เห็ดเป็นพืชที่มีหลากหลายสายพันธุ์มาก ในประเทศไทยเองเป็นประเทศร้อนชื้น การเพาะเห็ด จึงไม่ใช่เรื่องยาก ทำให้บ้านเรามีสายพันธุ์เห็ดมากมายทั้งที่มีแหล่งกำเนิดในบ้านเรา และสายพันธุ์ที่มาจากต่างประเทศ รวมถึง เห็ดมิลค์กี้ หรือ เห็ดหิมาลัยที่นำเสนอในครั้งนี้ ด้วย
เห็ดมิลค์กี้ เห็ดที่มีสายพันธุ์มาจากในแถบเทือกเขาหิมาลัย ประเทศอินเดีย จึงมีชื่อหนึ่งว่า เห็ดหิมาลัย และเนื่องจากภูมิอากาศที่ร้อนชื้น ของประเทศไทย เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเห็ดมิลค์กี้ ทำให้มีผู้นำเข้าเห็ดชนิดนี้เข้ามาเพาะขยายพันธุ์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย
“ปริยากร ชัยโชตถิ” เจ้าของฟาร์มกะต๊าก กะต๊าก หนึ่งในผู้เพาะเห็ดมิลค์กี้ในประเทศไทย เล่าถึงที่มาของเห็ดมิลค์กี้ ว่า เห็ดมิลค์กี้ เป็นเห็ดที่มีสายพันธุ์มาจากประเทศอินเดีย นำเข้ามาในประเทศไทย ไม่ปรากฏแน่ชัด ว่า เข้ามาเมื่อไหร่ ทราบแต่ว่า มี ด็อกเตอร์ท่านหนึ่ง นำเข้ามา และเริ่มเป็นที่รู้จักในกลุ่มของเกษตรกรที่เพาะเห็ดได้ประมาณสัก 5 ปี แต่ที่เริ่มนิยมเพาะกันอย่างแพร่หลายได้ประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ลักษณะของเห็ดมิลค์กี้ คือ ดอกจะเป็นสีขาวนวล เหมือนน้ำนม ดอกมีขนาดใหญ่สุดมากถึง 7 ขีด เป็นเห็ดที่ชอบอากาศร้อนชื้น ที่อุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียล ไม่ชอบร้อนมาก ไม่ชอบลม และไม่ชอบหนาว ถ้าอากาศหนาวมาก เชื้อจะไม่แทงดอก หรือดอกไม่โต เป็นเห็ดที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค เนื่องจาก รสชาติของดอกเหมือนเนื้อไก่ ส่วนก้านดอกเหมือนปลาหมึก และเมื่อนำมาทำอาหาร รสชาติของเห็ดจะคงสภาพเดิม แม้ทำทิ้งไว้นานถึง 3 วัน หรืออุ่นหลายรอบ เห็ดยังคงสภาพเหมือนตอนปรุงเสร็จใหม่ๆ และข้อดีดังกล่าว ทำให้เห็ดมิลค์ได้รับความนิยมในกลุ่มของร้านอาหาร และผู้บริโภคทั่วไป ส่งผลให้เห็ดเป็นที่ต้องการและมีราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 500 บาท ถึง 700 บาท
“ส่วนที่ฟาร์มกะต๊าก กะต๊าก ของเรา เริ่มเพาะเห็ด ได้ประมาณ 2 ปี โดยได้ความรู้เรื่องการเพาะเห็ดมาจากการที่เราเป็นเครือข่าย เพาะไส้เดือนที่ฟาร์มลุงรี โดยเครือข่ายของลุงรี มีสอนทำการเกษตรหลายอย่าง และหนึ่งในนั้น คือ สอนเพาะเห็ดมิลค์กี้ สอนโดย “คุณนัท” หรือ รู้จักในชื่อของลุงนัท ฟาร์มเห็ด ( มัสรูมแมน) จุดเด่นของเครือข่ายลุงรี คือ เป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ หรือ ออแกนิค ดังนั้น การเพาะเห็ดมิลค์กี้ ครั้งนี้ ของเราก็เน้นการเพาะเห็ดแบบออแกนิค เช่นกัน “
“ปริยากร” บอกว่า การเพาะเห็ดในแบบของลุงนัท ต่างจากการเพาะเห็ดของฟาร์มอื่นๆ เพราะจะใช้การเพาะเชื้อเห็ด บนวัสดุฟางข้าว และฆ่าเชื้อวิธีการอบด้วยความร้อน ส่วนอาหาร คือ ปุ๋ยมูลไส้เดือน
วิธีการเพาะเห็ด ของ (มัสรูมแมน) นำเชื้อเห็ดที่ซื้อมาจากฟาร์มที่มีห้องแล็ป หลังจากได้เชื้อเห็ดมา ก็มาทำการขยายพันธุ์ต่อ โดยเริ่มจากทำก้อนเชื้อเห็ดซึ่งทำมาจากฟางข้าว ฆ่าเชื้อโดยอบความร้อน หรือ ถ้าฟาร์ม ของคุณปริยากร ใช้การฆ่าเชื้อด้วยจุลินทรีย์ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะฆ่าเชื้อได้ดีกว่า แต่ความร้อน ฆ่าเชื้อแบบไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เชื้อบางตัวอาจจะไม่ตาย หลังจากนั้น ทิ้งไว้ในห้องที่ไม่ให้โดนแดด โดนลม และควบคุมอุณหภูมิที่พอเหมาะ ผ่านไป 15 วัน พอเชื้อเดินเต็ม ก็พร้อมเปิดหน้า เติมดินมูลไส้เดือนที่แช่น้ำเอาไว้ หลังจากนั้น ก็ตั้งทิ้งไว้ ในที่ไม่โดนแดด หรือ โดนลม ผ่านไปประมาณ 10-15 วัน เห็ดเริ่มเห็นดอกตูม แต่ จะสามารถเก็บได้ประมาณ 30 วัน หลังจากเปิดหน้าก้อน
