xs
xsm
sm
md
lg

จาก “ผักกูด” ถึง “ตัวอ้น” เกษตรอินทรีย์สู่วิถีพอเพียง ชุมชนห้วยหนามตะเข้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 ผักกูด
ครอบครัวของ “นายณรงค์ จูมโสดา” ผู้ใหญ่บ้านห้วยหนามตะเข้ และผู้นำชุมชน นับเป็นตัวอย่างของครอบครัวเกษตรกรที่หันมาเน้นการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์บริสุทธิ์ มีการทำฟาร์มผักกูด การปลูกพืชผักสวนครัว อีกทั้งมีการเลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงตัวอ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ ที่ทำให้ครอบครัวของผู้ใหญ่ณรงค์และชาวบ้านในชุมชนเกิดความมั่นคงทางด้านรายได้
ตัวอ้น
นอกเหนือจากภารกิจในการเป็นผู้ใหญ่บ้านห้วยหนามตะเข้แล้ว ครอบครัวจูมโสดายังถือว่าเป็นนักคิด นักพัฒนาในการทีjจะทำสิ่งต่างๆ ให้ครอบครัวของตนเองและชาวชุมชนมีรายได้เสริมจากการทำการเกษตรประเภทอื่นๆ จนบ้านห้วยหนามตะเข้ถือเป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี

“น้องเหนือ” “ชัยวัฒน์ จูมโสดา” บุตรชายของผู้ใหญ่ณรงค์ อีกหนึ่งหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการปลูกผักกูดและเลี้ยงตัวอ้น เล่าให้ฟังว่า ที่มาที่ไปของการที่ครอบครัวผู้ใหญ่ณรงค์และชาวบ้านห้วยหนามตะเข้หันมาทำฟาร์มผักกูดนั้น เกิดจากความคิดที่ว่าผักกูดเป็นพืชพื้นถิ่นของอำเภอบ้านไร่ ซึ่งอยู่ติดกับพื้นที่ป่ามรดกโลกห้วยขาแข้ง มีสภาพอากาศเย็น ผักกูดนั้นมีธรรมชาติเหมือนต้นเฟิร์น คือมีความทนทาน ชอบอากาศเย็น ไม่ต้องดูแลมาก ปลูกได้ไม่ยาก ปลูกเพียงครั้งเดียวสามารถเก็บกิน เก็บขายได้ตลอดชีวิต ครอบครัวผู้ใหญ่ณรงค์จึงใช้พื้นที่ข้างบ้านขนาด 2 งานเป็นแปลงปลูกผักกูด
  “น้องเหนือ” “ชัยวัฒน์ จูมโสดา” บุตรชายของผู้ใหญ่ณรงค์
ประกอบกับผักกูดมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ ช่วยบำรุงร่างกาย รสชาติอร่อย จึงเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อำเภอบ้านไร่มีรีสอร์9จำนวนมาก เมนูผักกูดจึงเป็นที่ต้องการของลูกค้าอย่างมาก โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท

สำหรับเคล็ดลับการทำให้ผักกูดของบ้านห้วยหนามตะเข้มีคุณภาพดีนั้น เกิดจากวิธีดูแลคือการให้น้ำและการควบคุมแสงไม่ให้แรงเกินไป โดยในส่วนของการให้น้ำใช้ระบบการวางท่อเพื่อให้ผักกูดในแปลงได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของแสงจะใช้สแลนทำเป็นหลังคาช่วยในการพรางแสง ทำให้ยอดผักกูดแตกยอดอย่างสม่ำเสมอ มีความกรอบ อร่อย ผิดกับผักกูดที่ขึ้นตามธรรมชาติซึ่งไม่ได้ควบคุมเรื่องของน้ำและแสงแดด ขณะเดียวกันระยะห่างของแต่ละต้นควรอยู่ที่ประมาณ 30 เซนติเมตร

การปลูกผักกูดที่นี่ไม่มีปัญหาเรื่องการรบกวนของแมลงศัตรูพืช จึงไม่เน้นการใช้สารกำจัดแมลง ในส่วนของปุ๋ยบำรุงจะทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ทำให้ผักกูดของบ้านห้วยหนามตะเข้เป็นพืชปลอดสารเคมี ที่สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคและเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยผักกูดกลายเป็นเมนูยอดนิยมที่หลากหลาย เช่น ยำผักกูด ผักกูดต้มกะทิจิ้มน้ำพริก แกงส้ม หรือผัดผักกูด ฯลฯ

