ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจเศรษฐกิจประชาชนฐานราก สำรวจค่าใช้จ่ายประชาชนฐานรากช่วงเปิดเทอม ประจำปี 2561 กลุ่มผู้มีรายได้ 15,000 บาท จำนวน 2,150 ตัวอย่าง มีการจับจ่ายใช้สอยกว่า 3 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยครอบครัวละ 8,640 บาท
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า “ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการสำรวจการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอมปี 2561 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาททั่วประเทศจำนวน 2,150 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ประชาชนฐานรากมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตร/หลาน ไม่เกิน 2 คน และอยู่ในระดับประถมศึกษามากที่สุด
ภาพรวมการใช้จ่ายของประชาชนฐานรากในช่วงเปิดเทอมคาดว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยประมาณ 39,700 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 8,640 บาท เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมกับปีก่อน พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 64.4 มีค่าใช้จ่ายเท่าเดิม ในขณะที่ร้อยละ 32.9 คาดว่ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าเทอมปรับสูงขึ้นตามระดับการศึกษาของบุตร/หลาน อีกทั้งค่าชุดนักเรียน และค่าอาหารมีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน
สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม ปี 2561 พบว่าส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากรายได้ (ร้อยละ 57.2) เงินจากคนในครอบครัว (ร้อยละ 27.5) เงินสวัสดิการจากภาครัฐ (ร้อยละ 6.6) เงินออม (ร้อยละ 5.6) และเงินกู้ยืม/จำนำ ซึ่งมีทั้งเงินกู้นอกระบบและในระบบ (ร้อยละ 3.1)
เมื่อสำรวจค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ ในช่วงเปิดเทอม พบว่า ค่าใช้จ่าย 3 อันดับแรกที่ประชาชนฐานรากมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ คือ (1) ค่าชุดนักเรียน เครื่องแต่งกาย ร้อยละ 84.1 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,670 บาท (2) ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ร้อยละ 63.9 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 6,540 บาท (3) ค่าอุปกรณ์การเรียน ร้อยละ 62.3 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 990 บาท ทั้งนี้ ในภาพรวมส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.7 ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมของบุตร/หลาน มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความกังวล โดยมีความกังวลในเรื่องการจ่ายค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ค่าชุดนักเรียน/เครื่องแต่งกาย ค่าตำราเรียน และอุปกรณ์การเรียน ตลอดจนการเรียนเสริมนอกเวลา ตามลำดับ
ลักษณะการจ่ายเงินให้บุตร/หลานไว้ใช้จ่ายช่วงเปิดเทอม พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 84.1 จ่ายเงินให้บุตรหลานเป็นลักษณะรายวัน (เฉลี่ย 75 บาทต่อวัน) รายเดือนร้อยละ 7.9 (เฉลี่ย 3,220 บาทต่อเดือน) รายสัปดาห์ร้อยละ 7.5 (เฉลี่ย 1,035 บาทต่อสัปดาห์) และรายเทอมร้อยละ 0.6 (เฉลี่ย 3,070 บาทต่อเทอม)
สำหรับสิ่งที่ประชาชนฐานรากต้องการความช่วยเหลือ/สนับสนุนในช่วงเปิดเทอม พบว่า 3 อันดับแรก คือ ค่าเทอม/ค่าบำรุงการศึกษา ร้อยละ 32.4 รองลงมาคือ ทุนการศึกษา ร้อยละ 26.3 และการได้รับโอกาสเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ร้อยละ 12.0
เมื่อสอบถามถึงความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอม พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 38.1 มีความต้องการสินเชื่อ โดยต้องการใช้สินเชื่อระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) มากที่สุด (ร้อยละ 55.0) และยังคงมีความต้องการใช้บริการผ่านช่องทางสาขามากที่สุด (ร้อยละ 81.3)” นายชาติชายกล่าว