ส่วนขนาดของเห็ด ที่นิยมไม่เกินดอกละ 2-3 ขีด แต่ถ้าดอกเห็ดที่ใหญ่มาก ร้านอาหารไม่ค่อยนิยม เพราะนำไปทำอาหารได้ยาก ส่วนรสชาติ ไม่ได้เปลี่ยนแปลง ไม่ว่า เล็ก หรือ ใหญ่ รสชาติจะเหมือนกัน ซึ่งผู้เลี้ยง สามารถกำหนดขนาดของเห็ดได้ ตามเทคนิคการเลี้ยงและให้อาหาร แต่ ที่ฟาร์มของ คุณปริยากร ไม่ได้เลี้ยงเห็ดขนาดใหญ่ เพราะมีลูกค้าร้านอาหาร ต้องการเห็ดขนาดดอกไม่เกิน 2 ขีด เอาไปแต่งจานอาหาร
ในส่วนของตลาด หลายคนคงอยากรู้ว่า เห็ดชนิดนี้ ตลาดมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน คุณปริยากร บอกว่า ตลาดมีความต้องการ อยู่มากในช่วง 1-2 ปีนี้ เพราะคนเริ่มรู้จัก กันมากขึ้น และติดใจในรสชาติ แต่ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ส่วนใหญ่ผู้บริโภค ก็จะเพาะกินเอง เนื่องจากเพาะไม่ยาก ไม่ต้องสร้างโรงเรือนเหมือนกับเห็ดอื่นๆ และอากาศบ้านเราเหมาะกับการเจริญเติบโตของเห็ด ซึ่งผู้ที่มาเรียนที่ฟาร์มลุงรี ที่เปิดสอนมีผู้สนใจมาเรียนค่อนข้างมาก เรียนไปเพาะกินเองก่อน พอเริ่มชำนาญ เริ่มเพาะขายในกลุ่มของคนที่รู้จัก หรือไม่ ก็ทำก้อนเพาะเชื้อ ขาย ซึ่งที่ผ่านมา ในส่วนของเห็ดที่เพาะได้ นำมาขายที่ฟาร์มลุงรี ในวันเสาร์ อาทิตย์ พร้อมกับบางส่วนส่งร้านอาหารที่สั่งเราประจำ โดยมีรายได้จากการจำหน่ายเห็ดสด ประมาณเดือนละ 12,000-15,000 บาท ใช้พื้นที่การเพาะในตึกแถว ทำห้องสำหรับเพาะเห็ดโดยเฉพาะ เดือนหนึ่ง มีเห็ดพร้อมตัดขายหมุนเวียนไปประมาณ 250-300 ก้อน ซึ่งมีเห็ดพร้อมตัดดอกขายสัปดาห์ละ 80 ก้อน ตัดเห็ดได้ประมาณ 10 กิโลกรัม
นอกจากนี้ มีรายได้จากการจำหน่ายก้อนเชื้อเห็ดด้วย ซึ่งราคาก้อนเชื้อเห็ดที่ขายในท้องตลาด มีราคาเริ่มต้นที่ 300 บาท ราคาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนเชื้อ เห็ด 1 ก้อน ขนาด 300 บาท สามารถเก็บผลผลิตได้ 3 ครั้ง 1 ครั้ง เก็บได้ประมาณ 4-6 ขีด เดือนหนึ่งสามารถจำหน่าย ก้อนเพาะเชื้อเห็ด ได้ หลักหลายร้อยก้อน
ทิศทาง หรือ อนาคตของเห็ดมิลค์กี้
1.ในตอนนี้ ยังถือว่า สดใส เพราะด้วยเห็ดที่สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย และมีรสชาติอร่อย เนื้อเห็ดที่ไม่คืนตัวเวลานำมาทำอาหาร
2.ราคาที่ยังสูงอยู่ กิโลกรัม 700 บาท แต่ราคาก้อนเชื้อเห็ดที่มีราคาสูง ทำให้ผลตอบแทนก็จะไม่ได้มากนัก แต่สำหรับผู้ที่สามารถขยาย หรือ ทำก้อนเชื้อเองได้เองต้นทุนก็จะถูกมาก
3.ตลาดผู้บริโภค คนไทย ถือว่า น้อยมาก ถ้าคิดจะเพาะตอนนี้ คงต้องหาตลาดที่เป็นร้านอาหาร
4.เพาะได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องสร้างโรงเรือน ใช้พื้นที่น้อย สามารถเพาะในคอนโด ตึกแถว หรือ บ้านจัดสรร ได้เช่นกัน เหมาะกับคนเมืองที่ต้องการเพาะเห็ดไว้รับประทานเอง หรือทำเป็นอาชีพเสริม
สนใจ โทร,09-8251-3925
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *
SMEs manager