ เอสเอ็มอีต้องลองผิดลองถูกเอง ซึ่งเรามองว่ามันยากและเสียเวลา ยิ่งไม่มีความรู้แล้วมาพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวกับอาหาร โอกาสรอดยากมาก แถมยังเป็นอันตรายกับผู้บริโภคอีกด้วย”

     ด้วยเหตุนี้ ณัฏฐ์เมธีและเพื่อนๆ จึงต้องการจะแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ ด้วยหวังว่าจะมีส่วนสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง อยากที่จะไปต่อ และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ให้สามารถแจ้งเกิดและเติบโตได้สำเร็จ ล่าสุดทางไวส์ ช้อยส์ ได้เซ็น MOU ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยถึง 3 แห่ง ซึ่งน่าจะทำให้ธุรกิจการให้คำปรึกษามีความเข้มข้น และทำประโยชน์ให้กับเอสเอ็มอีได้มากขึ้น ทั้งนี้ เขาฝากข้อคิดทิ้งท้ายถึงการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ไว้ว่า...

     “ข้อดีของการเป็นสตาร์ทอัพคือ เรารักสินค้าของเรา แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าสินค้าไม่ใช่ของเรา สินค้าคือของ ‘ผู้บริโภค’ ฉะนั้นสตาร์ทอัพที่พัฒนาสินค้าโดยยึดว่านี่คือสินค้าของเรา เราทำสินค้าตัวนี้ขึ้นมาเพราะอยากขาย โอกาสรอดจะยาก ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ และเข้าใจหัวใจสำคัญก่อนว่า เราต้องพัฒนาสินค้าเพื่อผู้บริโภค คือมองตลาดเป็นหลัก จะหาสินค้าอะไรมาขายให้ตลาดนี้ และถ้าตัดสินใจทำแล้ว ก็ต้องไปให้สุดด้วยครับ”

ติดต่อ บริษัท ไวส์ ช้อยส์ จำกัด โทร. 081-406-8165 เว็บไซต์ https://www.wisechoicethailand.com/ เฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/WiseChoiceThailand/

บทความโดย: บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) (Click Link : www.tcg.or.th)



* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

SMEs manager



กำลังโหลดความคิดเห็น