ปัจจุบันมีชาวชุมชนบ้านห้วยหนามตะเข้ประมาณ 150 ครัวเรือน ซึ่งเดิมมีอาชีพทำนา ทำไร่อ้อย ข้าวโพดเพียงอย่างเดียว ก็ได้หันมารวมกลุ่มกันปลูกผักกูด สร้างรายได้เสริมให้กลุ่มปีละเกือบแสนบาทต่อครัวเรือน

นอกเหนือจากเก็บยอดขายแล้ว ยังมีการชำหน่อใส่ถุงขาย ถุงละ 10 บาทสำหรับผู้ต้องการนำไปปลูกต่อ ซึ่งได้รับความนิยมไม่น้อยเช่นกัน เนื่องจากการปลูกผักกูดสามารถปลูกได้ในหลายพื้นที่ในประเทศไทย และรสชาติที่ดีทำให้ผักกูดได้รับความนิยม

ทั้งนี้ นอกเหนือจากผักกูดแล้ว ที่บ้านห้วยหนามตะเข้แห่งนี้ยังมีการริเริ่มเลี้ยง ตัวอ้น ที่สร้างรายได้ให้ชาวบ้านที่เลี้ยงอย่างงดงามเช่นกัน มาทำความรู้จักกับ ตัวอ้น

ตัว “อ้น” ถือเป็นสัตว์ท้องถิ่นที่เดิมมีจำนวนมากในพื้นที่ แต่ปัจจุบันค่อนข้างหายาก ครอบครัวผู้ใหญ่ณรงค์จึงคิดที่จะนำมาเลี้ยงแบบให้ตัวอ้นเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ เพราะอ้นเป็นสัตว์ที่มีนิสัยน่ารัก เลี้ยงง่าย หากเลี้ยงตั้งแต่เล็กๆ ก็มีลักษณะเดียวกับสัตว์เลี้ยงทั่วไป ประกอบกับอ้นเป็นสัตว์ที่ไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อของสัตว์ป่าคุ้มครอง จึงทำการเลี้ยงเป็นเชิงพาณิชย์ได้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ที่ผู้นิยมเลี้ยงสัตว์แปลก และเนื่องจากมีราคาสูง จึงทำให้อ้นไม่ถูกซื้อมากินในลักษณะอาหาร

ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงอ้นอยู่ประมาณ 13 ครัวเรือน มีตัวอ้นจำนวน 100 กว่าตัว แต่ละปี สามารถสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท โดยมีราคาค่อนข้างสูง ได้แก่ อ้นขนาดเล็กคู่ละ 3,000 บาท ขนาดคู่กลาง คู่ละ 5,000 บาท และขนาดใหญ่ 10,000 บาท
แปลงผักกูด จากการปลูกของชาวบ้าน
ทั้งการปลูกผักกูด และการเลี้ยงอ้น สัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์นี้ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ อย่างเช่น กรมการพัฒนาชุมชนที่สนับสนุนทั้งเรื่องของการให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี และการให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ โดยทำงานแบบบูรณการร่วมกันกับหน่วยงานอื่นๆ จนทำให้ชาวชุมชนมีรายได้ที่มั่นคง และเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่กรมการพัฒนาชุมชนนำเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนลงไปศึกษาเยี่ยมชมวิถีชีวิต วัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว และกิจกรรมเด่นของชุมชน ตามโครงการกิจกรรม พช.สัมพันธ์สัญจร ไปเมื่อเร็วๆ นี้
นางรักใจ  กาญจนะวีระ ผอ.กองประชาสัมพันธ์  กรมการพัฒนาชุมชน
นอกจากบ้านห้วยหนามตะเข้แล้ว พื้นที่สำหรับดูงานตามโครงการ พช.สัมพันธ์สัญจร ยังประกอบด้วยกิจกรรมของชุมชนที่พลิกชีวิตด้วยแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงอีกหลายแห่งจนมีรายได้ที่มั่นคง เช่น หมู่บ้านท่องเที่ยวบ้านท่าโพ ที่ใช้การอนุรักษ์วัฒนธรรมเป็นหลัก บ้านไร่อุ๊ยกื๋อ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ประสบปัญหาหนี้สินแล้วหันมาเดินตามรอยศาสตร์พระราชา เน้นการทำเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง มีการปลูกพืชผักเมืองหนาว และสตรอว์เบอร์รีแบบปลอดสารเคมี และตลาดนัดชุมชน “บ้านไฮ่ บ้านเฮา” ที่เกิดจากการรวมตัวของชุมชนนำผลผลิตและงานฝีมือมาจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวได้ชม ชิม ชอปกันแบบเต็มอิ่ม

โทร. 08-5604-0080


กำลังโหลดความคิดเห็น