xs
xsm
sm
md
lg

พช.จับมือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยเสริมช่องทางการตลาดสินค้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พช.จับมือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพิ่มช่องทางตลาดใหม่ในรูปแบบกระดานสินค้าให้ศูนย์สาธิตการตลาด นำสินค้าวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก-ค้าส่ง ของบริษัทและห้างร้านในเครือข่าย เตรียม นำร่อง 15 จังหวัดทั่วประเทศ

วันนี้ (15 มี.ค.) กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมช่องทางการตลาด กับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดยมีนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วย ดร.ณพพงศ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และ ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย รวมทั้ง ผู้แทนมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์

นายอภิชาติ เผยว่า กรมการพัฒนาชุมชน โดยสำนักพัฒนาทุนและองค์กรการเงินชุมชน ร่วมหารือสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับศูนย์สาธิตการตลาด ทั้งในรูปแบบการเปิดโอกาสให้ศูนย์สาธิตการตลาดนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก-ค้าส่ง ของบริษัท ห้างร้านในเครือข่ายของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และในรูปแบบกระดานสินค้า ซึ่งเป็นรายการข้อมูลที่รวบรวมสินค้า ผลิตภัณฑ์ ผลผลิตที่พร้อมขายของชาวบ้านในหมู่บ้านชุมชน ที่ผู้จัดการศูนย์สาธิตการตลาดสามารถเชื่อมโยงโดยใช้ระบบไลน์และเฟสบุ๊คไปยังบริษัท ห้างร้านในเครือข่ายของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ที่มีความต้องการสอดคล้องกับสินค้า ผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตที่มีอยู่ ก่อให้เกิดธุรกรรมการซื้อขายระหว่างหมู่บ้าน/ชุมชน กับบริษัท ห้างร้าน ซึ่งในระยะแรกกำหนดพื้นที่นำร่องใน 15 จังหวัด

การร่วมลงนาม MOU ศูนย์สาธิตการตลาด เป็นกิจกรรมเครือข่ายของกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2520 ในลักษณะ “รวมกันซื้อ-รวมกันขาย” ซึ่งที่ผ่านมาได้ให้บริการและช่วยลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคและปัจจัยการผลิตได้อย่างดี แต่เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้เปลี่ยนแปลง สภาพการแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ศูนย์สาธิตการตลาดมีช่องทางการซื้อขายสินค้าที่หลากหลาย กรมการพัฒนาชุมชนจึงได้ส่งเสริมช่องทางการตลาดในรูปแบบการนำสินค้าไปวางจำหน่ายในร้านค้าปลีก ค้าส่งของบริษัท ห้างร้านในเครือข่ายของสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย และในรูปแบบกระดานสินค้าขึ้น โดยการร่วมมือกันส่งเสริมช่องทางการตลาดในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับฐานราก และเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการชุมชนตามหลักการธุรกิจเพื่อสังคม ในการเพิ่มช่องทางการตลาด โดยการเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ขายและผู้ซื้อ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และการกระจายรายได้สู่ชุมชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีรายได้ เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น